19 มิ.ย. 2020 เวลา 03:39 • ปรัชญา
EP96 : สิ่งยากๆที่ต้องพบ
เ มื่ อ อ่ า น พุ ท ธ ว จ น
ทํ า ไ ม ต้ อ ง พุ ท ธ ว จ น ะ ?
ระลึกในวัยเด็กเกือบทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ยืนรอพระบิณฑบาตที่ริมถนนร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ความรู้สึกสุขใจที่ได้ทำบุญตักบาตร
1
ในวัยเรียนเกือบทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ได้เรียนวิชาศีลธรรมในเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาพุทธ และพระพุทธเจ้า และก็รู้สึกว่าพุทธเป็นเรื่องยากๆของพระสงฆ์เท่านั้น
ในวัยทำงานแนวคิดทางพุทธในวิถีขนบธรรมเนียมไทยที่ผ่านมาก็คือ มองว่าพระสงฆ์คือมุ่งสู่นิพพาน ส่วนเรานั้นคนธรรมดาก็น่าจะเป็นผู้ได้ดิบได้ดีในทางโลก ความรู้ทางพุทธก็คือรู้เพียงว่าพระพุทธเจ้าคือศาสดาผู้ตรัสรู้อริยสัจสี่ และไปทำบุญตักบาตรตามพ่อแม่ก็พอแล้ว อธิษฐานขอให้ขึ้นสวรรค์เป็นใช้ได้ ฯลฯ เป็นต้น
และเมื่อถึงวันหนึ่งจะเริ่มรู้สึกว่าแม้อายุจะมากขึ้นเรื่อยๆศาสตร์ศิลปะวิชาและประสบการณ์ทางโลกก็เพียบพร้อมทันสมัยก้าวไกลสุดๆ แต่เหมือนไม่รู้อะไรเลย เมื่อเจอเหตุการณ์สะเทือนใจเช่น เกิดอุบัติเหตุ เกิดการสูญเสียคนที่รัก ความรู้ ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทองที่สั่งสมเหมือนเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่า ในยามที่หดหู่ทดท้อเศร้าใจกับเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องปวดร้าวและเดียวดายไร้ที่พึ่งพา
เมื่อสัมผัสทุกข์ จึงนึกถึงพระธรรม ว่าเรานั้นห่างทางพ้นทุกข์ หากตายไปโดยไม่รู้ให้เป็นเรื่องเป็นราวคงจะตายไปไหนก็ไม่รู้ได้ เราคือใครกันแน่ ? ทำไมมาอยู่ตรงจุดนี้ได้ แล้วจะไหนต่อ ? ใครเป็นคนกำหนด ?
แรงจูงใจนี้จึงเดินตามหาสิ่งที่เป็นที่พึ่ง ไปนั่งกราบพระพุทธรูป สองพันกว่าปีแล้ว เราห่างจากพระองค์ จะรู้เรื่องได้อย่างไรหนอ ? สิ่งที่คิด ที่ภาวนา ต่างๆคือคำพระพุทธเจ้าจริงไหม ไช่ไหม จะพิสูจน์อย่างไรหนอ ? ฟังเทป ฟังยูทูปของพระอาจารย์ท่านต่างๆก็มีคำถามในใจเสมอ ในที่สุดมาฟัง มาอ่าน มาใคร่ครวญพุทธวจน มีคำถามในใจก็มี แต่พอได้ฟังพอได้อ่านไปหลายๆพระสูตร ภาพที่มัวมัวมืดมนเริ่มสว่างชัดขึ้นเรื่อยๆ คำตถาคตมีความไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และช่วงปลาย ระบบถ้อยคำพระองค์ปะติดปะต่อกันได้ ความสงสัยจางคลายมาเป็นความเข้าใจและหยั่งศรัทธาลงมั่นดั่งเสาที่ไม่โยกคลอน คำตถาคตเป็นความจริงไม่ไช่คำปลอบคำชม เป็นสัทธรรมให้เราเพ่งพิสูจน์ เป็นคำที่เราทำตามดูและรู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นคำจริงที่เหนือกาลเวลา เรากำลังได้มาเจอมิตรแท้ ตามที่พระองค์ตรัสไว้ “…ตถาคตและธรรมที่พระองค์บัญญัติจากการตรัสรู้เป็นกัลยาณมิตร พวกเธอจงเป็นผู้เดินตาม …ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
พึ่ ง ใ ค ร ดี ?
ในยุคที่คำพระศาสดาแพร่ขยายไปทั่วโลกเหมือนสมัยนี้ พึ่งคำจากพระโอษฐ์(พุทธวจน)
“พระไตรปิฏก”(เมืองไทยมีพระมหากษัตริย์ดีบารมีสูงส่ง กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีหลายรัชกาล มีการจัดการคัดลอกรวบรวมพระไตรปิฏกจากคณะพระสงฆ์ทั่วประเทศสยามและประเทศรอบๆในสมัยรัชกาลที่๑ซึ่งท่านทรงไปถวายน้ำปานะแด่คณะสงฆ์ที่วัดพระแก้วทุกวันในช่วงเวลาเจ็ดแปดเดือน เรามีพระไตรปิฏกฉบับหลวงพิมพ์ด้วยอักษรไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า)
“พระอริยสงฆ์” (พระสงฆ์เป็นสาวกแห่งตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง พระสงฆ์คือผู้เดินตามพระสงฆ์ไม่แต่งคำใหม่แต่นำคำพระองค์มาเผยแพร่ ฉะนั้นเมื่อเราฟังพระสงฆ์เราก็ต้องมาเปิดดูตามที่พุทธวจนะว่าไช่ไหม ปัจจุบันพระสงฆ์ที่เน้นพุทธวจนจะมีเช่น ท่านพุทธทาส ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นต้น)
สื่อยุคใหม่ สมัยนี้ใครก็ฟัง นั่งใกล้ เงี่ยโสตและจดจำ แทงตลอดในมุมคิดมุมมองถึงธรรมแห่งพุทธะได้ง่าย เช่น ยูทูป, แอพพลิเคชัน “tripitaka, พุทธวจน” ของวัดนาป่าพง เป็นต้น
อ ย า ก เ ลิ ก ง ง ต้ อ ง รี เ ซ็ ท
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า แม้เราๆจะโชคดีได้เกิดเป็นคนไทยได้อยู่ในประเทศที่ผู้เป็นประมุขให้ความสำคัญนับถือต่อศาสนาพุทธ แต่การถ่ายทอดศาสนาอาจไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ เพราะในพระไตรปิฏกเองนั้นมีเพียงประมาณสามในสิบเท่านั้นที่เป็นคำจากพระโอษฐ์ ที่เหลือเป็นการแต่งเสริมมาแต่โบราณ เมื่อแต่งเสริมมันจะขัดกันพอนำไปต่อเชื่อมโยงกลับคำพระพุทธเจ้า ผลที่ตามมาคือ งง หรือเกิดความเชื่อผิดๆ “มิจฉาทิฏฐิ” ที่สำคัญบางความเชื่อส่งผลให้เราเข้าถึงอริยสัจสี่ไม่ได้ ต้องขอให้เราวางตัวและ”ลืม”พุทธที่เคยร่ำเรียนรู้จักมาตั้งแต่วันเด็กวัยเรียน หรือ”วางใว้ก่อน” เรากำลังเข้าหลักสูตรพุทธศึกษาของจริง กำลังได้ไปพบพระองค์ผ่านสัทธรรมที่พระองค์ตรัสรู้และบัญญัติธรรมให้เราเข้าใจเข้าถึงและเดินตาม โอกาสเดียวเท่านั้นที่เราจะรอด
ย ก ตั ว อ ย่ า ง น ะ ค รั บ
ยกตัวอย่างตัวผมเอง พลบค่ำหนึ่งผมขับรถชนสุนัขที่วิ่งตัดหน้า ผมบอกตัวเอง ซวยแล้ว เดี๋ยวถึงวันหนึ่งจะต้องโดนรถชนบ้าง อาการเดียวกับเจ้าสุนัขนี่แหละ คือมีคนขับรถไม่ตั้งใจชนแบบผมนี่แหละมาชนผมเป็นแน่แท้ สัตว์โลกก็เป็นเช่นนี้สร้างกรรมอย่างไรก็จะต้องได้รับ”กรรม”อย่างนั้น เลยไปนั่งซึมอยู่ในศาลาวัดเหมือนพยายามไปอ้อนวอนไถ่บาป
แต่พอมาดูที่พระองค์บอก ท่านว่า ทำกรรมอย่างไร จะได้รับ”ผลของกรรม”อย่างนั้น ท่านว่าหากเรามีจิตและการกระทำเป็นนิสัยในการฆ่าและเบียดเบียน จะเกิดผลของกรรมคือเมื่อเกิดก็อายุจะสั้น ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้น “มนุษย์ทั้งหลายเทียบเท่าเศษดินปลายเล็บเท่านั้นที่จะกลับมาเป็นมนุษย์อีก ส่วนมนุษย์ที่เทียบดั่งดินในมหาปฐพีนั้น ลงเป็นเปรตวิสัย เดรัจฉาน สัตว์นรกทั้งสิ้น” อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเราไม่ต้องไม่ตั้งใจแต่ชนสุนัขหรอก แต่ถ้าเราไม่รู้ “อริยสัจสี่”ต่างหากที่จะออกแนวลงไปข้างล่างทั้งสิ้น ตถาคตตรัสว่า …พวกเธอเคยเป็น กษัตริย์มหาศาล มหาเศรษฐี โจรปล้นฆ่า แพะแกะไก่ เปรต สัตว์นรก มาหมดแล้ว และจะเป็นต่อไปไม่จบสิ้น แม้ทำกุศลมากได้โอกาสแสนยากไปเป็นเทวดากามภพ พอสิ้นฤทธิ์จะมาเกิดใหม่ ก็แนวเดียวกับมนุษย์ดินเสี้ยวเล็บเช่นกัน คือลงข้างล่าง และที่สำคัญข้างล่างนี่โหดร้ายทารุณ ทุกข์ทรมานแสนสาหัส แถมยังไม่มีโอกาสเห็นทางพ้นทุกข์ได้ วนเวียนใช้เวลาเป็นกัลป์ๆเลย สรุปเป็นมนุษย์ดีสุด มีโอกาสได้ศึกษาและปฏิบัติมรรคแปด
ค ว า ม ส นุ ก ใ น ก า ร ศึ ก ษ า พุ ท ธ ว จ น
การศึกษาพุทธวจนะ จะทำให้เรารู้จักพระองค์ ได้สัมผัสความปราดเปรื่อง ความเป็นสุดยอดของผู้รู้ทั้งโลกธาตุสัทธรรม ได้สัมผัสว่าพระองค์ท่านรักเรา มีคำตอบทุกเรื่องที่เราอยากรู้ความจริง (ความจริงนะไม่ไช่คำชมคำหวานให้กำลังใจ) เมื่ออ่านฟังใคร่ครวญธรรมย่อมเห็นแจ้งได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังคำพระองค์ เป็นผู้ไปแต่ทางเจริญไม่ไปทางเสื่อม ข้อระวังและอาจรบกวนจิตใจหรือเป็นความยากอีกประการหนึ่งคือ คำศัพท์ในธรรมบัญญัติของพระองค์มีความหมายตามภาษาบาลีสันกฤต บางคำมาใช้ในภาษาไทยแล้วความหมายอาจคล้ายหรือไม่เหมือน อาจต้องเสียเวลาเปิดค้นความหมายทางบาลีสันสกฤตให้เข้าใจความหมายที่แท้ด้วยครับ เช่นคำว่า “สังขาร” หมายถึงการปรุงแต่ง การคิดถึงอนาคต แต่ความนัยของการใช้ภาษาไทยปัจจุบัน สังขาร หมายถึงร่างกายที่แก่ชราลงเสื่อมลง
คำว่า “เวทนา” หมายถึง ความรู้สึก สุขทุกข์เฉยๆ แต่การใช้ภาษาไทยปัจจุบันมีความหมายนัยว่า น่าเวทนาน่าสงสาร “สัญญา” หมายถึงอาการจำได้หมายรู้ เราใช้ในความหมายการทำสัญญากัน “วิญญาณ” หมายถึงอาการรู้แจ้ง เราใช้ความหมายภูติผีปีศาจ ร่างคนตายเป็นต้น หรือบางคำเป็นศัพท์เฉพาะต้องศึกษาใหม่หมดเช่นคำว่า สฬายตน ซึ่งหมายถึง อายตนะ ภายใน๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายนอก๖ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นต้น
ผมศึกษาพุทธวจนะด้วยตนเองมาระยะหนึ่งกำลังจะครบหนึ่งปีแล้ว ผมรู้สึกตัวว่า มาถูกทางมากๆ หวังว่าเราท่านผู้เป็นนักอ่านบล็อกได้มาแวะอ่านบทนี้ของผมแล้ว ท่านอาจจะเริ่มเดินหน้าที่จะเดินตามพระองค์ ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะพระองค์นั้น
เราจะไปในทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม…
😌😌😌
โฆษณา