15 มิ.ย. 2020 เวลา 00:55 • การศึกษา
วันนี้อยากพาทุกคนไปสัมผัสกับโลกอีกมุมหนึ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้จัก นั่นคือ ไรแดง สุดยอดอาหารสำหรับอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน 🌿🌸
ไรแดงถือเป็นหัวใจหลักของการอนุบาลลูกปลาน้ำจืดเลยก็ว่าได้ เพราะมีโปรตีนสูงมาก ถ้าลูกปลาได้รับไรแดงในปริมาณที่เพียงพอก็จะแข็งแรงและมีอัตรารอดสูง
ขอบคุณภาพขยายไรแดงจาก https://www.fisheries.go.th/if-phayao/cultivate/c_rai.htm
แล้วทำไมไม่ให้กินไรแดงเยอะ ๆ ล่ะ ปลาจะได้แข็งแรง ??
หลายคนอาจจะกำลังสงสัย...นั่นเป็นเพราะกำลังการผลิตไรแดงไม่เพียงพอ สมัยก่อนมีการตักไรแดงจากธรรมชาติ เช่น ที่บ่อขยะ ฟาร์มเลี้ยงหมู ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ถูกมาก
แต่ปัจจุบันแหล่งตักแบบนี้มีน้อยลงและไม่มีความแน่นอน ฟาร์มเพาะปลาจึงต้องเพาะไรแดงเอง ถ้าไม่พอต้องซื้อจากฟาร์มอื่น ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก คือ กิโลกรัมละ 150-300 บาท และบางครั้งก็หาซื้อไม่ได้ด้วย
เรามีการเพาะไรแดงเองเเต่บางช่วงก็ไม่พอ ต้องวิ่งหาซื้อจากจังหวัดใกล้เคียง บางช่วงไรก็ไม่ขึ้น บางช่วงก็มีโรติเฟอร์ลง แต่หลังจากลองผิดลองถูกอยู่หลายปี ปัจจุบันเริ่มนิ่งขึ้น ไม่ค่อยมีปัญหาโรติเฟอร์กวนใจ วันนี้เลยจะพามาดูสูตรการเพาะไรแดงของเรากันค่ะ
เริ่มจากการผสมน้ำปุ๋ยกันก่อน
บ่อเรามีขนาด 16 ตารางเมตร
ใช้ปุ๋ยเคมี 16-2-0 = 4 ขีด
ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 = 4 ขีด
ปุ๋ยยูเรีย
และปูนขาว 4 ขีด
ปูนขาว
มาผสมกัน ละลายน้ำจนน้ำใสเหลือกาก กรองเอากากทิ้ง
กากปุ๋ย
หลังจากนั้นเติมกากน้ำตาล 0.5 ก.ก. บางสูตรจะใช้อามิ อามิ (กากผงชูรส) แต่สูตรของเราใช้กากน้ำตาลเพราะหาซื้อได้ง่ายกว่า และเราจะเติมน้ำอาหารหมักไปด้วย 2 ถ้วย ใครจะไม่เติมก็ได้ค่ะ
กากน้ำตาล
น้ำอาหารหมัก
เราจะใช้น้ำบาดาลแต่ฟาร์มอื่น ๆ ส่วนมากจะใช้น้ำจากธรรมชาติซึ่งจะมีแร่ธาตุตามธรรมชาติ ได้ผลดีกว่าค่ะ จากนั้นคนให้เข้ากัน
เมื่อละลายส่วนผสมเรียบร้อยแล้วก็ดึงน้ำเขียวจากบ่ออื่น ๆ เติมลงไป วิธีเตรียมน้ำเขียวนี่เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้งค่ะ
เมื่อเติมน้ำเขียวแล้วทิ้งไว้ 2 วันก็จะมีสีเขียวแบบนี้
จากนั้นก็เติมน้ำจนเต็มบ่อค่ะ แล้วเติมไรแดง 4 ขีด เพื่อเป็นหัวเชื้อ
ไรแดง
รอ 3 วันก็จะได้ไรแดงแบบนี้ค่ะ
มันจะเกาะกลุ่มกันอยู่ ยิ่งช่วงกลางคืนถ้าเราเอาไฟส่องมันจะมารวมกันอยู่ที่แสงไฟค่ะ
จากนั้นก็เปิดท่อใช้ผ้ากรองไรรับ กรองเอาแต่เนื้อไร โยนให้ลูกปลาได้เลยหรือจะแช่เเข็งเก็บไว้ก็ได้
หน้าตาของไรแดงค่ะ เหมือนเป็นจุดเล็ก ๆ สีแดงอ่อน 🌿
พอกรองเอาน้ำออก เหลือแต่ลูกไร จะเห็นเป็นสีแดงออกน้ำตาล
ไรแดงจะตายได้ง่าย ถ้าจะขนย้ายหรือแพ็คขายก็จะกรองชั่งน้ำหนักเฉพาะไรแดงแล้วใส่น้ำ ซึ่งต้องทำแบบรวดเร็ว อัดออกซิเจนใส่ถุงก็จะอยู่ได้หลายชั่วโมง ลูกค้าที่ซื้อไรแดงส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์มเพาะปลาน้ำจืดและเหล่านักเพาะปลากัดทั้งหลาย
แบ่งใส่ถุงถุงละ 3 ขีด
หลังจากเปิดไรแล้วก็จะล้างบ่อแล้วตากพักไว้ 1 วัน รวมระยะเวลาต่อรอบเป็น 6 วัน ซึ่งถ้าต้องการเปิดไรทุกวันก็จะต้องมีบ่ออย่างน้อย 6 บ่อ บ่อเราเปิดไรได้ประมาณ 2 ก.ก ต่อบ่อค่ะ
นอกจากบ่อปูนแล้วไรแดงยังสามารถเพาะในบ่อดินได้ด้วยค่ะ ข้อดี คือ ได้ไรแดงในปริมาณสูง 10-20 กิโลกรัม แต่ข้อเสีย คือ ยุ่งยาก ต้องใช้แรงงานในการทำ ซึ่งเราจะทำแค่บางช่วงที่สะดวก
ที่เห็นสีแดง ๆ คือ ไรแดง
ต้องสูบน้ำออกจากบ่อเพื่อกรองเอาแต่ไรแดง
ไรแดงจะถูกกรองอยู่ในถุง
ไรแดงที่ตายแล้วปลาก็กินได้นะคะแต่จะทำให้น้ำเสียถ้าปลากินไม่หมด และราคาขายจะต่ำกว่าไรเป็น ๆ 🌿🌿
จะเห็นว่าต้นทุนในการทำไรไม่ได้สูงเลยแต่ราคาขายสูงพอสมควร นั่นก็เป็นเพราะว่าวิธีการทำไม่ยากแต่เทคนิคกว่าที่จะได้ไรมานั้นไม่ง่ายเหมือนกันค่ะ ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องหนึ่งในหนังสือ Focal point ของ Brian Tracy ที่เล่าว่า
มีโรงงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่งที่เครื่องจักรในโรงงานมีปัญหา ช่างในโรงงานหาจุดที่เสียไม่ได้ จึงจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูให้
ผู้เชี่ยวชาญมาเดินดูระบบและขีดกากบาทจุดที่เสียต้องซ่อม แล้วนั่งเครื่องกลับ ส่งบิลมา 10,000 เหรียญ
ผู้จัดการโรงงานเห็นบิลเลยถามกลับไปว่าทำไมแพงจัง แค่มาเดินไปเดินมาแล้วขีดกากบาทแค่นี้ ช่วยแจกแจงมาหน่อย
ผู้เชี่ยวชาญเลยส่งบิลกลับไปใหม่ว่า
ค่ากากบาท 1 เหรียญ
และค่ารู้ว่าต้องกาตรงไหน 9,999 เหรียญ
ความรู้และประสบการณ์เป็นต้นทุนที่แพงที่สุด
และมันจะอยู่กับเราตลอดไป
แต่ยิ่งเราแบ่งปันมันกลับยิ่งมีเพิ่มขึ้น 🌿
ขอบคุณที่ให้เราได้แบ่งปันความรู้
และขอบคุณที่ติดตามรับชมกันนะคะ ❤️❤️
โฆษณา