27 มิ.ย. 2020 เวลา 14:37 • ประวัติศาสตร์
มุมมองประวัติศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงและการให้อภัย ในเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475
หากย้อนกลับไปเมื่อ 88 ปีก่อน วันนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งเป็น 3 วันหลังคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือได้ว่าเป็นวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
เหรียญเงินที่ระลึกราษฎรได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 (เลข 3 ในเหรียญ หมายถึง เดือนมิถุนายน ซึ่ง เป็นเดือน 3 ตามปฎิทิน ไทยในขณะนั้น)
โดยก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญคือการที่คณะราษฎรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ภายหลังที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับจากหัวหินมาถึงพระนคร ในวันที่ 26 มิถุนายน 2475
โดยคณะราษฎรที่ ทรงโปรดให้เข้าเฝ้าในครั้งนั้น ประกอบด้วย
1. พลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน)
2. พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
3. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
4. พันตรีหลวงวีรโยธา (ถวิล ศิริศัพท์)
5. ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี
6. นายสงวน ตุลารักษ์
7. นายจรูญ ณ บางช้าง
พลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน)
พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
พันตรีหลวงวีรโยธา (วีระ วีรโยธา)
ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี
นายสงวน ตุลารักษ์
ซึ่งได้นำหนังสือทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย 2 ฉบับ คือ
1. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
2. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
ซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการอภัยโทษให้คณะราษฏรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้ว และทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามคำทูลเชิญของคณะราษฏร
พระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระทัยในครั้งนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างราบรื่นในระยะแรกเริ่ม
พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
และก่อนจะประกาศรัฐธรรมนูญฉบับถาวรถาวรฉบับแรกของไทยในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คณะราษฏรทั้งหมดได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อีกครั้ง เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าถวายตามประเพณี และพระยาพหลเป็นตัวแทนกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัย โดยมีเนื้อความที่กล่าวถึง “ประกาศคณะราษฎร” โดยตรงว่า
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
“การที่พวกข้าพระพุทธเจ้า ได้ประกาศกล่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลงด้วยถ้อยคำอันรุนแรงกระทบกระเทือนถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ด้วยมุ่งถึงผลสําเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชในพระบรมวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้ทรงมีส่วนน่าความเจริญมาสู่ประเทศสยามตามกาลสมัย บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนี้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบสองในถ้อยคำที่ได้ประกาศไป”
คณะราษฎรแจ้งข่าวและประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประชาชนทรทบในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
หลังจากนั้นพระปกเกล้ามีพระราชดำรัสตอบ ซึ่งนอกจากจะพระราชทานอภัยแล้วยังตรัสชื่นชมที่สมาชิกคณะราษฎรได้กล่าวแก้ไขความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จักรีข้างต้น
“ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้คิดมาทำพิธีขอขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้ามิได้ร้องขออย่างใดเลย การที่ท่านทำเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติยศแก่ท่านเป็นอันมาก เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่ามีธรรมในใจ และเป็นคนที่สุจริตและใจเป็นนักเลง เมื่อท่านรู้สึกว่า ได้ทำอะไรที่เกินไปพลาดพลั้งไปบ้าง ท่านก็ยอมรับผิดโดยดีและโดยเปิดเผย การกระทำเช่นนี้เป็นของที่ทำยาก และต้องใจเป็นนักเลงจริงๆ จึงจะทำได้ เมื่อท่านได้ทำพิธีเช่นนี้ในวันนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่าการใดที่ท่านได้ทำไปนั้น ท่านได้ทำไปเพื่อหวังประโยชน์แก่ประเทศแท้จริง ท่านได้แสดงว่าท่านเป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญทุกประการ ท่านกล้ารับผิด เมื่อรู้สึกว่าตนได้ทำการพลาดพลั้งไป ดังนี้, เป็นการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้ใจในตัวของท่านยิ่งขึ้นอีกเป็นอันมาก ในข้อนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอันมาก”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2475
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปครอง 2475 ทุกวันนี้เป็นมุมมองที่ถูกแต่งเติมด้วยความรู้สึกทางการเมืองในมิติปัจจุบัน มีทั้งความรัก ความเกลียดชัง แต่สิ่งสำคัญคือการย้อนกลับไปศึกษาที่เอกสารชั้นต้นเหล่านั้น
การมองประวัติศาสตร์ด้วยความเป็นกลางทั้ง 2 ด้าน อาจช่วยให้เรารู้จักการให้อภัยและอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายและความแตกต่างนี้ได้มากยิ่งขึ้นก็เป็นได้....
อ้างอิง
โฆษณา