3 ก.ค. 2020 เวลา 12:29 • ธุรกิจ
เปิดเส้นทางค่าเงินบาท และระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลก
ครบรอบ 23 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของค่าเงินบาท คือการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการผูกค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในระบบ “Fixed Exchange Rate” จนกระทั่งการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ไทยจึงหันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ “Managed Float” เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเดินซ้ำรอยเดิมเช่นเดียวกับตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง …
เพื่อเป็นการย้อนความทรงจำ วันนี้ FX insight จะพาไปดูว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลกมีกันกี่แบบ เราเป็นแบบไหน และดูแลกันอย่างไร
1. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating Exchange Rate Regime)
1.1. ระบบลอยตัวแบบเสรี (Free Float) : ค่าเงินจะขึ้นอยู่กับแรงซื้อ (Demand) และแรงขาย (Supply) ของสกุลเงินนั้นๆ เพียงเท่านั้น เนื่องจากธนาคารกลางจะไม่เข้าดูแลหรือแทรกแซงค่าเงินเลย (ปล่อยเสรี) แต่ก็อาจจะใช้นโยบายอื่นที่มีผลต่อค่าเงินทางอ้อม เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ การทำ Quantitative Easing
ประเทศ : ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีตลาดเงินตราต่างประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ แคนาดา
1.2. ระบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) ระบบนี้จะมีความคล้ายระบบ Free Float ตรงที่ค่าเงินยังคงเปลี่ยนแปลงตามแรงซื้อและแรงขายในตลาด แต่ต่างกันตรงที่ธนาคารกลางอาจมีการเข้าไปแทรกแซงดูแลค่าเงิน หากเห็นว่าค่าเงินอ่อนค่า แข็งค่าหรือผันผวนมากจนเกินไป โดยธนาคารกลางก็จะเข้าทำการซื้อ (ต้องการให้แข็ง) และขาย (ต้องการให้อ่อน) สกุลเงินนั้นๆ ในตลาด
ประเทศ : ระบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง และเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ บราซิล รวมถึงประเทศไทย
2. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed / Hard Pegged Exchange Rate Regime)
ค่าเงินในระบบนี้จะ คงที่ ตามที่ธนาคารกลางประเทศนั้นๆ ได้ประกาศไว้ โดยอาจอ้างอิงกับสกุลเงินต่างประเทศสกุลเดียว หรือ หลายสกุล(ตะกร้าเงิน) ก็ได้ ทั้งนี้ การจะทำให้ค่าเงินนั้นคงที่อยู่ได้ ธนาคารกลางจะต้องเข้าแทรกแซงตลาดอย่างต่อเนื่อง ผ่านการซื้อ/ขายสกุลเงินเหล่านั้นในตลาด ดังนั้นธนาคารกลางจำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองที่มากเพียงพอที่จะรักษาให้ค่าเงินคงที่อยู่ได้
ประเทศ : ประเทศไทยก่อนปี 2540 หากเลือกที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนนี้
3. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นจำกัด (Soft Pegged Exchange Rate Regime)
ระบบนี้คือการผสมระหว่างสองระบบข้างต้นเข้าด้วยกัน (1 และ 2) คือ ค่าเงินจะถูกกำหนดไว้แต่ยังคงสามารถเคลื่อนไหวได้บ้าง ภายใต้กรอบ (range) ที่ธนาคารกลางขึ้นมา ซึ่งในระบบนี้ ต้องอาศัยการแทรกแซงตลาดโดยธนาคารกลางเช่นกัน เพื่อให้ค่าเงินอยู่ภายในกรอบที่กำหนด แต่จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าระบบ Fixed Exchange Rate
ประเทศ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ซาอุดิอาระเบีย
ข้อมูลประกอบความเข้าใจ
ถ้าบาทแข็ง แปลว่า มี demand เงินบาทเยอะ ธนาคารกลางก็จะเข้าไปขายเงินบาท ซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งมากจนเกินไป เงินดอลลาร์ที่ได้มาจะเก็บไว้เป็น “ทุนสำรองระหว่างประเทศ”
ถ้าบาทอ่อน แปลว่า demand เงินบาทน้อย ธนาคารกลางก็จะเข้าไปซื้อบาท โดยขายเงินดอลลาร์จากทุนสำรองฯ เพื่อไม่ให้บาทอ่อนค่าจนเกินไป
#ค่าเงินบาท #เคยfixแต่ตอนนี้float #บาทนี้ไม่มีใครกำหนด #แข็งอ่อนตามdemand #ค่าเงินบาทไปตามตลาดจ้า
โฆษณา