3 มิ.ย. 2020 เวลา 06:15 • ธุรกิจ
สรุปรายการลดหย่อนภาษี ปี2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 63)
หลายคนน่าจะพอทราบกันบ้างแล้วว่ารายการลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง เราได้ทำสรุปมาให้ทวนอีกที เผื่อบางคนอาจจะลืมไปบ้างแล้ว
#แชร์เก็บไว้ได้เลยจ้า ถ้ามีอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมเดี๋ยวเราจะมาเพิ่มข้อมูลไว้ในโพสนี้ให้
รายละเอียดและเงื่อนไขของแต่ละรายการ สามารถอ่านเพิ่มเติมที่ใต้รูปภาพแต่ละภาพเลย บทความนี้อาจจะยาวหน่อย แต่ได้ข้อมูลครบถ้วนแน่นอนค่ะ
ถ้าเพื่อนๆ สงสัยอันไหน สามารถคอนเม้นไว้ในโพสนี้ได้เลยค่ะ เดี๋ยวเราจะเข้ามาตอบให้ ^^
และเราก็ได้มีทำคลิปสอนคำนวณภาษีแบบง่ายๆ แต่ละเอียดครบทุกขั้นตอน ใครที่สนใจสามารถกดเข้าดูได้ที่ลิ้งด้านล่างค่ะ
รายการลดหย่อนภาษี แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. กลุ่มลดหย่อนทั่วไป
🔸ค่าลดหย่อนส่วนตัว
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
1
🔸ค่าลดหย่อนคู่สมรส
ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส
2.คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน ไม่ได้แยกยื่นแบบฯ
3.กฎหมายอนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน
🔸ค่าลดหย่อนบุตร
ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร
ถ้าเป็นบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป และเกิดในปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ถ้าเป็นบุตรตามกฎหมายสามารถลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
2.ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
3.ถ้ามีบุตรตามกฎหมายที่มีชีวิตอยู่เกิน 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้
4.บุตรต้องมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปี ในปีภาษีนั้น
ถ้าบุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปีต้องกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญาขึ้นไป
ถ้าบุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไปต้องเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
5.บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้นเกิน30,000 บาท
🔸ค่าลดหย่อนบิดามารดา
ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท จากบิดามารดาของตัวเอง และบิดามารดาของคู่สมรส สูงสุดไม่เกิน 4 คน
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
2.ถ้าเป็นบิดามารดาของคู่สมรส ใช้ลดหย่อนภาษีได้ต่อเมื่อคู่สมรสไม่มีรายได้
3.บิดามารดาจะต้องออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย
🔸ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ
ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2.พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
3.ถ้าเป็นคนทุพพลภาพ ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
🔸ค่าฝากครรภ์และทำคลอด
ลดหย่อนตามจริง สูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.สามีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าคลอดบุตรได้ไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าภรรยาไม่มีเงินได้
2.สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่
2. กลุ่มประกันชีวิต
🔸เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2.ถ้าเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี ถือว่าผิดเงื่อนไข จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
3.ถ้าซื้อให้คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
🔸เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท (ในปีนี้เบี้ยประกันสุขภาพตนเองได้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19)
🔸เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.บิดามารดาต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
2.ลูกที่จะใช้สิทธิต้องเป็นบุตรตามกฎหมายเท่านั้น บุตรบุญธรรมใช้สิทธิไม่ได้
3.ลูกสามารถใช้สิทธิได้หลายคน โดยหารเฉลี่ยกัน
🔸ประกันสังคม
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท แต่ในปีนี้ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้ปรับลดเงินที่นำส่งประกันสังคมเหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ในปีนี้เราจะจ่ายประกันสังคม 7,200 บาท
3. กลุ่มการลงทุน
🔸กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF)
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องลงทุนอย่างน้อย 10 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก
2.ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
🔸กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับจากวันที่ลงทุนวันแรก โดยจะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุน
2.ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือสามารถเว้นการซื้อได้ 1 ปี
3.ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะสามารถขายกองทุนนี้ได้
🔸กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (PVD)/กบข./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
1
🔸กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท
🔸เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
2.ต้องเป็นประกันที่จ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปี ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือมากกว่านั้น
❗❗ กองทุน SSF + กองทุน RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
4. กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
🔸ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องเป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย
2.ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่ บนที่ดินของตัวเองหรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
3.ถ้ากู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4.กู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน
🔸ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต
ลดหย่อนเพิ่มได้ 1 เท่าของที่จ่ายจริง
เฉพาะการรับชำระเงินจากค่าเช่า, ค่าวิชาชีพอิสระ, ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือ เงินได้การประกอบธุรกิจอื่นๆ
5. กลุ่มตามมาตราการ COVID-19 (กลุ่มพิเศษที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19)
🔸กองทุน SSF Extra (SSFX)
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
เราสามารถซื้อกองทุน SSFX เพิ่มขึ้นอีก โดยจะไม่รวมวงเงินกับกลุ่มการลงทุนก่อนหน้านี้
มีเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องซื้อกองทุน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 - 30 มิ.ย. 2563 เท่านั้น
2.ต้องเป็นกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
6. กลุ่มเงินบริจาค
🔸เงินบริจาคพรรคการเมือง
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
🔸เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ
ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
🔸เงินบริจาคทั่วไป
ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
ฝากติดตาม กด Like 👍 กด Share ❤️  และเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ
#Cashury
โฆษณา