2 มิ.ย. 2020 เวลา 22:30 • ท่องเที่ยว
เลียบชุมชนเก่า เล่าเรื่องกรุงเทพ … พิพิธภัณฑ์บ้านนายเลิศ
เรือนไม้สักหลังใหญ่อายุกว่าร้อยปีที่ล้อมรอบด้วยสวนสวย บนถนนวิทยุ อาจจะไม่คุ้นตาของผู้คนส่วนใหญ่มากนัก ด้วยอยู่ในพื้นที่ที่มีรั้วรอบขอบชิด … ยิ่งเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ของบ้าน ก็ยิ่งหาคนที่รู้เรื่องได้ยาก
เมื่อไม่นานมานี้ ที่บ้านนี้นี้มีงานดอกไม้สุดอลังการในใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานที่คนที่รักดอกไม้ ชอบงานศิลปะแบบอาร์ตๆ สวยงามของการจัดดอกไม้ ตั้งตาคอยอยู่ทุกปี นั่นคืองาน แสดงดอกไม้ในงานดอกไม้ปาร์คนายเลิศ ประจำปี 2020 (Nai Lert Flower and Garden Art Fair 2020) …
เราเลยถือโอกาสไปเยือนงานแสดง และเข้าไปเยี่ยมชมส่วนหนึ่งของการจัดแสดงดอกไม้ งานประณีตศิลป์ที่สร้างสรรค์จากใบตองบนเรือนไม้สักเก่าแก่ที่เปี่ยมไปด้วยตำนาน และเรื่องเล่าที่เป็นประวัติศาสตร์ของบุคคลที่สำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย
บ้านปาร์คนายเลิศเป็นบ้านของพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ เลิศ เศรษฐบุตร พ่อค้าสยามและมหาเศรษฐี ผู้มีชื่อเสียงในช่วงเวลาเมื่อกว่าร้อยปีก่อน
คนทั่วไปอาจจะไม่รู้จักมหาเศรษฐีคนนี้ดีนัก ... แต่ถ้าบอกว่าเขาคือผู้เริ่มเปิดกิจการรถเมล์ขาว รถเมล์ม้าลาก ธุรกิจเรือเมล์ขาวที่ให้บริการในคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นกิจการของนายเลิศทั้งสิ้น .. หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของท่านจากการบอกเล่าของปู่ย่า ตายายมาบ้าง
ตำนานของบ้าน และชีวิตของเจ้าของบ้านปาร์คนายเลิศ
จากเสมียนหนุ่มผู้ช่วยแหม่มแม็คฟาร์แลนด์ ดูแลธุรกิจขายน้ำหวานโซดา หรือน้ำมะเน็ดนำเข้าจากสิงคโปร์ .. นายเลิศเปิดโรงงานน้ำแข็ง จนได้รับฉายาว่า ‘ผู้ปั้นน้ำเป็นตัว’ และรับช่วงต่อกิจการน้ำมะเน็ดจากแหม่มชาวอเมริกัน
ตามมาด้วยกิจการอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าห้างแรกที่มีเจ้าของกิจการเป็นคนไทย เป็นตึกสูง 7 ชั้นแถวเจริญกรุง ชื่อห้างนายเลิศ นำเข้าสินค้าจากเมืองนอก เช่น จักรซิงเกอร์ ผลไม้กระป๋องยุโรป จักรยาน สังกะสี
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโรงแรม Hotel de la Paix ที่มีบาร์นายเลิศ โด่งดังเรื่องการเสิร์ฟวิสกี้ ออน เดอะ ร็อก เนื่องจากนายเลิศเป็นทั้งผู้นำเข้าแอลกอฮอลล์ และเจ้าของโรงงานน้ำแข็ง
แต่กิจการที่ทำให้นายเลิศเป็นที่รู้จักไปทั้งพระนครจริงๆ คือ ธุรกิจรถเมล์ขาว
นายเลิศเริ่มจากเปิดกิจการรถม้าให้เช่าพร้อมสารถีเสร็จสรรพ และรถเมล์ม้าลาก ก่อนจะใช้ความรู้จากธุรกิจคมนาคมมาสร้างรถเมล์ขาว คนขับสวมเครื่องแบบสีขาวคล้ายกะลาสีกับหมวกทรงหม้อตาลดูสะอาดสะอ้าน เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านมาก เพราะมีสโลแกนว่า สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย
อีกเหตุผลที่รถเมล์นี้เป็นที่จดจำ เพราะเมื่อรถแล่นจะส่งเสียงกึงกังโครมครามล่วงหน้า ... ชาวบ้านจึงขนานนามรถเมล์นี้ว่า อ้ายโกร่ง
ยังไม่หมดเท่านี้ นายเลิศยังมีธุรกิจเรือเมล์ขาวให้บริการในคลองแสนแสบ พร้อมเปิดตลาดเฉลิมโลก หรือตลาดนายเลิศใกล้ๆ กัน ใครมาซื้อมาขายของที่ตลาดนี้ จะมีโปรโมชั่นขึ้นเรือเมล์ขาวและรถเมล์ขาวได้ฟรี แถมยังเป็นคนใจบุญสุนทาน นำเรือออกไปบริการช่วยเหลือคนฟรีๆ เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ ... จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ แม้ไม่ได้รับราชการ
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บริจาคเงินให้โรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ทั้งยังบริจาคที่สร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ และโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ อีกด้วย
นายเลิศเป็นเจ้าของที่ดินมากมายในพระนคร เขาตัดสินใจขยายพื้นที่ออกไป ด้วยการซื้อที่ดินแถวสุขุมวิทในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งสมัยนั้นเป็นทุ่งนาที่เรียกว่าทุ่งบางกะปิ มีราคาเพียงตารางวาละ 8 สตางค์เท่านั้น … เรื่องราวของบ้านปาร์คนายเลิศ เรือนไม้เก่าแก่ และสวนต้นไม้ยักษ์ จึงเริ่มขึ้น
การพัฒนาบ้านและสวน
นายเลิศตั้งใจพัฒนาพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ แถวเพลินจิตเป็นบ้านพักตากอากาศ นอกจากบ้านหลักที่สี่พระยา โดยออกแบบเรือนไม้สักหลังใหญ่ไว้อยู่อาศัยใน พ.ศ. 2458 เขาสั่งให้คนขุดคลองสมคิดหน้าบ้านเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ พร้อมจ้างสถาปนิกอิตาเลียนมาออกแบบสวนหย่อนใจอย่างปาร์คฝรั่ง
โดยนอกจากใช้พักผ่อนกับครอบครัวแล้ว นายเลิศยังเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในวันอาทิตย์ และให้ลูกเสือเข้ามาพักแรม
ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ บุตรสาวคนเดียวของนายเลิศเล่าว่า ...
การนั่งรถจากบ้านมาตากอากาศที่นี่ใช้เวลาถึงครึ่งวัน และสมัยที่ยังไม่แบ่งขายที่ดินครึ่งหนึ่งให้สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรที่ย้ายออกจากบางรัก คุณพ่อสั่งให้ขุดสระน้ำใหญ่และชิงช้าให้คนกระโดดน้ำเล่น ตัวท่านผู้หญิงเองก็เล่นโครเกต์ แบดมินตัน และบางครั้งก็ลงไปพายเรือในสระ
ระยะแรกเรือนรับรองที่นี่มีเพียงบ้าน ใน เรือนไม้สักชั้นเดียวแบบจัตุรมุข ยกพื้นใต้ถุนโล่ง หลังคาปั้นหยายกจั่วซ้อน 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ พื้นบ้านเป็นชิ้นไม้สักที่เรียงแนบกัน เป็นไม้ที่เหลือจากการสร้างสะพานพระราม 6 … แต่ไม้ส่วนใหญ่ในบ้านมาจากโรงเลื่อยของนายเลิศเอง เนื่องจากนายเลิศเคยเปิดธุรกิจอู่ต่อเรือเดินสมุทรอยู่ระยะหนึ่งที่นี่ ทำให้มีไม้สักขนาดใหญ่มากมาย
ต่อมาครอบครัวของนายเลิศย้ายมาอาศัยที่บ้านปาร์คเป็นการถาวร จึงต่อเติมเรือนไม้เข้าไปอีกหนึ่งหลังให้เชื่อมต่อกัน นายเลิศเป็นผู้ออกแบบเอง โดยเอาถ่านมาเขียนแบบแปลนบนพื้นให้ช่างดู … หลังจากนั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งของปาร์คก็กลายเป็นอู่รถเมล์ขาว ทั้งใช้จอดและซ่อมบำรุงรถเมล์ เรือเมล์ ทั้งยังมีบ้านพักพนักงานเรียงราย และปั๊มน้ำมันสำหรับเติมรถเมล์อีกด้วย และเมื่อนายเลิศและครอบครัวย้ายมาพักอาศัย ได้มีการต่อเติมเรือนไม้อีกหลังเชื่อมต่อเข้าไป
เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านหลังนี้ซึ่งอยู่ติดกับสถานเอกอัคราชทูตสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นคู่สงครามของญี่ปุ่นจึงได้รับผลกระทบโดนระเบิดลง ทหารอาทิตย์อุทัยจึงบุกเข้ามาในบริเวณบ้าน และอยู่เฝ้าในบริเวณปาร์คถึง 4 ปี
ระหว่างนั้นมีระเบิดโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรที่พลาดเป้าตกลงมาในปาร์คหลายครั้ง รวมทั้งหมด 22 ลูก … ครั้งหนึ่งตกลงมาหน้าบ้านเป็นหลุมลึก ทางบ้านปาร์คนายเลิศจึงปรับปรุงหลุมนั้นเป็นสระบัว
ก่อนสงครามสิ้นสุดราว 1 ปี .. ระเบิดตกลงมาที่เรือนฝั่งตะวันตก บ้านเสียหายทั้งหลังจนพลิกตะแคงขึ้นมา นายเลิศรอจนสงครามจบลง แล้วสร้างเรือนไม้ขึ้นใหม่แทนของเดิม สังเกตได้ว่าเรือนที่บูรณะจะสีอ่อนกว่า เพราะใช้ไม้แดงและไม้เต็งแทนไม้สัก และใช้เงิน 1 แสนบาทในการซ่อมแซม
หลังจากนายเลิศ และ คุณหญิง สิน ภักดีนรเศรษฐ ผู้เป็นภรรยาเสียชีวิตลง ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ก็อาศัยอยู่ที่บ้านปาร์คนายเลิศจวบจนสิ้นอายุขัย
คุณเล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ทายาทรุ่น 4 ของนายเลิศ ตัดสินใจเปลี่ยนเรือนไม้สักหลังงามเป็นพิพิธภัณฑ์ของครอบครัว โดยใช้เวลาปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 2015 และเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมทุกวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ทั้งยังรับจัดเลี้ยงงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานหมั้น
เราจะพาทัวร์ บ้านปาร์คนายเลิศในช่วงที่มีการจัดนิทรรศการดอกไม้ Nai Lert Flower and Garden Art Fair 2020 พร้อมๆไปกับการเล่าเรื่องราวของบุคคลที่เคยอยู่ในบ้านหลังนี้ และห้อง ตลอดจนการประดับตกแต่ง … ตามมาชมด้วยกันนะคะ
ในวันที่เราไปเยือน … หลังจากถอดรองเท้าใส่ถุงถือขึ้นเรือนไปด้วย สิ่งแรกที่โดดเด่นสะดุดตา สวยงามจนต้องร้อง ว๊าววววว หลายครั้ง ก็คือ ภาพของ พญานาคหลายตัวที่เกาะเกี่ยวร้อยรัด เป็นภาพอยู่ในกรอบไม้บนผนังด้านที่อยู่ตรงข้ามกับบันไดทางขึ้นเรือน
พญานาค .. คนไทยมักจะมีความคุ้นเคย ด้วยเป็นสัตว์ที่เห็นอยู่แทบทุกครั้งที่เราไปเยือนวัดวาอารามทางเหนือ และโดยเฉพาะในถิ่นอีสานจะมีตำนานมากมายที่กล่าวถึงพญานาค อันเป็นสัญลักษณ์ของคติความเชื่อของคนไทยอีสานและลาวว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของน้ำและความอุดมสมบูรณ์รวมถึงเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์
แม้พญานาคจะเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป แต่พญานาค ณ บ้านนายเลิศในวันนี้ มีความพิเศษอย่างยิ่ง การสร้าสรรค์ศิลปะที่งดงามอลังการที่เราเห็นนั้น ส่วนใหญ่ทำด้วยการนำใบตองมาประดิดประดอย พับจีบ ก่อนจะนำมาเรียวร้อยต่อกันจนเกิดเป็นงานประณีตศิลป์ของภาพที่สวยงามตระการตา
งานประณีตศิลป์ที่ทำจากใบตอง คนอีสานมีการสืบสานกันมาอย่างยาวนาน ต้องใช้ความมานะพยายาม และความมุ่งมั่นอย่างสูง จึงจะสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างที่เราเห็นนี้
งานศิลปะที่สร้างสรรค์จากใบตองอีกหนึ่งชิ้นงานหนึ่ง ด้านข้างของเรือน … ไม่รู้ว่าคนสร้างสรรค์ให้ชื่อเรียกว่าอะไร แต่สวยมากๆ จนนึกไม่ถึงว่าคนทำจะทำออกมาได้ดี และงดงามขนาดนี้
ดิสเพล์ของงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากการนำใบตองมาพับจีบ ก่อนจะนำไปติดกับโครงให้เป็น (เข้าใจเองว่า) รูปสัตว์หิมพานต์ อันเป็นสัตว์ที่กวี หรือจิตรกรพรรณนาถึงในวรรณคดีหลายเรื่อง โดยโดยมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดมาประกอบกันในตัวเดียว
สัตว์ที่นำมาแสดงส่วนใหญ่ เป็นประเภทสัตว์ทวิบาท (มีสองขา) สัตว์จตุบาท (มีสี่ขา) เช่นสิงห์ประเภทต่างๆ และหงส์
คนอีสาน .. เรียนรู้ที่จะดารงชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยเน้นความกลมกลืนในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รู้จักการหาวัสดุธรรมชาติมาปรุงแต่งชีวิต ความเป็นอยู่ภายใต้กรอบของการรับและ การให้อย่างเหมาะสม
ใบตอง .. นอกจากจะถูฏใช้ห่ออาหารแล้ว ปริมาณที่มีอยู่อย่างเพียงพอยังถูกนำมาแปรเปลี่ยนเป็นงานประณีตศิลป์ อันสุนทรีย์ จนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณี งานฝีมือต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ไทย
เราจะพาเข้าไปชมในห้องแรกของเรือนหลังนี้กันนะคะ
บ้านปาร์คนายเลิศในปัจจุบันนั้นตัวเรือนด้านหน้าจะเป็นห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ที่ภายในออกแบบตกแต่งแบบคงลักษณะเดิมไว้ …
ด้านในสุดเหนือโซฟาและโต๊ะรับแขก มีแผ่นไม้เพ้นต์ลายวิถีชีวิตคนไทย ผลงานสุวรรณี สุคนธา นักเขียนนวนิยายเรื่อง น้ำพุ
รอบๆ ห้องตกแต่งด้วยภาพถ่ายเก่าแก่ของครอบครัวนายเลิศ เช่นภาพถ่ายนายเลิศบนรถม้ากับสัตว์เลี้ยงคือลูกเสือดาวชื่อเจ้าแต้ม ภาพท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ และสามี คุณพินิจ สมบัติศิริ อดีตอธิบดีกรมศาสนา รองอธิปดีกรมศิลป์ และสถาปนิกในกรมศิลปากร
ของสะสมต่างๆแสดงไว้ในตู้ ภายในห้องรับแขก มีทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญตรา เครื่องประดับที่มีค่ารูปแบบต่างๆ .. ตลอดจนถึงเครื่องกระเบื้องเคลืบที่เก่าแก่ สวยงาม ทั้งไทยและจีน และเครื่องเงินต่างๆ
พื้นที่ด้านนอกรอบๆห้องรับแขก .. ยังมีตู้กระจกจำนวนหลายตู้ ที่จัดแสดงของสะสมเก่าแก่ของตระกูล ทั้งของนายเลิศ และพระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) บิดาของคุณพินิจ สมบัติศิริ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ
เอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำประเทศญี่ปุ่น และองคมนตรีไทย
มีของสะสมที่เป็นของขวัญจากราชวงศ์ทั่วโลกที่เคยแวะมาพำนัก เช่น ราชวงศ์ญี่ปุ่น สวีเดน และธงผ้าจากภูฏาน เป็นของขวัญจากสมเด็จย่าของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของของสะสมจำนวนมากที่ถูกจัดวางแสดงไว้รอบๆชานเรือน ล้วนเคยเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ และสิ่งของที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานต่างๆ ที่เคยผ่านการใช้งานจากเจ้าของบ้านมาแล้ว
พระสมเด็จ .. เจ้าหน้าที่อธิบายว่า ได้มาจากใต้เสาเรือนในคราวที่มีการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ในปี 2556 .. จึงเข้าใจว่าเสาต้นนั้นจะเป็นเสาเอกของบ้าน และหนึ่งในพระที่พบคือ พระสมเด็จ พิมพ์วัดเกศไชโย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยชามสมัยบ้านเชียง ลูกปืนวินเชสเตอร์ครบชุด รวมถึงอาวุธจำพวกมีด กริช และอาวุธอื่นๆที่จัดแสดงเป็นหมวดหมู่ สวยงาม .. ไม้เท้าสะสมของพระยาศรีเสนา และของเก่าแก่อื่นๆ อีกมาก
ด้านหนึ่ง เป็นห้องแสดงเครื่องแต่งกาย โต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะทำงาน ข้าวของเครื่องใช้ รวมไปถึงถ้วยและเหรียญรางวัลต่างๆ ของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ
ท่านเป็นผู้หญิงไทยคนแรกๆ ที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย
สะพานเชื่อมเรือน 2 หลังเป็นไม้ที่เรียงล็อกกันพอดีแบบปาร์เกต์สวยงาม ทำให้พื้นแน่นไม่เอี๊ยดอ๊าด เกิดจากช่างฝีมือเยี่ยมตั้งแต่ก่อนยุคมีเครื่องไสไม้ รอยถากไม้ด้วยมือยังเห็นได้ทั่วโครงไม้ของตัวบ้าน
ในช่วงของการจัดงาน Nai Lert Flower and Garden Art Fair 2020 ใช้จัดแสดงการจัดดอกไม้บนโครงลวดที่มีรูปลักษณ์ของการรำไทยของหลายภาคในท่วงท่าต่างๆ
นิทรรศการศิลาภรณ์ดอกไม้ของนางในวรรณคดี “บุปผาภูษิตราภรณ์”
เรือนไม้ด้านหลัง ซึ่งเดิมภายในเรือนหลังนี้เคยเป็นห้องนอนส่วนตัวของท่านเจ้าของบ้าน ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว แต่ปัจจุบันส่วนห้องนอนนั้นถูกปรับเป็นโถงแสดงนิทรรศการ
นิทรรศการในวันนี้ เป็นการจัดแสดงศิลาภรณ์ หรือเครื่องประดับที่ทำจากดอกไม้สด … ดอกไม้สดหลายชนิดถูกนำมาประดิษฐ์เป็น ปันจุเหร็จ กรองคอ สร้อยคอ รัดเกล้า รัดแขน ฯลฯ ตามจินตนาการ ซึ่งนำเสนอผ่านนางในวรรณคดีไทย
ผู้ประดิษฐ์ผลงานคือ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตโชติเวช จัดแสดงรอบพิเศษ ณ บ้านปาร์คนายเลิศ เท่านั้น
ความงดงามอลังการของผลงาน อาจจะไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรได้ครบถ้วน .. แต่ภาพที่ผ่านสายตาบอกได้เป็นอย่างดีในตัวเอง
ห้องรับประทานอาหารนั้นยังคงรูปแบบการจัดโต๊ะแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นสไตล์การจัดโต๊ะแบบผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกไว้ด้วยกัน
ด้านหน้าเก็บเครื่องถ้วยลายคราม มีดาบลายครามและแจกันลาย จปร. สวยงาม นอกจากนี้ยังมีห้องพระเก่า ตู้พระธรรมอายุ 200 กว่าปี
เดินออกไปอีกนิดจะเจอครัวของคุณหญิงสิน .. ที่นี่เป็นที่บัญชาการงานครัวของคุณหญิง ร่ำลือกันว่า สูตรการปรุงอาหารของท่านนั้น รสชาติยอดเยี่ยม อร่อยมาก
มีตั่งไม้ที่ท่านใช้นั่งกำกับแม่ครัวให้ทำกับข้าว เพื่อเลี้ยงสมาชิกครอบครัว แขกเหรื่อ และบริวารหลักร้อยพื้นเรือนด้านใต้ของตั้ง จะเจาะเป็นช่อง ให้คนครัวส่งอาหารขึ้นมาให้ท่านชิม
ตรงข้ามห้องครัวคือเรือนแพที่ใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ สมัยก่อนคลองเป็นหน้าบ้าน ห้องครัวจึงเป็นจุดแรกที่จะได้เห็น
บริเวณที่นั่งพักผ่อนด้านนอก ข้างห้องครัว … การนำเอากระเบื้องเคลือบสีขาวน้ำเงิน ที่มีรูปลักษณ์เหมือนลูกกรงของระเบียงบ้านมาประกอบตู้ ดูสวยมาก ชอบค่ะ
ห้องน้ำแบบโบราณ สร้างขึ้นเมื่อสมัยนายเลิศชราแล้ว นับเป็นบ้านแรกๆ ที่มีชักโครกแบบโบราณเจ้าหน้าที่เล่าว่า ... มีการสั่งชักโครกมาขายในเมืองไทยเป็นเจ้าแรกๆด้วย
เรือเมล์ขาว 2 ลำ ชื่อสะมันเตา กับ ฆง ซึ่งนายเลิศต่อร่วมกับคนงาน และเคยล่องไปถึงเชียงใหม่อีกด้วย
รถเฟี๊ยตคลาสสิก .. เป็นรถที่ท่านเจ้าของบ้านรักมาก และมักจะใช้เป็นพาหนะนำสัตว์เลี้ยงตัวโปรด คือ เจ้าแต้ม ออกไปนั่งรถกินลมเล่นเป็นประจำในช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่
หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ข้าวของเครื่องใช้ รถ หรือเรือ คือตราวงกลมมีกากบาทด้านในเหมือนขนมกงสีแดง ดูคล้ายตรากาชาด นายเลิศตั้งใจสื่อถึงพรหมวิหาร 4 หลักที่ใช้ในการดำรงชีวิตตลอดมา
ปาร์คนายเลิศ คือครอบครัวไทยแท้ .. หากอยากจะเข้าไปชมว่า วิถีชีวิตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในส่วนว่า คนไทยเกิดมายังไง กินอยู่มายังไง ในแบบฉบับของปาร์คนายเลิศ ก็มาชมพิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศนะคะ
บ้านปาร์คนายเลิศ
ที่อยู่: 2/2 ถนน วิทยุ แขวง ลุมพินี เขต ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก : https://readthecloud.co/location-park-nai-lert/
โฆษณา