26 มิ.ย. 2020 เวลา 00:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อัลมอนด์กับรังผึ้งให้เช่า
อัลมอนด์ [Prunus dulcis] เป็นพืชในกลุ่มใกล้เคียงกันกับพลัม พีช และเชอรี่ โดยอัลมอนด์ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศอิหร่าน และประเทศอื่นใกล้เคียงตั้งแต่อิรัก อิสราเอล เลบานอน และถูกในไปแพร่กระจายในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาตั้งแต่ยุคโบราณ
ผลดิบของอัลมอนด์ ข้างในผลเป็นเมล็ดดิบที่อยู่ในเปลือกอีกชั้น (ที่มา By 6th Happiness, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6418061)
(ซ้าย) เมล็ดอัลมอนด์อยู่ในเปลือกแข็ง (ส่วนของ Endocarp) และ (ขวา) เมล็ดของอัลมอนด์เมื่อกระเทาะเปลือกแล้ว (CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=14210)
ส่วนของอัลมอนด์ที่เรากินเป็นอาหารนั้นคือ ส่วนของเมล็ดของอัลมอนด์ เมล็ดอัลมอนด์ถูกเก็บมาเป็นอาหารจากในธรรมชาติตั้งแต่เมื่อ 10,000 ปีก่อน และเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาปลูกเพื่อการเกษตรในแถบตะวันออกกลางเมื่อ 5,000 ปีก่อน เมล็ดอัลมอนด์นั้นถูกพบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในแถบตะวันออกกลางและบริเวณใกล้เคียง ที่มีชื่อเสียงคือ เมล็ดอัลมอนด์ถูกพบในหลุมศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen) ที่มีอายุกว่า 3,000 ปี
โดยการเก็บเมล็ดอัลมอนด์จากธรรมชาติมากินเป็นอาหารนั้น ทำให้มนุษย์มีความเสี่ยงคือ ต้นอัลมอนด์จะมี 2 แบบ คือ ต้นที่มีเมล็ดที่มีรสหวาน (Sweet almond) และเมล็ดที่มีรสขม (Bitter almond) ซึ่งทั้งสองนั้นเป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในพันธุกรรม ซึ่งต้นอัลมอนด์ขมจะออกเฉพาะเมล็ดขม ในขณะที่ต้นที่ออกเมล็ดหวานก็จะออกเฉพาะเมล็ดรสหวาน
ซึ่งเมล็ดที่มีรสขมจะมีไซยาไนด์ (Cyanide) ที่มีพิษ และสาร benzaldehyde ที่ให้รสขม โดยมีไซยาไนด์สูงกว่าอัลมอนด์หวานถึง 42 เท่า ในผู้ใหญ่ การกินเมล็ดอัลมอนด์ขมไป 50 เมล็ดอาจทำให้ตายได้ ในขณะที่ในเด็ก อัลมอนด์ขมเพียง 5-10 เมล็ดก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยจุดสังเกตของอัลมอนด์ขมคือ จะมีเมล็ดกว้างกว่า และสั้นกว่าอัลมอนด์หวาน
ภาพในศตวรรษที่ 16 แสดงการเก็บเกี่ยวอัลมอนด์ในเอเชียกลาง (ที่มา By Sur Das - [1], Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1979186)
ในปัจจุบันนั้นอัลมอนด์ที่ถูกปลูกขายจะเป็นอัลมอนด์หวานทั้งหมด แต่ในอดีต มนุษย์อาจต้องมีการเสี่ยงชีวิตในการเรียนรู้ว่า อัลมอนด์ขมนั้นมีพิษก็เป็นไปได้
ต้นอัลมอนด์ถูกนำไปปลูกทั่วไป โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญแหล่งหนึ่งคือ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาคือ เนื่องจากอัลมอนด์สายพันธุ์ที่นำมาปลูกจะต้องใช้แมลงช่วยในการผสมเกสรจึงจะติดผลได้ โดยเฉพาะแมลงในกลุ่มผึ้ง และพื้นที่การปลูกอัลมอนด์เป็นพื้นที่กว้างใหญ่มาก ทำให้แมลงในธรรมชาติมีจำนวนไม่พอที่จะช่วยอัลมอนด์ เกษตรกรจึงต้องทำการเช่ารังผึ้งมาไว้ในพื้นที่ปลูกอัลมอนด์ เพื่อให้ผึ้งมาผสมเกสรให้กับต้นอัลมอนด์ โดยรังผึ้งกว่า 1.4 ล้านรังถูกนำมาใช้ในการให้เช่านี้ ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรังผึ้งทั้งหมดที่เลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา
สวนอัลมอนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่มา By Bn100 - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6301111)
ปัญหาคือ ในปัจจุบัน ผึ้งที่เลี้ยงนั้นเกิดอาการ Colony collapse disorder ที่ทำให้รังผึ้งตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และทำให้ค่าเช่ารังผึ้งมีราคาสูงขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะผลิตต้นอัลมอนด์ที่สามารถผสมพันธ์ุในต้นหรือดอกของตัวเองให้ได้ (Self-pollinating almond tree) โดยทำการผสมอัลมอนด์สายพันธุ์ที่นิยมปลูก (สายพันธุ์ Nonpareli) แต่ไม่สามารถผสมในตัวเองได้กับสายพันธุ์ที่สามารถผสมในตัวเองได้ แต่มีผลที่คุณภาพไม่ดี มีเปลือกหนาและเมล็ดเล็ก (สายพันธุ์ Tuono)ให้ได้สายพันธุ์ที่มีเมล็ดเป็นที่ต้องการ และผสมในตัวเองได้ ทำให้อนาคตอาจจะมีการจ้างรังผึ้งมาผสมอัลมอนด์น้อยลงไปได้
ผึ้งที่กำลังผสมเกสรของดอกอัลมอนด์ (ที่มา https://pixabay.com/images/id-4433459/)
ผมเคยเขียนเรื่อง ผู้ผสมเกสรและผลของ Colony collapse disorder ไว้ครับ ใครสนใจสามารถตามไปอ่านได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
2. G. Ladizinsky (1999). "On the origin of almond". Genetic Resources and Crop Evolution. 46 (2): 143–147. doi:10.1023/A:1008690409554.
5. Mori, Alisa & Lapsley, Karen & Mattes, Richard. (2011). Almonds (Prunus dulcis). 10.1016/B978-0-12-375688-6.10019-2.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา