16 ก.ค. 2020 เวลา 04:20 • ความคิดเห็น
ในโลกแห่งการทำงาน เรามีคนที่ “ให้มากกว่ารับ” และคนที่ “รับมากกว่าให้”
ผมเชื่อว่าทุกองค์กรคงจะชอบพนักงานที่ “ให้มากกว่ารับ” แน่นอน เพราะองค์กรได้ประโยชน์มากกว่าที่เขียนไว้สัญญาจ้าง
แต่คำถามสำคัญก็คือ การมีพฤติกรรม “ให้มากกว่ารับ” มันทำให้เขามีความก้าวหน้าในการทำงานไหม
นักจิตวิทยา Adam Grant ได้ทำการศึกษานี้อย่างจริงจัง และพบว่า ไม่ว่าจะอาชีพวิศวกร พนักงานขาย หรืออาชีพไหนก็ตามที่มีข้อมูลอยู่ คนที่มีผลงานอันดับบ๊วยที่สุด คือ คนที่ “ให้มากกว่ารับ”
สาเหตุหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าคนเหล่านี้กลายเป็นเหยื่อของคนที่ “รับมากกว่าให้”
พวกเขาใจดี ช่วยเหลือคนอื่นเยอะจนไม่มีเวลาทำงานของตัวเองมากเท่าที่ควร
พออ่านมาถึงตรงนี้ บางคนคงจะเดาไปเรียบร้อยแล้วว่า คนที่มีผลงานดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นคนที่ “รับมากกว่าให้”
เดาผิดครับ...โลกใบนี้ยังไม่โหดร้ายเกินไปนัก
พฤติกรรม “รับมากกว่าให้” นี้…มันอาจจะได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาว คนอื่นในที่ทำงานจะเริ่มจับไต๋ได้ ส่งผลให้คนที่ “รับมากกว่าให้” ไม่สามารถใช้มุกเห็นแก่ตัวเดิมๆในการทำผลงานได้อีกต่อไป
คนที่มีผลงานดีที่สุดก็คือคนที่ “ให้มากกว่ารับ” อีกเช่นกันครับ
เท่ากับว่า คนที่ “ให้มากกว่ารับ” มีผลงานที่สุดขั้วเลยครับ…พวกเขาอยู่ทั้งอันดับ 1 และอันดับสุดท้าย
พฤติกรรม “ให้มากกว่ารับ” ของพวกเขามีประโยชน์ต่อองค์กรในภาพรวมเหมือนๆกันนะ แต่ทำไมคนหนึ่งถึงมีผลงานอันดับ 1 แต่อีกถึงอยู่อันดับบ๊วย
อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนที่ “ให้มากกว่ารับ” ที่มีผลงานอยู่หัวตารางและคนที่ “ให้มากกว่ารับ” ที่มีผลงานอยู่ท้ายตาราง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง คือ การมีขอบเขตที่ชัดเจนครับ
คนที่ “ให้มากกว่ารับ” ที่มีผลงานดี จะไม่ใช่คนที่ say yes กับทุกคน ทุกเวลา ทุกที่ และทุกเรื่อง…แต่พวกเขาจะกำหนดขอบเขตการช่วยเหลือไว้ค่อนข้างชัดเจน เช่น ในแต่ละสัปดาห์ วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี คือ วันทำงานส่วนตัว ส่วนวันศุกร์ คือ วันที่สอนงานคนอื่น เป็นต้น
การมีขอบเขตที่ชัดเจนจะช่วยทำให้พวกเขามีเวลาเพียงพอสำหรับงานตัวเอง แถมยังได้ช่วยคนเต็มอย่างเต็มที่ในกรอบที่ตั้งไว้อีกด้วย
การกำหนดขอบเขตในลักษณะนี้อาจจะขัดกับธรรมชาติของคนที่ “ให้มากกว่ารับ” จำนวนหนึ่งครับ เพราะพวกเขาจิตใจดี อยากช่วยเหลือ ไม่อยากปฏิเสธเพราะมันแลดู “เห็นแก่ตัว”
แต่พวกเขาก็ต้องเข้าใจว่า พวกเขาไม่ใช่ยอดมนุษย์ พวกเขามีพลังงานอยู่อย่างจำกัด…และที่สำคัญ พวกเขายังมีครอบครัวที่หวังพึ่งพวกเขาอยู่ที่บ้านอีกด้วย
การช่วยเหลือคนอื่นในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องดี…จุดนี้ไม่มีใครเถียงแน่นอน
แต่การยอมสละตัวเองเพื่อคนอื่นในที่ทำงานก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะในมุมหนึ่ง นั่นก็คือการ “เห็นแก่ตัว” กับครอบครัวและตัวเอง
ถ้าไม่ต้องการ “เห็นแก่ตัว” กับใครเลย ไม่ว่าจะเป็นคนในที่ทำงาน ครอบครัว หรือตัวเอง…การกำหนดขอบเขตในการช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่น่าทำครับ
อย่าเป็นทาสประจำ office เลยครับ…เป็นเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือคนอื่นดีกว่า
ปล. ใครอยากอ่านสิ่งที่ผมเขียนในเรื่องอื่นๆ สามารถอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/journalingmyjourney หรือ https://www.blockdit.com/journalingmyjourney นะครั
โฆษณา