17 มิ.ย. 2020 เวลา 02:43
รู้จัก Bi-Mode Train รถไฟลูกครึ่ง
เชื่อมจุดเปลี่ยนผ่านจากรถไฟดีเซลราง - ไฟฟ้า
จากบทความในโพสต์ที่แล้วเรื่องความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ทั้งเฟส1 และเฟส 2 ในช่วงท้ายบทความผมได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ประเทศไทยอาจได้มีการยกระดับตัวรถไฟครั้งใหญ่จากโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศสำหรับบริการเชิงพาณิชย์จำนวน 184 คัน โดยที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟได้แห่งประเทศไทย หรือบอร์ด รฟท. มีมติจัดซื้อขบวนรถไฟดังกล่าวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
มันมีคำศัพท์เรียกประเภทรถไฟชนิดใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นหูเกิดขึ้น ก็คือ "รถไฟดีเซลรางไฟฟ้า" หรือ "Bi-Mode Multiple Unit" ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า "รถไฟBi-Mode"
ปกติแล้วในประทศไทยมีรถไฟอยู่ 2 แบบที่แบ่งตามสิ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนมันก็คือ รถไฟดีเซลราง และรถไฟฟ้า แต่รถไฟ Bi-Mode คือการผสมผสานทั้ง 2 ระบบเข้าด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีในประเทศไทย นั่นทำให้รถไฟ Bi-Mode นับเป็นระบบรถไฟที่เข้ามาอุดช่องว่างระหว่างรถไฟที่ใช้น้ำมันและรถไฟที่เป็นระบบไฟฟ้า
หลักการทำงานของมันผมขออธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ว่า ปกติแล้วรถไฟทางไกลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะมีแนวสายส่งไฟฟ้าแบบระบบจ่ายไฟเหนือหัว ให้นึกถึงภาพรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ หรือ รถไฟความเร็วสูงชิงคันเซ็น ที่จะมีสายส่งกำลังไฟฟ้าติดตั้งไปตลอดแนวรางรถไฟ โดยตัวรถไฟจะมีการติดตั้งอุปกรณ์รับกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า "Pantograph" หรือ "แหนบรับไฟ" ไว้บนหลังคาเพื่อรับกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ตัวรถไฟให้ เพื่อเป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งรถไฟ Bi-Mode ก็มีการติดตั้งแหนบรับไฟไว้บนหลังคาเช่นกัน เพื่อใช้รับกระแสไฟฟ้าในช่วงที่วิ่งอยู่บนรางรถไฟที่ติดตั้งระบบจ่ายไฟแบบเหนือหัว
แต่หากวิ่งพ้นระบบจ่ายไฟฟ้าแบบดังกล่าวไปแล้ว เหลือเพียงรางรถไฟเปล่าๆ เหมือนทางรถไฟทั่วไปที่รถไฟดีเซลรางหรือดีเซลไฟฟ้าใช้งานแบบในประเทศไทย ระบบการขับเคลื่อนจะเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าจากสายส่งเหนือหัวมาเป็นระบบดีเซลไฟฟ้าแทน
ข้อดีของรถไฟ Bi-Mode ก็คือ เป็นรถไฟที่มีความยืดหยุ่นสูงในการใช้งานเหมาะสำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรถไฟดีเซลรางไปสู่รถระบบไฟฟ้า เนื่องจากการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับรถไฟทางไกลระยะทางเป็นหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรใช้ระยะเวลาในการติดตั้งนานและมีต้นทุนค่าติดตั้งและดูแลรักษาที่สูง ซึ่งบางเส้นทางรถไฟที่เป็นสายรองหรือรถไฟท้องถิ่นที่ความถี่ในการใช้งานไม่มากก็อาจจะไม่คุ้มค่าต่อการติดตั้งระบบไฟฟ้า รถไฟ Bi-Mode จะช่วยวิ่งให้บริการเสริมในเส้นทางเหล่านี้ได้ที่สำคัญยังมีรูปลักษณ์ที่ดูดี สวยงาม ไม่ต่างกับรถไฟฟ้าอีกด้วย
และด้วยการเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกผลิตขึ้นมาใช้งานครั้งแรกในปี 2005 ดังนั้นเรื่องของการก่อมลพิษทั้งทางอากาศและเสียงจึงต่ำมาก ทั้งยังประหยัดพลังและประหยัดเวลาในการเปลี่ยนไปสู่การเป็นรถไฟฟ้าในระหว่างกำลังทำการติดตั้งระบบด้วย
ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถไฟ Bi-Mode เพื่อนใช้งานจริงในหลายประเทศทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่วนออสเตรเลียจะเริ่มใช้งานรถ Bi-Mode ในปี 2023 ซึ่งผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงได้แก่
🔸Hitachi Class 800 ประเทศอังกฤษ ความเร็วเฉลี่ย 200 กม./ชม.
🔸Bombardier SNCF B 82500 BMU ประเทศฝรั่งเศส ความเร็วเฉลี่ย 160 กม./ชม.
🔸Bombardier Aventra / ประเทศอังกฤษ ความเร็วเฉลี่ย 200 กม./ชม.
สำหรับประเทศไทย ตอนนี้ขั้นตอนการจัดซื้อทั้ง 184 คันอยู่ระหว่างรอการเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกันยายนและเปิดประมูลช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมกับโครงการจัดซื้อรถดีเซลราง 216 คัน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับทยอยส่งมอบเป็นล็อตให้ครบทุกคันภายในปี 2566
ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว เราจะเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่มีระบบรถไฟ Bi-Mode ใช้งาน และภายในปี 2565 ก็จะได้เห็นโฉมหน้าของรถไฟรุ่นใหม่ในประเทศไทย และรถไฟหน้าแหลมๆ ที่คนไทยอยากได้อยากมีก็จะมาวิ่งว่อนไปทั่วประเทศ
โฆษณา