10 มิ.ย. 2020 เวลา 10:40 • การศึกษา
พระภัททกาปิลานีเถรี
พระภัททกาปิลานีเถรี
ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในวัฏสงสาร หากยังเวียนว่ายอยู่ในความ
มืดมนแห่งทะเลทุกข์ ชีวิตนั้นย่อมต้องทนทุกข์ทรมานอีกยาวนาน
ตราบใดที่พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังปรากฏอยู่
ตราบนั้นย่อมมีผู้ได้โอกาสบรรลุธรรม และด้วยความปรารถนาที่จะไปให้
ถึงวันแห่งความสำเร็จของชีวิต ผู้ที่มีบุญมีปัญญาจึงรักการสั่งสมบุญบารมี
มีมโนปณิธานอันแน่วแน่ ใจจะต้องไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ไม่ว่า
ชีวิตจะตกอยู่ในภาวะที่เลวร้ายเพียงใด ใจก็ยังมุ่งมั่นต่อเป้าหมายสูงสุด
มุ่งมั่นในทางพระนิพพาน เราทั้งหลายโชคดีที่ได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์
มาพบพระพุทธศาสนา ให้ใช้โอกาสดีนี้สร้างบารมีกันให้เต็มที่
มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน สัมมาทิฏฐิสูตร ว่า...
“บุคคลในโลกนี้ ตั้งใจไว้ชอบ กล่าววาจาชอบ การงานชอบ เป็นผู้
มีการสดับมาก ได้ทำบุญไว้ในชีวิตอันมีประมาณน้อยนิดในมนุษย์โลกนี้
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์”
การดำเนินชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ
มากมาย มีทั้งดีและไม่ดี ทั้งสุขและทุกข์ ประสบการณ์ต่างๆสอนให้แต่ละ
ชีวิตต้องเรียนรู้ในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย แต่ถ้าเรารู้จัก
ดำเนินชีวิต มีความคิด คำพูด และการกระทำที่ดีงาม มีเป้าหมายมั่นคง
มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน และหมั่นสั่งสมบุญกุศลอยู่ตลอดแล้ว
เส้นทางชีวิตของเราย่อมจะพบกับความสุขความสมหวังอย่างแน่นอน
เหมือนพระเถรีภัททกาปิลานี ผู้เป็นพระอรหันตเถรีในครั้งสมัยพุทธกาล
ท่านได้เดินข้ามพ้นห้วงแห่งสังสารวัฏแล้ว
ย้อนไปในกัปที่หนึ่งแสนจากภัทรกัปนี้ พระปทุมมุตตระพุทธเจ้าได้เสด็จ
อุบัติบังเกิดขึ้น ครั้งนั้นในเมืองหงสวดี มีเศรษฐีชื่อว่าวิเทหะ เป็นผู้มี
ทรัพย์มาก ในชาตินั้นพระเถรีได้เป็นชายาของท่านเศรษฐี บ่อยครั้งที่
เศรษฐีพร้อมกับบริวารได้เข้าไปเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ของพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า มีโอกาสฟังธรรมซึ่งเป็นเหตุนำความสุขมาให้ พระบรมศาสดา
ได้ทรงประกาศแต่งตั้งสาวกองค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศของสาวกผู้
กล่าวสรรเสริญธุดงควัตร ท่านเศรษฐีได้ฟังและบังเกิดความเลื่อมใส
ได้ถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดระยะเวลา ๗ วัน แล้วซบ
ศรีษะลงแทบพระยุคลบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้นด้วย พระบรมศาสดา
เมื่อจะทรงให้บริษัทอาจหาญร่าเริงในธรรม และเพื่ออนุเคราะห์ท่าน
เศรษฐีจึงได้ตรัสว่า...
"ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ เธอจะเป็นพระสาวกนามว่า กัสสปะ
ในพระศาสนาของพระบรมศาสดาพระนามว่า โคดม ความปรารถนา
ของเธอจะสำเร็จในพระศาสนาของพระศาสดาพระองค์นั้น" เศรษฐีได้
ฟังพุทธพยากรณ์เช่นนั้น ก็มีความร่าเริงเบิกบานใจ จึงได้ตั้งใจสร้าง
บารมียิ่งๆ ขึ้นไป ได้บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่เรื่อยมาจนตลอด
อายุขัย
เมื่อพระปทุมมุตตระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว ท่านเศรษฐีจึงได้เชิญชวน
หมู่ญาติมิตรมาประชุมกัน แล้วได้สร้างพระสถูปเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะ
สูง ๗ โยชน์ รุ่งเรืองดังพระอาทิตย์ส่องแสงในยามฟ้าใส และได้ปลูก
ต้นรังมีดอกบานสะพรั่ง เพื่อบูชาพระบรมศาสดา ส่วนภรรยาของเศรษฐี
ได้ให้ช่าง ๗ คน เอารัตนะ ๗ อย่างทำเป็นตะเกียง ๗๐๐,๐๐๐ ดวง
เอาน้ำมันหอมใส่จนเต็มทุกดวง ให้ตั้งประทีปไว้ในอาณาบริเวณโดย
รอบพระเจดีย์ แสงประทีปได้ลุกโพลงสว่างไสวดังไฟไหม้ป่าอ้อ เพื่อ
บูชาบุคคลผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้อนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง และยัง
ให้ช่างทำหม้อ ๗๐๐,๐๐๐ ใบ บรรจุรัตนชาตินานาชนิดจนเต็ม และมี
วัตถุที่ควรบูชาที่เป็นทองตั้งไว้ในท่ามกลางระหว่างหม้อทุกๆ ๘ ใบ
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ครั้งนั้นในเมืองพันธุวดี มีพราหมณ์ที่ได้รับการ
ยกย่องว่าเป็นผู้ดี เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมและทรัพย์สมบัติ แต่
ภายหลังกลับตกยาก แม้ครั้งนั้นนางก็ไปเกิดเป็นพราหมณี มีใจศรัทธา
เสมอกันกับพราหมณ์นั้น วันหนึ่งพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระมหามุนี
ฟังธรรมจากพระองค์แล้ว ก็เบิกบานใจ ได้ถวายผ้าห่มผืนหนึ่ง มีผ้านุ่ง
ผืนเดียวกลับไปเรือนและบอกให้ภรรยาอนุโมทนาในผลทานนั้น
นางพราหมณีก็เกิดความปีติยินดีประนมมืออนุโมทนาสาธุการว่า...
“ข้าแต่นาย ผ้าห่มผืนนั้น ท่านได้ถวายดีแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ประเสริฐ ผู้คงที่ และด้วยบุญนั้นที่ได้ทำไปด้วยความศรัทธา ขอให้
ข้าพเจ้ามีส่วนในบุญนั้นด้วยเถิด” บุญนั้นทำให้ทั้งสองมีความเจริญ
ด้วยสุขสมบัติร่วมกัน ได้ท่องเที่ยวไปในสุคติภพ
ต่อมา บุญส่งผลให้พราหมณ์ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในกรุงพาราณสี
ครั้งนั้นนางพราหมณีได้เป็นมเหสีของพระราชา และเป็นที่โปรดปรานเป็น
อย่างยิ่ง เนื่องจากเคยสร้างบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ครั้งนั้น
พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ พระองค์กำลังเที่ยว
บิณฑบาต ได้ถวายบิณฑบาตที่ปราณีตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย
ความเบิกบานพระทัย ทรงนิมนต์ให้อยู่เป็นเนื้อนาบุญ และรับสั่งให้พวก
ช่างสร้างมณฑปรัตนะที่สำเร็จด้วยทองสูงถึง ๑๐๐ ศอก เมื่อสร้างเสร็จ
พระราชาทรงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดให้เข้าไปพักอาศัย
ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยพระหัตถ์ของ
พระองค์เองไม่เคยขาด แม้ครั้งนั้นพระมเหสีก็ได้ถวายทานร่วม
กับพระราชา
มีอยู่ภพชาติหนึ่งท่านได้บังเกิดในตระกูลกุฎุมพีผู้มั่งคั่ง วันหนึ่งน้อง
ของสามีเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเอาอาหารที่เป็นของพี่ชายซึ่งก็
คือสามีของท่าน ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้เดิมนางมีความศรัทธา
เลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงโกรธน้องของสามี
และน้อยใจในพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เทบิณฑบาตของพระปัจเจก
พุทธเจ้าทิ้ง แล้วถวายบาตรที่เต็มไปด้วยเปือกตมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ครั้นเห็นสีหน้าของสามี ฝ่ายภรรยาซึ่งแสดงออกด้วยจิตที่ไม่เป็นกุศล
ในการให้ทาน การรับ การไม่เคารพ และการประทุษร้าย จึงรู้สึกสลด
ใจมาก และได้รับบาตรมาแล้วเอาน้ำหอมอย่างดีล้างให้สะอาด พอ
นางหายโกรธก็เกิดกุศลจิตขึ้นมาใหม่ นางได้ถวายน้ำตาลกรวดกับ
เปรียงจนเต็มบาตร หลังจากนั้นไม่ว่านางจะเกิดในภพชาติไหนๆ
ก็มีรูปงามเพราะได้ถวายทาน แต่มีกลิ่นตัวเหม็นเพราะความโกรธ
ที่ได้ทำต่อพระปัจเจกพุทธเจ้า
ต่อมาในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อสามีสร้างพระเจดีย์
ของพระพุทธองค์สำเร็จแล้ว นางมีความยินดีได้ถวายแผ่นอิฐทองคำ
อย่างดี เอาแผ่นอิฐนั้นชุบด้วยน้ำหอมที่เกิดจากเครื่องหอม ๔ ชนิดจน
เปียก ให้ช่างเอารัตนะ ๗ ประการทำตะเกียง ๗๐๐,๐๐๐ ดวง ใส่เปรียง
จนเต็ม ให้ใส่ไส้พันไส้ตามประทีปตั้งไว้ ๗ แถว บูชาพระพุทธองค์ผู้
เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกด้วยจิตเลื่อมใส ด้วยบุญนั้นจึงทำให้พ้นจาก
กรรมที่มีกลิ่นตัวเหม็น
แม้ในครั้งนั้น นางก็มีส่วนในบุญนั้นเป็นพิเศษ เมื่อสามีมาเกิดในแคว้น
กาสี มีนามปรากฏว่า สุมิตตะ นางได้เป็นภรรยานายสุมิตตะนั้นอีก
เจริญด้วยสุขสมบัติร่วมกัน ทั้งยังเป็นที่รักของสามี ครั้งนั้นสามีได้
ถวายผ้าโพกศีรษะเนื้อดีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้นางก็ได้มีส่วนแห่ง
ทานที่ได้อนุโมทนา เมื่อมาบังเกิดในกำเนิดชาวโกลิยะในแคว้นกาสี
ครั้งนั้นสามีพร้อมกับบุตรชาวโกลิยะ ๕๐๐ คน ได้บำรุง
พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ อาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ให้อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส และได้ถวายไตรจีวร นางก็ได้มีส่วนร่วม
ในบุญกุศลครั้งนั้นด้วย ครั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้น สามีได้เกิดเป็น
พระราชาพระนามว่า นันทะ มีพระอิสริยยศยิ่งใหญ่ แม้นางก็ได้เป็น
พระมเหสีของท้าวเธอ เป็นผู้มั่งคั่งในสิริราชสมบัติ
พระเจ้านันทะเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว มาเป็นพระเจ้าพรหมทัต
ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระนางกับพระเจ้าพรหมทัต ได้อาราธนา
พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นพระโอรสของพระนางปทุมวดี
ให้อยู่ในพระราชอุทยานแล้วอุปัฏฐากบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
จนตลอดชีวิต ทั้งสองได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ แล้วพากันบวช
เจริญอัปปมัญญา แล้วได้ไปสู่พรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลก ในที่
สุดสามีได้มาเกิดเป็นปิปผลิมาณพมีทรัพย์สมบัติมากมาย และนางก็ได้
มาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี แม้ว่าพ่อแม่จะจับทั้งสองให้แต่งงานกัน แต่
ทั้งสองไม่ยินดีในการครองเรือนจึงออกบวชพร้อมกัน ในที่สุดเมื่อบารมี
เต็มเปี่ยมก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสองท่าน และได้รับการยกย่อง
จากพระบรมศาสดาตามที่ได้ตั้งจิตปรารถนาไว้ทุกประการ
เราจะเห็นว่า ชีวิตของนักสร้างบารมีผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ที่ประสบ
ความสำเร็จโดยตลอด เพราะได้สั่งสมบุญบารมีไว้อย่างดีแล้ว บนเส้น
ทางชีวิตที่เต็มไปด้วยบุญกุศลล้วนๆ แม้บางชาติจะพลั้งพลาดไปบ้าง
แต่ถ้ายังยึดมั่นในการสั่งสมบุญบารมีแล้ว ย่อมจะไม่มีวันตกต่ำ แม้
เส้นทางจะยาวไกล แต่ถ้าใจเรามั่นอยู่ในการสร้างบารมี เราจะเข้าใกล้
พระนิพพานเข้าไปทุกขณะ เพราะฉะนั้น ให้ทุกๆ ท่านตั้งใจสร้างบารมี
กันให้เต็มที่ และหมั่นตรึกระลึกถึงบุญที่ศูนย์กลางกาย ให้ใจอยู่ในบุญ
กันตลอดเวลา
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา
หน้า ๓๑๓ - ๓๒๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๗๒ หน้า ๖๓๑
โฆษณา