30 มิ.ย. 2020 เวลา 14:24 • ธุรกิจ
เมื่อตลาดหุ้นเปิดช่วงสายของวันจันทร์ คุณพบว่าหุ้น A ที่ซื้อมาเมื่อวันศุกร์มีราคาเพิ่มขึ้น 0.98%
คุณจะจัดการเจ้าหุ้น A แบบไหนครับ?
ขายเลยแล้วกัน เอากำไร 0.98% ชัวร์ ๆ ไปก่อน ถ้าช่วงบ่ายราคาตกจะยุ่งกันยกใหญ่
คุณมีเหตุผลร้อยแปดมาประกอบการตัดสินใจที่จะขายหุ้น A
สมมติสถานการณ์กลับกันบ้างครับ ช่วงสายของวันจันทร์เวลาเดิม คุณพบว่าหุ้น A ราคาลดลง 1.5%
คำถามเดิมครับ คุณจะจัดการเจ้าหุ้น A ต่อไปยังไง?
ถือไว้ก่อนแล้วกัน เผื่อช่วงบ่ายราคามันวิ่งกลับมา
อีกเช่นเคยครับ คุณมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าเพื่อบอกว่าจะยังไม่ขายหุ้น A นะ
เรื่องแบบนี้เกิดทุกวงการครับ เพราะมันเป็นพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์เลยทีเดียว!!
เราจะเป็นพวก “risk-averse” เมื่อมีทางเลือกที่ได้กำไรชัวร์ ๆ กับทางเลือกที่อาจจะได้กำไร ซึ่งเราจะชอบทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์แน่นอนในกรณีนี้
หรือกลัวไม่ได้กำไรนั่นแหละครับ
แต่จะกลายเป็นพวก “risk-seeking” เมื่อทุกทางเลือกของเรามันแย่ไปหมด เลือกทางไหนก็ดูเหมือนจะต้องเสียเงิน จึงยอมเสี่ยงกับทางเลือกที่ไม่แน่นอน
กลับกันกับตอน "risk-averse" เลยนะครับ
ถ้าเทียบกับสถานการณ์หุ้น A จะได้ว่า “ขายตอนนี้ก็ขาดทุน ถือต่อก็ขาดทุน งั้นขอเสี่ยงถือต่อสักหน่อยแล้วกัน”
ลองมาดูเหตุการณ์สมมติกันอีกครับ
มีตัวเลือก (1) ได้รับ 900 บาท ชัวร์ ๆ (2) มีโอกาส 90% ที่จะได้ 1000 บาท และโอกาส 10% ที่จะไม่ได้สักบาท
คุณจะเลือก (1) หรือ (2) ครับ?
ผลลัพธ์โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่จะเลือก (1) ชอบความชัวร์ ทั้ง ๆ ที่ตัวเลือก (2) มีโอกาสสูงมากที่จะได้ 1000 บาท แต่ต้องแลกกับความเสี่ยง 10% ที่จะไม่ได้สักบาทเลย
ถ้ากลับกันบ้าง มีตัวเลือก (1) เสียเงิน 900 บาท ชัวร์ ๆ (2) โอกาส 90% ที่จะเสียเงิน 1000 บาท และโอกาส 10% ที่จะไม่เสียสักบาท
คุณจะเลือก (1) หรือ (2) ครับ?
ผมไม่รู้หรอกว่าคุณเลือกอะไร แต่คนส่วนใหญ่จะเลือก (2) ยอมเสี่ยงที่เสียเงิน 1000 บาท เผื่อดวงดีไปโดนตรง 10% จะได้ไม่ต้องเสียสักบาท
ลองเทียบกับหุ้น A ดูนะครับ สมมติว่าขณะนี้ราคาหุ้น A ทำคุณขาดทุนอยู่ที่ 1.5%
คุณจะมีทางเลือก (1) ขาย A ทันที ซึ่งขาดทุนชัวร์ ๆ (2) ถือต่อไปอาจจะไม่ขาดทุน หรือขาดทุนต่อไปอีกก็ได้
คุณจะเลือก (1) หรือ (2)? ทางเลือกคุ้น ๆ ไหมครับ?
ลองคิดกลับกันในกรณีหุ้น A ได้กำไร 0.98% ดูเองนะครับ
ถึงตรงนี้คงพอจะยืนยันเหตุการณ์ในตลาดหุ้นได้พอสมควร
ถ้าจะสรุปอย่างสั้นจะได้ว่า นักลงทุนไม่ขอเสี่ยงที่จะได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่ขอลองเสี่ยงหน่อยเถอะ ถ้ามันขาดทุน!!
ลองมาดูเกมสมมติกันต่อ เมื่อผมชวนคุณเล่นเกมโยนเหรียญ ถ้าออกหัวคุณจะเสีย 100 บาท ถ้าออกก้อยคุณจะได้เงินตามรูปด้านล่าง คำถามก็คือ ต้องได้ผลตอบแทนขนาดไหนคุณถึงยอมเล่นเกมนี้?
ลองเลือก (a) - (f) ดูนะครับ
ผมเดาว่าคุณน่าจะเลือก (e) หรือ (f) ละมั้ง ถ้าถูกก็ไม่ต้องปรบมือให้ผมหรอกครับ
เพราะมีการศึกษาเรื่องนี้จึงพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราจะยอมเล่นเกมแบบนี้กันก็ต่อเมื่อได้ผลตอบแทนประมาณสองเท่าของตัวเลือกที่เสียเงิน
สองเท่าเลยเหรอ!! จริงไหมลองถามใจตัวเองดูนะครับ
เห็นได้ชัดเลยว่า เรามองภาพ “การสูญเสียเงิน” ออกมาเป็นคนละภาพกับ “การได้รับเงิน”
เราให้ค่ามันไม่เท่ากัน!!
เราให้ค่า “การได้รับ” ไม่เท่ากับ “การสูญเสีย” แม้ว่าปริมาณ “การได้รับ” จะมากกว่าปริมาณ “การสูญเสีย” ก็ตาม
เราไม่ชอบ “การสูญเสีย” มากกว่าชอบ “การได้รับ”
ตามตำราจะเรียกพวกเราว่าเป็นประเภท “loss aversion” ครับ
จำเหตุการณ์สมมติแรกสุดได้ไหมครับ ส่วนหนึ่งที่ไม่ “cut losses” หุ้น A กันก็เพราะ “loss aversion” นี่แหละ!!
ผมลืมบอกไปว่าเรื่องพวกนี้ก็คือ “prospect theory” ที่เคยเกริ่นไว้ในโพสต์ก่อนหน้านั่นเอง
(เกริ่นไว้โพสต์ไหนลองหาอ่านดูนะครับ)
“prospect theory” มีรายละเอียดอีกพอสมควร
แต่ผมคงขอพอไว้เท่านี้ก่อน ขอไปจัดการกับเจ้าหุ้น A จอมวายร้ายสักหน่อย
1
ถ้าอยากอ่าน “prospect theory” เพิ่มเติมแนะนำให้อ่านหนังสือ…
1
หนังสืออะไรดูในอ้างอิงได้เลยครับ
แต่อย่าเพิ่งข้ามไปดูอ้างอิงครับ!! ผมขอพากลับมาที่หุ้น A กันอีกรอบ เห็นข้อแตกต่างอะไรไหม?
ใช่ครับ จากเหตุการณ์สมมติทั้งหมด เรารู้โอกาสและปริมาณที่จะได้รับ หรือสูญเสียอย่างชัดเจน แต่ในตลาดหุ้น นักลงทุนไม่มีทางรู้ว่าจะได้กำไรเพิ่มขึ้นเท่าไร และโอกาสเป็นเท่าไร หากตัดสินใจถือหุ้น A ต่อไป
ดังนั้น **การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน**
อ้างอิง
- หนังสือ “Thinking, Fast and Slow”, Daniel Kahneman
ผลของ “disposition effect” กับการตัดสินใจในตลาดหุ้น
การตัดสินใจที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในตลาดหุ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา