8 ก.ค. 2020 เวลา 13:00 • การเมือง
การเมืองสิงคโปร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
กองทัพญี่ปุ่นกับการโจมตีแหลมมลายู
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เกาะสิงคโปร์ใต้อาณัติของจักรวรรดิอังกฤษไม่สามารถต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ จึงถูกญี่ปุ่นยึดครองได้สำเร็จหลังจากการประสบชัยชนะในการถล่มอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ สหรัฐอเมริกาได้ 1 ปี ไม่ใช่แค่สิงคโปร์เท่านั้น ดินแดนแถบมลายูแทบทั้งหมดก็ถูกโจมตีและยึดครองโดยญี่ปุ่นได้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นกัน เนื่องจากกองทัพอังกฤษในอาณานิคมแหลมมลายูนั้นต้องเข้าไปสนับสนุนยุทธการทางทหารในแถบยุโรปและตะวันออกกลางจำนวนมาก ดังนั้นด้วยกำลังพลที่ลดลงและอ่อนแอลง ยุทโธปกรณ์ที่ไม่พร้อมในเอเชียจึงมิอาจรับมือการรุกรานของแดนอาทิตย์อุทัยได้
กองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ยอมแพ้ญี่ปุ่นในปี 1942
ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่น สิงคโปร์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโชนัน มีความหมายว่าแสงแห่งแดนใต้ แม้ผู้ปกครองใหม่จะเข้าแทนที่ แต่การปกครองของญี่ปุ่นก็ไม่ต่างอะไรกับเจ้าอาณานิคมในยุคก่อน เข้ามาหาผลประโยชน์ สูบทรัพยากรต่างๆเพื่อสนับสนุนการทหาร เศรษฐกิจของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อเป็นทุนในการทำสงคราม ประชาชนอดอยาก พ่อค้าโดนขูดรีด ต้องสนับสนุนการเงินของกองทัพญี่ปุ่น พ่อค้าที่เห็นโอกาสก็รับมือกับทหารญี่ปุ่นเปิดค้าตลาดมืด เป็นการปกครองเบ็ดเสร็จภายใต้ทหารโดยสมบูรณ์
ปี 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลก ผู้ปกครองอังกฤษจึงกลับมาสิงคโปร์อีกครั้ง เมื่อสิ้นสุดสงคราม ผู้คนคาดหวังว่าอะไรๆจะดีขึ้นหลังฝันร้ายกับการยึดครองของญี่ปุ่น แต่ความสงบสุขสันตินั้นกลับไม่ง่ายดังที่ผู้คนในสิงคโปร์คาดหวัง ภายใต้การปกครองโดยกองทัพอังกฤษ ทหารอังกฤษเดินขวักไขว่ทั่วเมือง นัยยะหนึ่งนั้นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาวสิงคโปร์เอง
คณะผู้แทนญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1945
จากสิ่งที่ญี่ปุ่นฝากไว้ในช่วงสงคราม สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน ทั้งทางการเมือง เศษรฐกิจ สังคม เต็มไปด้วยอาชญากรรม ความอดอยากแร้นแค้น แม้สิงคโปร์ภายใต้อังกฤษนั้นจะเริ่มรับอิทธิพลความเจริญทางตะวันตก เช่น ธุรกิจคาเฟ่ บาร์ โรงละครคาบาเร่ ก็ตาม และด้วยกระแสโลกที่เปลี่ยนไปหลังสงคราม ความเหลื่อมล้ำในอำนาจ ระบบผู้ปกครองเจ้าอาณานิคมต้องเผชิญปัญหาความตกต่ำ การเมืองในหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวของแนวคิดสังคมนิยมเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ผู้ปกครองอังกฤษตระหนักการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายูซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสหภาพแรงงานที่เรียกร้องความยุติธรรมและความล้มเหลวในการปกครองของอังกฤษ ด้วยการเคลื่อนไหวนี้เองผู้ปกครองอังกฤษเปลี่ยนรูปแบบการปกครองใหม่ก่อตั้งสหภาพมาลายาปกครองดินแดนทั้งหมดของแหลมมลายู ส่วนสิงคโปร์ให้เป็นอาณานิคมในพระองค์แยกออกมาจากสหภาพ แต่ชาวมลายูพื้นเมืองที่ต้องการลดทอนอำนาจของอังกฤษและเพิ่มการมีส่วนรวมของนักการเมืองชนพื้นเมือง จึงก่อตั้งพรรค UMNO หรือองค์การมลายูรวมแห่งชาติขึ้นเพื่อยันผู้ปกครองอังกฤษ
สภานิติบัญญัติสิงคโปร์ในปี 1948
ในส่วนของสิงคโปร์เองนั้น ในปี 1948 มีการเลือกตั้งครั้งแรกโดยรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยอำนาจจาการแต่งตั้งโดยผู้ปกครองอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ ซึ่งผู้แนที่ทำการเลือกตั้งนั้นมีจำนวนแค่ 6 ที่นั่งเท่านั้น 3 เก้าอี้โดยผู้แทนพรรคก้าวหน้า ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นหัวอนุรักษ์นิยมที่ได้รับการศึกษา จบเนติอังกฤษ ปัญญาชนกลุ่มนี้เห็นว่าสิงคโปร์ควรได้รับเอกราชอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอีก 3 เก้าอี้โดยผู้แทนอิสระ 6 ผู้แทนจากการเลือกตั้งนั้นแทบไม่มีอะไรใหม่สำหรับสิงคโปร์ เนื่องด้วยการจำกัดเสียงคนท้องถิ่นนั้นก็มีมาตั้งแต่อาณานิคมยุคก่อนมานานแล้วนั่นเอง
เมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษกลับมาอีกครั้งหลังสงครามโลก แม้โจทย์การเมืองประเทศจะเปลี่ยนไป กระแสของการเรียกร้องการปกครองตนเองประกาศเอกราชจะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น แต่รัฐบาลซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มชนชั้นนำเจ้าอาณานิคมก็ยังพยายามผลักดันการปิดกั้นทางความคิดของชาวสิงคโปร์ เช่นการสนับสนุนโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ แต่ไม่สนับสนุนโรงเรียนของคนสิงคโปร์ เช่น โรงเรียนสอนภาษาจีน ภาษามาเลย์ เป็นต้น พยายามต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ อาจเพื่อชะลอการประกาศเอกราชของคนท้องถิ่นนั่นเอง
เดวิด มาร์แชล (David Marshall) ผู้นำพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งในปี 1955
ปี 1955 พรรคแรงงานนำโดย เดวิด มาร์เแชล (David Marshall) สามารถเอาชนะได้ 10 ที่นั่ง จาก 25 ที่นั่งผู้แทนในสภานิติบัญญัติ เนื่องจากพรรคแรงงานชูนโยบายเรียกร้องเอกราชโดยเร็ว ต่อต้านเจ้าอาณานิคม ผลักดันนโยบายเพื่อชาวสิงคโปร์ในกลุ่มชนชั้นล่าง และชนชั้นกลาง เรียกร้องการไม่เลือกปฎิบัติต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติภาษา พรรคก้าวหน้าซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เห็นดีเห็นงามกับเจ้าอาณานิคม ภายหลังผู้นำพรรคก้าวหน้ามากได้ฉายา "ชาวจีนขององค์ราชินี" ได้เก้าอี้แค่ 4 ที่นั่งเท่านั้น ชัยชนะของพรรคแรงงานนั้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายต่อต้านเจ้าอาณานิคม และส่วนหนึ่งมาจากการตื่นรู้และตื่นตัวของชาวสิงคโปร์ที่มีต่อการเมืองมากขึ้น และผู้มีสิทธิใช้เสียงมีเพิ่มมากขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เดวิด มาร์แชลนั้นเป็นชาวยิวในสิงคโปร์ที่ได้รับการศึกษากฎหมายจากอังกฤษ เคยร่วมพวกใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น แต่ถูกจับเป็นเชลยสงคราม ต้องทำงานเหมืองถ่านหินในฮอกไกโด ภายหลังสงครามได้รับการปลดปล่อยตัว จึงเริ่มก่อตั้งกลุ่มการเมืองต่อต้านอังกฤษขึ้นมาจนเป็นพรรคแรงงาน (Labour Front Party)
มาตรว่าเป็นชัยชนะของเสียงชาวสิงคโปร์ภายใต้อังกฤษก็ตาม รัฐบาลนำโดย เดวิด มาร์แชล ต้องเผชิญกับปัญหาตึงเครียดตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสิงคโปร์ ซึ่งต้องการให้สิงคโปร์เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ รวมทั้งตลอดแหลมมลายู ปัญหาการเรียกร้องการขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานจนลุกลามเป็นการประท้วง โดยมีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมม๊อบเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตทั้งแรงงานและนักเรียน
เดวิด มาร์แชลให้สัมภาษณ์ที่สานามบินลอนดอนว่าด้วยการเจรจาการขอปกครองตนเอง
และปัญหาสำคัญของรัฐบาลนี้คือไม่สามารถหลุดพ้นจากการครอบงำอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมได้ แม้ว่าตอนหาเสียงจะประกาศต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษก็ตามที เมื่อผู้ปกครองเกาะสิงคโปร์ เซอร์ โรเบิร์ต แบล็ค (Robert Black) ไม่ยอมให้เดวิด มาร์แชลตั้งรัฐมนตรีทั้งสี่คน มาร์แชลจึงยื่นคำขาดว่าหากอังกฤษไม่ยอม ตนจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล คำขู่ครั้งนี้ทำให้เกิดการเจรจาต่อรองอำนาจระหว่างเจ้าอาณานิคมกับรัฐบาลที่กรุงลอนดอนถึงการปกครองตนเองของสิงคโปร์ รัฐธรรมนูญ และอนาคตของสิงคโปร์ โดยอังกฤษเองเสนอขอมีอำนาจเต็มในด้านกิจการต่างประกาศและความมั่นคงสิงคโปร์ จากแต่เดิมที่มีอำนาจเต็มในทุกด้าน ทว่าการเจรจาล้มเหลว เพราะมาร์แชลปรารถนาจะได้อำนาจเต็มในการปกครองตนเองโดยไม่ให้อังกฤษแทรกแซงเลย เดวิด มาร์แชลจึงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลในปี 1956 โดยมี ลิมยิวฮ็อค (Lim Yew Hock) หรือ หลินโหย่วฝู (林有福) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานรับช่วงต่อจากเดวิด มาร์แชล
ลิมยิวฮ็อค หนึ่งในคณะเจรจาของมาร์แชล ซึ่งเพิ่งกลับมาจาการเจรจาที่ลอนดอน
สิงคโปร์โดยรัฐบาลพรรคแรงงาน ไม่ว่าจะมาร์แชลหรือลิม สร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ไม่สามารถทำได้ตามที่ชาวสิงคโปร์ผู้ต่อต้านคาดหวังได้เลย รัฐบาลสมัยลิวยิวฮ็อคประกาศนโยบายแข็งกร้าวต่อฝ่ายซ้ายจัด คอมมิวนิสต์ และผู้ต่อต้านรัฐบาลภายใต้กฎหมายความมั่นคง จับกุมผู้นำแรงงาน ผู้นำสหภาพกลุ่มการค้า และกลุ่มคอมมิวนิสต์ในพรรคกิจประชา (People's Action Party) นโยบายต่อต้านเจ้าอาณานิคมเริ่มผ่อนคลาย หันมาสร้างสัมพันธ์กับอังกฤษเพื่อฐานอำนาจการเมือง
ลีกวนยู หัวหน้าพรรคกิจประชา
จึงทำให้ในปี 1959 การเลือกตั้งครั้งใหม่นั้น พรรคกิจประชานำโดย ลีกวนยู (Lee Kuan Yew) หรือ หลี่กวงเย่า (李光耀) เอาชนะ 43 เก้าอี้ใน 51 เก้าอี้ผู้แทนสภานิติบัญญัติ ลิมยิวฮ็อคที่นำกลุ่มพรรคการเมืองใหม่ในนาม พันธมิตรประชาชนสิงคโปร์ ชัยชนะของลีกวนยูมาจากความนิยมตกต่ำของลิมยิวฮ็อคที่หันมาคบค้าสมาคมกับอังกฤษแทนการผลักดันเอกราช ต่อต้านเจ้าอาณานิคม และที่สำคัญคือการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้ชาวสิงคโปร์หันมานิยมลีกวนยูผู้ที่ชัดเจนต่ออุดมการณ์ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่นั่นเอง
โฆษณา