15 มิ.ย. 2020 เวลา 13:03 • ไลฟ์สไตล์
บทความตามอารมณ์ เรียงประโยคผิดถูกอย่างไรขออภัยด้วยนะคะ
วันนี้ขออนุญาตไม่ขุดเกมเก่า แต่ขอขุดเรื่องเก่า ๆ ในวัยเด็กมาแทนค่ะ
สวัสดีทุก ๆ คนอย่างเป็นทางการนะคะ เรา (เจ้าของเพจนี้) ชื่อพิม ปัจจุบันอายุ 28 ปี ถ้านับย้อนไปถึงพ.ศ. เกิดของเรา แน่นอนค่ะ ตรงกับช่วงยุค 90 พอดี เป็นยุคที่หลาย ๆ คนโหยหาอยากกลับไป (แต่ให้ไปจริงก็ไม่เอา)
ในยุค 90 ตอนนั้นเราอยู่ในช่วงอายุ 1-10 ขวบ พอจำความได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่สำหรับเรื่องเกมแล้ว จำได้แม่นเลย สมัยนั้นมีเกมตลับที่เรียกว่า Famicom เป็นเครื่องเล่นวีดิโอเกมสีแดงพร้อมจอยสติกสองอัน ปืนสีดำหนึ่งกระบอก เวลาเล่นให้เสียบตลับเกมลงในช่องของเครื่องเล่น ต่อสายจากเครื่องเข้ากับทีวี แล้วเปิดเครื่องเล่น ภาพจากเกมก็จะปรากฏขึ้นบนจอทีวี เรียกได้ว่าเป็นความบันเทิงของเด็กยุคนั้น
ด้วยความที่มีจอยสติกสองอัน นั่นแปลว่าเกม Famicom หลาย ๆ เกมสามารถเล่นได้สองคนแบบที่เรียกว่า Two Players แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของการออกแบบเกมด้วย บางเกมสามารถเล่นสองคนได้จริง แต่ต้องผลัดกันเล่นคนละตา รอให้คนหนึ่งตายในเกมก่อน จะถึงตาอีกคนเล่น หรือสามารถเล่นได้พร้อมกันทั้งสองคน ในลักษณะของการช่วยเหลือกัน คนที่มีพี่น้องคงเข้าใจฟีลลิ่งของการเล่นด้วยกันเป็นอย่างดี
แต่เผอิญว่าเราไม่มีพี่น้อง และไม่มีเพื่อนบ้านที่มาเล่นด้วยกัน คำถามคือ แล้วเราเล่นเกมกับใคร
เล่นกับพ่อแม่นี่แหละค่ะ นอกจากการทำกิจกรรมปกติร่วมกันในครอบครัวแล้ว มีอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษก็คือการเล่นเกม Famicom ด้วยกัน เกมที่ชอบเล่นก็คือ Mario, Tertis, Battle City, Contra ส่วนเกมอื่น ๆ ก็เล่นอยู่นะคะ เพียงแต่ตอนเด็กบางเกมเราไม่ค่อยเข้าใจวิธีการเล่นเท่าไรนัก จึงเล่นแบบผ่าน ๆ ค่ะ
นี่คือจุดเริ่มต้นของการเล่นเกมในวัยเด็กที่เราประทับใจ ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่าการเล่นเกมเป็นเรื่องไร้สาระ จึงไม่สนับสนุนให้ลูกหลานเล่นเกม และเวลามีปัญหาเกี่ยวกับเยาวชน ก็จะโทษการเล่นเกมเป็นเหตุเสมอไป ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว เกมจะมีประโยชน์หรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับการเล่นของผู้เล่นคนนั้นมากกว่า ว่า
สำหรับเราแล้ว เกมเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เพราะสามารถสอดแทรกเนื้อหาที่ต้องการในเกมได้ การเล่นทำให้เกิดการกระทำซ้ำ ๆ จนเกิดการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้เราไม่รู้สึกถูกบังคับในการเรียนรู้
และด้วยความเชื่อที่มีต่อเกมในทางบวกเสมอ ทำให้เรามีแรงผลักดันในทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนป.โท ที่เกี่ยวกับการประยุกต์เกมเป็นสื่อการเรียนรู้ ด้วยใจรักอย่างแท้จริง
เรายังนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าครอบครัวเราปิดกั้นไม่ให้เล่นเกมในตอนเด็ก ความทรงจำที่มีต่อเกมเก่าของเราจะเป็นอย่างไร เราคงแอบเล่นเกม เล่นไปอย่างไร้เป้าหมาย ไม่เห็นคุณค่าของเกมมากเท่ากับทุกวันนี้
และที่แน่ ๆ คงไม่มีเพจ ขุดเกมเก่ามาเล่าใหม่ แน่นอน
โฆษณา