10 ก.ค. 2020 เวลา 22:09 • ท่องเที่ยว
เดินเล่นจริงจัง @ Bangkok China Town
ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร มักจะอยู่ในพื้นที่เจริญกรุง และที่ขึ้นชื่อคือ “เยาวราช” อันเป็นชุมชนที่ชาวจีนในยุคเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีน ที่หนีความแร้นแค้นยากจน เข้ามาพึงพระบรมโพธิสมภาญณ์ในแผ่นดินทองของไทย และก่อร่างสร้างตัว ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง หนักเอา เบาสู้ จนกลายเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวย มีกิจการทางธุรกิจที่ใหญ่โตของสังคมไทยในปัจจุบัน
คนจีนโพ้นทะเลเมื่อวันวาน ได้นำวิถีชีวิตด้านต่างๆติดตัวเข้ามา ทั้งความเชื่อด้านศาสนา อาหารการกิน การแสดงทางวัฒนธรรม …
หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของเมืองกรุงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่าร้อยปีเป็นวิถีชีวิตของย่านการค้า ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตกระดาษไหว้เจ้าที่เก่าแก่ สินค้าประเพณีในความเชื่อชาวจีน ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานคร
บรรยากาศที่นี่มีเอกลักษณ์ด้วยตึกรามบ้านช่องที่ยังเป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ด้วยเหตุที่พื้นที่เจริญกรุงนี้มีมาก่อนที่เยาวราชจะถือกำเนิด วัฒนธรรมประเพณีตรงนี้จึงเป็นย่านเก่าของไชน่าทาวน์ก่อนเยาวราชที่ทั่วโลกรู้จัก .. วิถีชีวิตและอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนที่เปี่ยมคุณค่าทางวัฒนธรรม เปี่ยมอัตลักษณ์ของไชน่าทาวน์เยาวราชที่คนทั่วโลกรู้จัก มีอาทิเช่น งานตัดกระดาษที่ใช้ในประเพณีจีน ร้านอาหารสูตรโบราณรสเลิศ ร้านขายยาสมุนไพรจีน
ในปี พศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผ่านสำเพ็ง บางรัก ไปจนถึงบางคอแหลม ตามคำร้องขอจากกงสุลของประเทศต่างๆ และพระราชทานนามว่า “ถนนเจริญกรุง” และชาวต่างประเทศเรียก “New Road”
การสร้างถนนเจริญกรุงแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรก คือ ถนนเจริญกรุงตอนใน เริ่มต้นที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปจนถึงสะพานเหล็ก (สะพานดำรงสถิต) กว้าง 4 วา หรือ 8 เมตร
.. ตอนที่สองเรียก ถนนเจริญกรุงตอนนอก เริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงไปจนถึงฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลดาวคะนอง กว้าง 5 วา 2 ศอก หรือ 11 เมตร เป็นระยะทาง 25 เส้น 10 วา 2 ศอก … สิ้นค่าก่อสร้างถมดินทำถนน และทำท่อน้ำสองข้างถนน เป็นเงิน 19,700 บาท
ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างตึกแถวชั้นเดียวตลอด 2 ฟากถนนตามแบบอย่างตึกแถวในประเทศสิงคโปร์ และพระราชทานแก่พระราชโอรส พระราชธิดา เพื่อเก็บผลประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าตึกแถวร้านค้าของชาวจีน และชาวต่างประเทศ ทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าสองฟากถนนเจริญกรุงนับแต่นั้นมา
ในปี พศ. 2414 มีการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาสขึ้น และมีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยในยริเวณนี้เป็นจำนวนมาก
ต่อมาในปี พศ. 2430 กิจการรถรางได้ถือกำเนิดขึ้น ในระยะแรกใช้รถลาก และได้เปลี่ยนเป็นรถรางไฟฟ้าในปี พศ. 2437 ก็ยิ่งทำให้พื้นที่นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกมาก มีการสร้างอาคารบ้านเรือน ตึกแถวทรงยุโรปขึ้นจนเต็มพื้นที่
“สถานี MRT วัดมังกร”
… หากยังมีภาพจำของสถานีรถไฟใต้ดินแบบเก่าๆ ก็ต้องลบความจำนั้นทิ้งไปได้เลย เพราะสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน วัดมังกร ได้ปฏิวัติภาพนั้นออกไปอย่างสิ้นเชิง และออกแบบสถานีด้วยคอนเซปต์ใหม่ ที่เก๋ไก๋
สถานีแห่งนี้อยู่ใกล้กับ วัดมังกรกมลาวาส และย่านเยาวราช ซึ่งเป็นย่านที่ผสมผสานสไตล์จีนและยุโรปในการสร้างอาคารต่างๆ … เมื่อเดินออกมาจากขบวนรถเราจึงสามารถสัมผัสถึงความเป็นจีนได้ทันที
รายละเอียดตกแต่งภายในสถานี ได้มีการนำสถาปัตยกรรมสไตล์ และลวดลายและจิตรกรรมจีนผสมผสานกับรูปแบบยุโรปมาใช้ในการสรรค์สร้าง แต่ยังเข้ากับบรรยากาศของคนในพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างเยาวราชได้อย่างกลมกลืนแบบสุด ๆ โดยการเลือกใช้สีแดงเป็นหลัก … รวมถึงการนำสัตว์ในตำนานความเชื่อของคนจีน คือ “มังกร” มาเป็นตัวดำเนินเรื่องราว
วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)
วัดเล่งเน่ยยี่ เยาวราช หรือ วัดมังกรกมลาวาส … ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 เป็นวัดจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการมาไหว้พระ ขอพร แก้ปีชง
ตามความเชื่อของคนจีนแล้ว มังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบไปด้วยส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนหาง ซึ่งส่วนหัวมังกรก็อยู่ในวัดแห่งนี่เอง ทำให้ในแต่ละวันมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาไหว้พระ ขอพร รวมถึงแก้ชงกันที่วัดมังกรแห่งนี้
วัดมังกรนี้ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 ใช้เวลาถึง 8 ปีในการสร้าง ตัววัดมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋วตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ... ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้านั่นเอง
บ้านเก่าเล่าเรื่อง
หลังนี้เดิมเป็นที่อยู่และทีฝึกซ้อมของคณะงิ้ว “เฮียเฮง” ซึ่งเป็นคณะงิ้วที่รับแสดงตามเทศกาลงานประเพณีประจำศาลเจ้าต่างๆ ซึ่งจะมีการตกลงว่าจ้างกันข้ามปี
รวมไปถึงการแสดงที่เรียกว่า “จั๋วเอี้ย” ซึ่งเป็นการขับร้องเพลงงิ้วพร้อมการบรรเลงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องเล่น 3 ชิ้น คือ ขิม ซอ และกลองเล็ก แต่กายด้วยชุดธรรมดา คณะหนึ่งจะมีราว 15 คน นิยมแสดงตามร้านอาหาร สถานที่เล่นไพ่นกกระจอก ที่เจ้าของสถานที่ว่าจ้างให้ไปแสดง
วัดไตรมิตรวิทยาราม
วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ถนนตรีมิตร แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า "วัดสามจีน" เข้าใจกันว่า ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ
ในปี พ.ศ. 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปี พ.ศ. 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ "วัดไตรมิตรวิทยาราม" ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณวัด
พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโต” บ้าง “หลวงพ่อวัดสามจีน” มีประชาชนมาบนบานกันเสมอ ๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก “หลวงพ่อโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เคยได้ทำพระเครื่องแจกครั้งหนึ่ง ได้ทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณสร้างด้วยเนื้อชิน เรียกชื่อว่า หลวงพ่อโตวัดสามจีน ปรากฏว่าเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่งไปว่าศักดิ์สิทธินัก ปัจจุบันนี้หายากแล้ว
สิ่งสำคัญของวัด คือ พระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99%
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม)
ต่อมาบริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อัญเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
Ref : Wikipedia
ตลาดเก่าเยาวราช
ตลาดเก่าเยาวราช เป็นแหล่งค้าขายสินค้ามากชนิดที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายจีน เช่น ร้านขายยา ร้านอุปกรณ์เครื่องเซ่นไห้บรรพบุรุษ เครื่องใช้ ร้ายทอง และอื่นๆอีกมากมาย
ย่านเยาวราชมีร้านอาหารอร่อยๆเยอะมาก ตั้งแต่เหลาอาหารจีนชั้นดี ไปจนถึง Street Foods ที่ได้รับการการันตีจากมิชลินอย่าง
“ปาท่องโก๋เสวย” ปาท่องโก๋กรอบนอกนุ่มในชิ้นใหญ่เต็มคำ แป้งไม่อมน้ำมันจิ้มกับสังขยารสหวานกำลังดี กินกี่ทีก็ฟินมากๆ หรือ ร้าน “เจ๊ดา ปูม้าดอง” ที่มีชื่อเสียงเรื่องปูดองมาอย่างยาวนาน ขายตั้งแต่กุ้ง หอย ปู ไปจนถึงกั้งที่ดองกันสด ๆ กลิ่นไม่คาว วันหยุดนี่คิวยาวเหยียดรับประกันความแบอร่อย ถูกใจนักท่องเที่ยวสายกินไม่ยั้ง
สำหรับฉัน .. การเดินแล้วสนุกเหมือน Alice in wonderland คือการไปซื้อหาอาหารแห้ง อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จรูปในบริเวณตลาดเก่า
Street Art – China Town
เดินมาตามถนนเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ... พอใกล้จะถึงวัดไตรมิตร มองเห็นภาพวาดบนผนังตึก แนว Street Art สวยมากทีเดียว อยู่บนผนังซอกทางเดินเข้าสู่ตึกแถวด้านใน
Street Art สวยๆในซอกตึก
เราหยุดชมภาพ ซึ่งมีการนำสไตล์ศิลปะจีนมาปสมผสานกับศิลปะแนวตะวันตก ... ความสดใสของภาพ ดึงดูดให้เราเข้าไปเก็บความทรงจำไว้หลายภาพด้วยกันค่ะ
จบทริปเดินเที่ยวด้วยการแวะรับประทานไอศครีมเจ้าเก่าแก่ในซอยสุกร 1 ใกล้ๆกับวัดไตรมิตร
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
อาหารการกิน & Lifestyle แบบพี่สุ
โฆษณา