24 มิ.ย. 2020 เวลา 12:29 • ความคิดเห็น
จีนทะลุทะลวง
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
https://www.scmp.com/news/china/society/article/2111058/china-launch-new-gps-rival-satellites-accurate-within-millimetres
พ.ศ.2562 ผมเดินทางเข้าไปเยือนหลายจังหวัดของกัมพูชา
ขณะที่จำเริญ จำเรียง ชะไรเมา ยังใช้จอบขุดดินกันจึกๆๆ ในพื้นที่เล็กๆ
ในที่เช่าแปลงใหญ่ของนักธุรกิจจีนกลับใช้แทร็กเตอร์หลายคันแล่นเวียนไปวนมาบนที่ดินโดยที่ไม่มีคนขับ และแล่นเฉียดกันเพียงนิดเดียวโดยที่ไม่ชน
สอบถามได้ความว่า นักธุรกิจจีนใช้เครื่องรับสัญญาณระบบนำทางด้วยดาวเทียม
ดาวเทียมทำให้จีนพัฒนาการเกษตรความแม่นยำสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปลูกผลหมากรากไม้ของบริษัทจีนในกัมพูชาก็จัดสรรพื้นที่การเพาะปลูก การวางแนวการปลูกและระยะห่างของต้นไม้ได้อย่างสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และระบบการระบายน้ำ ต้นไม้ทุกต้นได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ
ฟังนักธุรกิจจีนอธิบายแล้วผมก็หลับตาจินตนาการนึกถึงการเกษตรของจีนที่นำทั้งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาด มาใช้ในพื้นที่ของประเทศต่างๆ
การเกษตรของโลกในอนาคตอาจจะอยู่ในมือของกลุ่มนักธุรกิจเกษตรของจีนก็ได้
https://www.dreamstime.com/iot-smart-industry-robot-agriculture-concept-industrial-agronomist-farmer-using-autonomous-tractor-self-driving-technology-image107745029
ผมไปสาธารณรัฐโมซัมบิกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2543
โมซัมบิกเมื่อ 20 ปีที่แล้วเต็มไปด้วยป่าไม้ขนาดใหญ่ เมื่อเข้าไปในป่า ในระยะสายตายังได้เห็นต้นไม้ที่เป็นไม้เนื้อแข็งขนาดหลายคนโอบ
อีกสิบกว่าปีต่อมา ผมมีโอกาสไปในพื้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้นหายไปหมดแล้ว เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ของบริษัทจีนและมีโรงเลื่อยไม้
ผมได้รับเชิญให้ไปเยือนโรงเลื่อยและเข้าไปยังสำนักงานของบริษัทสัมปทานป่าไม้ของจีนที่อยู่ในพื้นที่
แทบไม่น่าเชื่อครับ จีนใช้ดาวเทียมสำรวจต้นไม้ในป่าของโมซัมบิกและถ่ายภาพทางอากาศมาได้เกือบทุกต้น รู้ว่าไม้ประเภทไหนอยู่ตำแหน่งใด จะตัดและลากมาโดยทางไหนที่สะดวกที่สุด
แค่ไปเยือนก็ทำให้ผมหลับตาจินตนาการเห็นภาพแผ่นดินโมซัมบิกแห้งแล้ง นี่เป็นด้านลบของเทคโนโลยีที่ใช้สำรวจเพื่อบริโภคทรัพยากรอย่างทำลายล้างรุนแรงและรวดเร็ว
ผมเดินทางในโมซัมบิกครั้งล่าสุดโดยรถยนต์ที่ใช้ระบบดาวเทียมนำทางที่บอกเส้นทางอย่างถูกต้องแม่นยำ แม้จะเป็นเส้นทางที่สร้างใหม่ก็มีบันทึกไว้เรียบร้อย
โลกเราตอนนี้มีระบบระบุตำแหน่งดาวเทียมที่แม่นยำอยู่ 6 ระบบ
ที่เราคุ้นเคยกันก็คือจีพีเอส ที่พัฒนาโดยสหรัฐ สหรัฐมีดาวเทียม 32 ดวงครอบคลุมอยู่ทั่วโลก ระบบระบุตำแหน่งของรัสเซียชื่อโกลนาสที่มีดาวเทียม 27 ดวง ส่วนของสหภาพยุโรปชื่อ กาลิเลโอ มีดาวเทียมอยู่ 30 ดวง
ระบบของญี่ปุ่นชื่อคิวซีเอสเอส มีดาวเทียมเพียง 4 ดวง ดาวเทียมของญี่ปุ่นจึงใช้งานครอบคลุมเพียงพื้นที่ในญี่ปุ่น เอเชียตะวันออก และภูมิภาคโอเชียเนีย
ของอินเดียก็มีชื่อไออาร์เอ็นเอสเอส มีดาวเทียม 7 ดวง ใช้ในพื้นที่ของอินเดียและห่างจากอินเดียไป 1,500 กิโลเมตร
ระบบระบุตำแหน่งที่ใช้ครอบคลุมได้ทั้งโลกเหมือนของสหรัฐ สหภาพยุโรปและรัสเซียคือ ‘เป๋ยโต่ว’ ที่พัฒนาโดยจีน
จีนมีดาวเทียมปฏิบัติการมากถึง 35 ดวง และมีดาวเทียมหลากหลายถึง 3 ระบบ ทั้งวงโคจรระยะปานกลาง วงโคจรเฉียง และดาวเทียมค้างฟ้า
เดิมกองทัพจีนต้องพึ่งระบบจีพีเอสที่ดำเนินการโดยกองทัพอากาศสหรัฐ
23 มิถุนายน 2563 จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่วขึ้นสู่วงโคจรของโลก กองทัพจีนเป็นอิสระจากเทคโนโลยีนำทางของสหรัฐ
https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/china-launches-2-technology-experiment-satellites/1858799#
ในอดีต จีนต้องคอยระวังไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐรุนแรง เพราะกลัวสหรัฐตัดสัญญาณจีพีเอส แต่บัดนี้เป็นต้นไป จีนมีระบบระบุตำแหน่งที่แม่นยำของตนเองแล้ว
ต่อไปเราจะเห็นการก้าวกระโดดในงานแทบทุกด้านของจีน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
การวัดน้ำทะเล อุตุนิยมวิทยา การติดตามงานเฝ้าระวังโครงสร้างตึกและสะพาน งานควบคุมเครื่องจักร การขนส่งและการจราจรอัจริยะ
แม้แต่การตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของประชาชน การนำทางรถยนต์ เรือประมง ฯลฯ
https://news.cgtn.com/news/3d3d414e32456a4e31457a6333566d54/share.html
ยิ่งจีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากเท่าใด ประเทศที่คบค้าสมาคมกับจีนก็ต้องมีระบบป้องกันตัวเองมากตามไปด้วย
การปล่อยให้นักธุรกิจจีนซึ่งมีทุนและเทคโนโลยีสูงเข้ามาแข่งขันกับคนในประเทศ
เหมือนการชกมวยระหว่างเฮฟวี่เวทกับเด็กชั้นประถม
คนพื้นถิ่นชนะจีนยาก.
โฆษณา