8 มิ.ย. 2020 เวลา 22:39 • ท่องเที่ยว
วัดร่องขุ่น … พุทธศิลป์เพื่อแผ่นดิน
“ธรรมะทำให้ผมประสบความสำเร็จ สามารถดำรงชีวิตในทางโลกอย่างเป็นสุขยิ่ง และธรรมะช่วยให้ผมตระเตรียมสัมภาระทางจิต เพื่อมุ่งลดภพชาติของผม” … นี่คือปณิธานของชายที่ชื่อ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้ที่ต้องการสร้างวัดแห่งนี้เพื่อถวายพระพุทธเจ้า และต้องการให้มีวัดที่เป็นศิลปะประจำรัชกาลที่เก้า
แรกเริ่มเมื่อคิดจะสร้างวัด อาจารย์เฉลิมชัยคิดจะสร้างเพียงโบสถ์สวยๆแค่ 1 หลัง ใช้เวลาเพียงประมาณ 10 ปี พอสร้างไปได้ 2 ปี มีผู้มาเยี่ยมชมกันมากมาย จึงมีความคิดที่จะสร้างวัดทั้งวัดใหม่หมด และอาจารย์สั่งรื้อสิ่งก่อสร้างเดิมที่มองเห็นว่าไม่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ และไม่เข้ากับโบสถ์หลังใหม่และสิ่งก่อสร้างที่จะสร้างขึ้น
เนื่องจากที่ดินเดิมของวัดมีไม่พอกับพุทธสถานที่จะสร้างให้เป็น 9 หลัง แทนรัชกาลที่ 9 จึงมีผู้ใจบุญ คุณวันชัย วิชญชาคร เจ้าของที่ดินข้างเคียงจีงบริจาคเพิ่มเติมให้กับวัด เพื่อให้ภูมิทัศน์ลงตัวสวยงามอย่างที่อาจารย์ตั้งใจ
วัดร่องขุ่น (Wat Rong Khun) เป็นวัดพุทธ ตั้งอยู่ในตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เริ่มสร้างตั้งแต่พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน
อาจารย์เฉลิมชัยปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ เป็นวิมานบนดินที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ อาจารย์สร้างวัดในเขตพุทธาวาส เปรียบเสมือนเป็นบ้านของพระพุทธเจ้า
สีขาวแทนพระบริสุทธิคุณ กระจกขาวหมายถึงพระปัญญาธิคุณที่เปล่งประกายไปทั่วโลกมนุษย์และจักรวาล
สะพานหมายถึง การเดินข้ามวัฎสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพาน ครึ่งวงกลมเล็กหมายถึงโลกมนุษย์
วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู หมายถึงกิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตันหาของตนเองทิ้งลงไปในปากของพญามาร เพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใสก่อนที่จะผ่านขึ้นไป
บนสันของสะพานจะประกอบด้วยอสูร 16 ตัว ข้างละ 8 ตัว หมายถึงอุปกิเลส 16 จากนั้นก็จะถึงกึ่งกลางสะพาน หมายถึงเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของเทวดา ด้านล่างเป็นสระน้ำ หมายถึงสีทันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้น เดินลงสู่ดินแดนของพรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอกรอบอุโบสถ
ดอกใหญ่ที่สุด 4 ดอก ตรงทางขึ้นข้างโบสถ์หมายถึงซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ประกอบด้วยพระโสดาบัน พระดกิคี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นสงฆ์สาวกที่เราควรกราบไหว้บูชาก่อนขึ้นบันไดครึ่งวงกลม หมายถึง โลกุตตรปัญญา
บันไดทางขึ้น 3 ขั้น แทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านแล้วจึงขึ้นสู่แผ่นดินของอรูปพรหม 4 แทนด้วยดอกบัว 4 ดอก และบายประตู 4 บาน บาลสุดท้านเป็นกระจกสามเหลี่ยมแทนคงามว่างเปล่า (ความหลุดพ้น) แล้วจึงก้าวข้ามธรณีเข้าสู่พุทธภูมิ
ภายในประกอบด้วยภาพเขียนโทนสีทองทั้งหมด ผนัง 4 ด้าน เพดานและพื้นล้วนเป็นภาพเขียน ที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมารมุ่งเข้าสู่โลกุตตรธรรม
ส่วนบนของหลังคาโบสถ์อาจารย์ได้นำหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คืด ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปสู่ความว่างเปล่า ช่อฟ้าเอกแทนศีล ประกอบด้วยสัตว์ 34 ชนิดรวมกันแทน ดิน น้ำ ลม ไฟ … ช้าง หมายถึง ดิน นาค หมายถึง น้ำ ปีกหงส์หมายถึง ลม และหน้าอกสิงห์หมายถึง ไฟ … ขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา
บนหลังช่อฟ้าเอกเทินด้วยพระธาตุ หมายถึงศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ข้อ และ 84,000 พระธรรมขันธ์ ช่อฟ้าชั้นที่ 2 หมายถึงสมาธิ แทนด้วยสัตว์ 2 ชนิด คือพญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาคหมายถึงความชั่วในตัวมนุษย์ หงส์หมายถึงความดีงาม
ด้านหลังหางหงส์ช่อฟ้าชั้นที่ 3 มีลวดลาย 7 ชิ้นหมายถึง โพชฌงค์ 7 ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตรหมายถึง มรรคมีองค์ 8 ฉัตรหมายถึงพระนิพพาน ลวดลายบนเชิงชายด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุดแทนด้วยสังโยชน์ 10 เสา 4 มุม
ด้านข้างของโบสถ์คือ ตุง (ธง) กระด้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านนา
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า … “อยากให้คนมองเห็นแล้วรู้สึกว่าโบสถ์หลังนี้ลอยได้ เหมือนอยู่บนสวรรค์ อยู่บนปุยเมฆ อีกหน่อยเมื่อเสร็จ ใครที่จะเข้าโบสถ์ก็ต้องผ่านพญายมและสุวรรณที่เฝ้าชี้หน้าให้ปลดความชั่วของตนเองออกไว้ตรงพื้น ก่อนจะก้าวขึ้นสะพายมุ่งสู่พุทธภูมิ”
ปีกซ้ายขวาของอุโบสถ เป็นรูปซุ้มเปลวรัศมี 4 ซุ้ม ข้างละ 2 ซุ้ม เมื่อพระอาทิตย์ตก ส่องผ่านสองรูหน้าหลังของซุ้มด้านขวาของพระอุโบสถ สะท้อนกลับลงไปในน้ำตรงกลางสระน้ำหน้าโบสถ์พอดี เกิดเป็นปิติสุขแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับรายละเอียดอื่นมีอีกมากมาย อาคารทั้ง 9 หลัง แต่ละหลังมีความหมายเป็นคติธรรมทุกหลัง
การสร้างวัดที่อลังการสวยงามเช่นนี้ต้องใช้กำลังทรัพย์มากและระยะเวลาในการสร้างสรรค์ที่ยาวนานถึง 60-70 ปี อันอาจจะไม่ทันเสร็จในชั่วอายุของอาจารย์เอง อาจารย์จึงได้วางแผนเตรียมลูกศิษย์และคณะจัดการเอาไว้ 2 รุ่นเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ให้สำเร็จ …
คาดว่าอาคารทั้ง 9 จะสร้างให้เสร็จสามารถใช้ประโยชน์ได้สมบูรณ์ในอีกไม่ช้า ... เฉพาะลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งต่องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ให้ปราณีต เพื่อให้เกิดความงดงามมากๆ
ที่ดินทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 3 เขต
เขตที่หนึ่ง เขตพุทธาวาส ซึ่งอาจารย์เรียกว่า เขตพุทธภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า อยู่ทางด้านขวา มีเสานางรียงตั้งโปร่งๆ เป็นเขตแดนประกอบด้วยโบสถ์ หอพระธาตุ สะพานสุขาวดีข้ามน้ำไปสู่หอพระอีกหลังหนึ่ง
เขตที่สอง เขตสังฆาวาส อยู่ด้านซ้าย ประกอบด้วยกุฎิพระและหอวิปัสสนา จุคนประมาณ 200 คน สำหรับบรรยายธรรมและฝึกวิปัสสนากรรมฐาน
เขตที่สาม เขตฆราวาส อยู่ด้านซ้ายมือหลังแรก เป็นหอศิลป์ ข้างล่างห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่จำหน่ายผลงานสิ่งพิมพ์ ของที่ระลึกต่างๆ ห้องวีดีทัศน์เพิ่มบรรยาย จุคนประมาณ 50 คน และเป็นสำนักงานด้านต่างๆ
ส่วนชั้นบนเป็นห้องใหญ่ จัดแสดงภาพเขียนของจริงของอาจารย์ทั้งหมด
ถัดจากหอศิลป์ เป็นห้องส้วมทองคำ (ปิดทอง ทาสีทอง) เป็นหลังเดียวของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่ใช้สีทอง ประดับกระจกทองทั้งหลัง ชั้นบนใช้เป็นที่ทำงานและเป็นที่อยู่ของอาจารย์
ถัดไปเป็นหมู่ศาลาการเปรียญ เอาไว้รับรองแขกและบรรยายธรรมะขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้เป็นสุข จะจุคนได้ประมาณ 300 คน
ด้านหลังเป็นเมรุสำหรับเผาศพ สร้างไว้เผาเฉพาะคณะศรัทธาวัดร่องขุ่น ศพไร้ญาติ คณะลูกศิษย์ และตัวอาจารย์เฉลิมชัยเท่านั้น
พื้นที่นี้มีความชื่นชอบโดยส่วนตัว … เหมือนกับหอระฆังที่วิจิตรอลังการมากๆ มองไกลออกไปจะเห็นสิ่งก่อสร้างเหมือนศาลาขนาดย่อม มีพระพุทธรูปอยู่ด้านใน
ชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยวันนี้และที่เหลืออยู่ … เขาต้องการอะไร ? อาจารย์กล่าวไว้ว่า …. “ผมสร้างงานศิลป์เพื่อแผ่นดิน ทำตัวดีเพื่อสังคม การสร้างวัดนี้นอกจากทำถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ยังหวังที่จะกระตุ้นให้พื้นที่ท้องถิ่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงราย ช่วยให้หมู่บ้านมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น”
…“ผมเตรียมการมาทั้งชีวิต เพื่อให้พร้อมทุกสิ่ง ทางโลก ทางธรรม ปรารถนาที่จะสร้างงานศิลป์ สมบัติที่ล้ำค่าชิ้นหนึ่ง ฝากไว้ให้แก่ชาติและโลกมนุษย์ก่อนตาย”
*** ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ .. ผมวาดชีวิตผม .. สร้างพุทธศิลป์เพื่อแผ่นดิน
โฆษณา