8 มิ.ย. 2020 เวลา 02:10 • ปรัชญา
ระบบควบคุม กับหลักอิทธิบาท4
เพื่อนๆที่เป็นชาวพุทธ คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าอิทธิบาท4 หมายถึง หนทางแห่งความสำเร็จ 4 ประการ ซึ่งได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
และในบทความนี้ ผู้เขียนจะมาเปรียบเทียบระบบควบคุมกับหลักธรรมข้อนี้กัน
เรามาเริ่มที่ปัญหาทางวิศวะกันก่อน สมมติว่าต้องการจะควบคุมระดับน้ำของถังใบหนึ่ง ที่มีรูให้น้ำไหลออกด้านล่าง และถ้าเราไม่ทำอะไรเลย น้ำก็จะไหลออกหมดถัง เปรียบเหมือนกับ "ทุกข์" ที่กัดกินจิตใจจนร่างกายห่อเหี่ยว
ทุกข์
ดังนั้น เราจึงเริ่มตั้งเป้าหมาย โดยการตั้งค่าระดับน้ำที่ต้องการ ในทางวิศวะจะเรียกค่านี้ว่า set point ซึ่งเปรียบเหมือนกับการถามหาสาเหตุว่า ทำไมเราถึงอยากทำมัน จนทำให้เกิด "ฉันทะ" ความชอบที่จะทำสิ่งใดๆ ซึ่งเป้าหมายของพุทธศาสนาก็คงเป็นการดับทุกข์นั่นเอง
ฉันทะ
หลังจากรู้ระดับน้ำที่อยากได้แล้ว เราจะติดตั้งวาล์วเพื่อให้มีน้ำไหลเข้าไปในถังใบนี้ และถ้าระดับน้ำน้อยกว่าที่เราต้องการ เราจะเปิดวาล์วให้มากขึ้นเพื่อให้น้ำไหลเข้ามากกว่าการไหลออก เปรียบได้กับเราใส่ "วิริยะ" ความพยายามที่จะทำให้ทุกข์ค่อยๆหายไป
วิริยะ
การเปิดวาล์วแล้วเดินจากไป น้ำก็จะเอ่อล้นถังได้ เพราะปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามากกว่าการไหลออก ดังนั้น เราจึงติดตั้งตัวควบคุมเวลา เพื่อหรี่น้ำให้ไหลน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป เปรียบเหมือนกับ "จิตตะ" มีใจจดจ่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ และตระหนักว่าจะใส่ความพยายามมากน้อยเพียงใด
จิตตะ
การควบคุมวาล์วด้วยเวลาเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ระดับน้ำที่ต้องการถึงช้ากว่าที่กำหนด เราจึงติดตั้งเซนเซอร์เพื่อวัดระดับน้ำในขณะนั้นๆ แล้วส่งค่ากลับมาให้ตัวควบคุมเพื่อจัดการเปิด-ปิดวาล์วต่อไป เซนเซอร์จึงเปรียบเหมือนกับ "วิมังสา" การทบทวนสิ่งที่ทำอยู่ว่า เราเข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยแค่ไหนแล้ว
วิมังสา
ถ้าให้ผู้เขียนสรุปหลักอิทธิบาท4 เป็นแผนผังของระบบควบคุมแล้ว ก็คงเป็นเหมือนรูปด้านล่าง
1) ฉันทะ (ความชอบ) เท่ากับ set point
2) วิริยะ (ความพยายาม) เท่ากับ valve
3) จิตตะ (การมีใจจดจ่อ) เท่ากับ controller
4) วิมังสา (การทบทวน) เท่ากับ sensor
ส่วนทุกข์ คือ ปัญหาที่เราอยากแก้ไข
สรุปอิทธิบาท4
เพื่อนๆสามารถนำหลักอิทธิบาท4 ไปลองปรับใช้กันดูนะ อย่างผู้เขียนก็ประยุกต์ใช้กับการเขียนบทความใน blockdit โดยเริ่มจากมีความรักในการเป็นนักเขียน มุ่งมั่นพยายามที่จะสานฝันตัวเอง ขณะเขียนบทความก็จะหมั่นถามตัวเองว่าผู้อ่านจะเข้าใจสิ่งที่เราเขียนไหม และอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆหลังจากที่บทความได้เผยแพร่ไปแล้ว เพื่อทบทวนตัวเองว่าจะพัฒนางานเขียนให้ดีขึ้นอย่างไร
ขอบคุณเพื่อนๆที่อ่านถึงตรงนี้ ใครจะประยุกต์ใช้ยังไงหรือมีคำแนะนำอะไรดีๆ ก็มาเล่าแบ่งปันให้อ่านกันได้นะ ผู้เขียนน้อมรับทุกความคิดเห็นจากเพื่อนๆทุกคนค่ะ
โฆษณา