23 มิ.ย. 2020 เวลา 23:41 • ความคิดเห็น
เราสามารถทำให้เวลาช้าลงได้หรือไม่?
เรามักเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เวลาผ่านไปเร็วเสมอ”
และยิ่งโตมากขึ้น เราก็ยิ่งรู้สึกว่าเวลามันหมุนเดินเร็วมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งๆ ที่เวลามันก็คงที่ตายตัว
ใน 1 วันมี 24 ชม.
ใน 1 ชม.มี 60 นาที
ใน 1 นาทีมี 60 วินาที เท่ากันอยู่ตลอด
นักจิตวิทยา มาร์ก วิทท์แมน และ ซานดรา เลนฮอฟฟ์ แห่งมหาวิทยาลัย Ludwig Maximilain ได้เคยทำการทดลองความรู้สึกของคนกับเวลาในกลุ่มคนตั้งแต่อายุ 14 – 95 ปี
ผลปรากฎว่าในทุกกลุ่มช่วงอายุคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเวลาเดินผ่านไปในแต่ละวินาทีนั้นเร็วเท่าๆ กัน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เป็น 10 ปี ผลการทดลองได้พบว่าคนที่มีอายุมากกว่ามักจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้น พวกเขารู้สึกว่าเวลาในวัยเด็กนั้นผ่านไปเชื่องช้ากว่าในช่วงที่เขาโตขึ้นเข้าสู่วัยทำงาน เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือวัยชรา
มาร์ก วิทท์แมน และ ซานดรา เลนฮอฟฟ์ ได้อธิบายผลการทดลองนี้ว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงรู้สึกว่าตอนเด็กเวลาผ่านไปช้ากว่าผู้ใหญ่ นั้นเป็นเพราะว่าในตอนเด็ก เราเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อยู่ตลอดทุกเวลา ทั้งการกิน การเล่น การเรียน การสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำให้สมองของเด็กต้องบันทึกความทรงจำใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่เมื่อเราโตขึ้น เราคุ้นชินกับเรื่องต่างๆ สิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้ว ทำให้สมองของเราแทบไม่ได้จดจำเรื่องราวใหม่ๆ อะไร เมื่อย้อนกลับมานึกถึงช่วงเวลานี้จึงดูผ่านไปเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเดินทางไปในที่ที่เราไม่เคยไป เราจะตื่นตัวสังเกตสิ่งรอบข้าง เพราะเรากลัวที่จะหลงทาง สมองต้องทำงานเรียนรู้เพื่อบันทึกสิ่งใหม่ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าการเดินทางครั้งนี้นั้นยาวนาน แต่เมื่อเราคุ้นชินเส้นทางนี้แล้ว เมื่อเราเดินทางอีกครั้งเราจะรู้สึกว่า เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราแทบจะจดจำเรื่องราวเส้นทางเดิมที่ผ่านไปไม่ค่อยได้ด้วยซ้ำ
เป็นเรื่องจริงที่ว่าเวลานั้นเดินเร็วเท่าเดิมตลอด
แต่ความรู้สึกของเราเองต่างหากที่เปลี่ยนไป
อาจกล่าวได้ว่า
เวลานั้นเดินหมุนเร็ว
แต่วัยเยาว์นั้นผ่านไปเร็วกว่า
หากเราอยากรู้สึกให้เวลามันเดินช้าลง
เราต้องหันมาโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
มีสติรู้ตัวในสิ่งที่กำลังทำอยู่ตลอด การอยู่กับปัจจุบัน
จะช่วยให้ประสาทสัมผัสร่างกายของเราพร้อมเปิดรับ
ประสบการณ์ต่างๆ รอบตัว ทำให้ตอบรับสิ่งใหม่ได้ง่ายมากขึ้น
เพราะถึงเราจะทำสิ่งที่คุ้นเคย แต่มันก็ไม่มีอะไรเหมือนเดิมทุกวัน
มันจะมีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่แปรเปลี่ยนไป หากเราปล่อยผ่าน
เราจะไม่ได้สัมผัสมัน แต่หากเรามีสติอยู่กับตัว เราจะสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวใหม่เหล่านี้ได้
เราอาจต้องพาตัวเองไปพบเจอเรื่องใหม่ๆ
ไปในที่ใหม่ที่เราไม่เคยไป ไปออกนอก Comfort Zone ของตัวเอง เพื่อที่จะให้สมองของเราได้เรียนรู้ ได้เปิดรับสิ่งต่างๆ
ได้จดจำเรื่องใหม่ๆ เข้ามา การรับรู้เรื่องเวลาของเราก็จะเปิดขยายกว้างมากขึ้น แม้สิ่งใหม่เหล่านั้นอาจจะทำให้รู้สึกกลัว รู้สึกกังวล ไม่มั่นใจในตอนแรก แต่หากเราเปิดใจเรียนรู้มัน ก็ทำให้เราได้บันทึกเรื่องราว เก็บไว้เป็นประสบการณ์ ในการใช้ชีวิตได้
เราคงไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในวัยเด็กได้อีกครั้ง
ไม่อาจกลับไปสู่ความสดใส ในวัยเด็ก วัยเยาว์ได้เหมือนเดิม
แต่เราสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่เพิ่มเติมได้อยู่ตลอด
เหมือนอย่างต้นไม้ใหญ่ที่แม้เปลือกจะหยาบแข็งกระด้าง
ใบแห้งเหี่ยวร่วงโรยลงมา
มันก็ยังสามารถออกใบได้ใหม่เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง...
โฆษณา