15 มิ.ย. 2020 เวลา 12:50 • การศึกษา
ภาษาท่าทาง
ภาพถ่ายโดย fauxels จาก Pexels ( ฟอนต์พยายามให้เหมือนตอนเขียนกระดานไวท์บอร์ดครับ เลยอาจจะดูแปลกๆเล็กน้อย 😂 )
นอกจากการสื่อสารที่เป็นรูปแบบของคำพูดแล้ว เราสามารถใช้ท่าทางในการสื่อสารได้ด้วย เช่น การโบกไม้โบกมือ (ให้ลองนึกถึงตอนคุยกับชาวต่างชาติแต่เราไม่รู้ภาษาของเขาครับ) และยังสามารถใช้ท่าทางเป็นตัวช่วยควบคู่กับการพูดได้เช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ภาษาท่าทาง ภาษากาย หรือ Body Language เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง โดยจะใช้การแสดงออกทางสีหน้า แสดงออกทางน้ำเสียง แสดงออกทางกิริยาท่าทางต่างๆของร่างกาย แทนการใช้คำพูด
และเป็นการสื่อสารรูปแบบแรกที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน แต่การที่เราแสดงท่าทางอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้ทั้งหมด ทั้งยังอาจทำให้คู่สนทนาเกิดความสับสนได้ จึงมีการพัฒนาภาษาพูดขึ้นในเวลาต่อมา
คนเราส่วนใหญ่มักจะแสดงท่าทางขณะกำลังพูดหรือแสดงท่าทางเพื่อสื่อสารความคิดเป็นปกติอยู่แล้ว โดยในบางทีเราอาจไม่ทันได้สังเกตหรือรู้ตัวด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นการชี้ การผายมือ ท่าทางต่างๆเหล่านี้ เป็นการสร้างความน่าสนใจและแสดงออกถึงความต้องการของผู้พูดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สังเกตว่านักพูดบนเวที ส่วนใหญ่แล้วจะมีมือไม้ประกอบการอธิบายแทบทั้งสิ้น ในการประชุมหรือการนำเสนอผลงาน หากเราใช้ท่าทางร่วมกับการพูดแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ฟังมีความเข้าถึงและเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายกว่าการพูดที่ไม่มีท่าทางประกอบ
ภาพถ่ายโดย mentatdgt จาก Pexels
ทั้งนี้ลักษณะของภาษากายนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ
1. ใช้ขยายความในการพูด เพื่อให้การสื่อสารเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การโบกมือขณะบอกให้ออกไป การกวักมือขณะเรียกเข้ามา การใช้มือชี้สิ่งที่กำลังพูดนำเสนออยู่
2. ใช้แทนการพูดไปเลย ใครเห็นก็สามารถเข้าใจได้ทันที เช่น การแสดงสีหน้ายิ้ม หน้าบึ้ง หน้าตกใจ
3. ใช้สวนทางกับการพูด ซึ่งเป็นแบบที่ต้องระวังและรอบคอบอย่างยิ่งก่อนที่จะใช้กับใคร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ภาพถ่ายโดย Christina Morillo จาก Pexels
ภาษากาย อาจมีอิทธิพลต่อการสื่อสารมากกว่าที่คุณคิดนะครับ ลองดูสถานการณ์นี้
ขณะนักธุรกิจคนหนึ่งกำลังเจรจาตกลงธุรกิจกับคุณ ระหว่างการพูด เขากอดอก ยิ้มมุมปาก นั่งไขว่ห้างและหรี่ตามองคุณ ผมเชื่อว่าคุณจะต้องเริ่มรู้สึกเอะใจอะไรบางอย่าง และเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมาว่าเขากำลังคิดอะไรที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่หรือเปล่า สุดท้ายข้อตกลงนั้นอาจจะล่มไปเลยก็ได้
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างงานวิจัย ขออนุญาตยกข้อความคำพูดที่ถูกเขียนในเว็บไซต์ของแหล่งที่มาเลยนะครับ
"ในงานวิจัย บอกว่าในการสื่อสารที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีปัจจัยมาจากภาษากาย 55% มาจากโทนเสียงของเรา 35% และ มาจากคำพูด 7% (อีก 3% น่าจะเป็นปัจจัยอื่นๆซึ่งไม่ได้ถูกเขียนไว้) นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะพูดอะไรก็ตาม ถ้าภาษากายคุณดี และคุณสามารถควบคุมโทนเสียงได้ การสื่อสารของคุณสำเร็จไปแล้ว 90% ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่รู้จักการใช้ภาษากายให้ถูกต้อง การสื่อสารของคุณก็มีหวังล้มเหลวไปแล้ว 90% เช่นกัน"
ลองคิดถึงสิ่งที่เคยประสบพบเจอดูครับ มีไหมที่บางทีเราพูดธรรมดาแต่คนกลับบอกว่าเราใส่อารมณ์ มีไหมที่เรื่องเดียวกัน ตอนเราพูดไม่มีคนฟังแต่พอคนอื่นพูดกลับฟังเสียอย่างนั้น
ปัญหาเหล่านี้ จริงๆแล้วอาจจะเกิดจากการใช้ภาษาท่าทางหรือภาษากายของคุณในการสื่อสารก็เป็นได้ครับ
ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆบางส่วนจาก
โฆษณา