18 ก.ค. 2020 เวลา 04:49 • ท่องเที่ยว
วัดปราสาทนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ตามใบบอกเมืองสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๑๔๙ นั้น ได้เสด็จฯ โดยชลมารคตามลำน้ำป่าสักถึงท่าเรือ แล้วจึงเสด็จฯ ต่อไปโดยขบวนช้าง มีพรานบุญผู้พบรอยพระพุทธบาทเป็นผู้นำทาง
ข่าวการพบรอยพระพุทธบาท ณ แขวงเมืองสระบุรี ในขณะนั้น นับเป็นมงคลนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ราชสำนักและพสกนิกรโดยถ้วนทั่ว พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา ทรงถือว่า การเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นพระราชกรณียกิจที่จำเป็น และสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่พึงปฏิบัติ และเส้นทางขบวนเสด็จนั้นมักจะเสด็จฯ โดยชลมารค
ขบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อนมัสการพระพุทธบาทในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น จะหยุดพักผ่อนไพร่พลและเสวยพระกระยาหารกลางวันตรงใกล้บริเวณลำน้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี มาบรรจบกันเป็นทางน้ำสามแพรกบริเวณวัดใหม่ประชุมพล อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงบ่ายหายเหน็ดเหนื่อยแล้ว ขบวนจึงจะเคลื่อนต่อไปตามลำน้ำป่าสักจนถึงท่าเจ้าสนุกแล้วหยุดประทับแรม ต่อวันรุ่งขึ้นขบวนจึงจะเคลื่อนไปโดยสถลมารค
ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่โปรดที่จะหยุดการเดินทางในช่วงแรกที่วัดใหม่ประชุมพล แต่จะหยุดประทับที่บริเวณริมน้ำใกล้วัดเทพจันทร์ ถัดจากวัดใหม่ประชุมพลลงมาเล็กน้อย จนถึงปี พ.ศ. ๒๑๗๔ จึงโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทนครหลวงในเขมร มาสร้างขึ้นไว้ในบริเวณสถานที่แห่งนี้ แล้วให้ชื่อ “พระนครหลวง” ตามชื่อเดิม
ปราสาทนครหลวง หรือ พระนครหลวง ตั้งอยู่ที่ ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก อยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา … ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 ในชื่อ พระนครหลวง
ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นองค์ปราสาท เป็นพุทธสถานจตุรมุขทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 ชั้น ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มระเบียงล้อมรอบ ชั้นบนมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย
ปราสาทนครหลวง มีต้นแบบมาจากแบบของปราสาทศิลาที่เรียกว่า พระนครหลวง ในกรุงกัมพูชา และสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีกครั้งในตอนนั้น แต่ก็สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ด้วยเหตุอะไรนั้นก็ยังไม่ปรากฏแน่ชัด
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่น ได้สร้างวัดนครหลวง มณฑป ขึ้นบนปราสาทแห่งนี้ขึ้น โดยเอาปราสาทนครหลวง เข้าไปไว้ในเขตของวัดด้วย และมีการสร้างพระพุทธบาทสี่รอย ประดิษฐานไว้บนลานชั้นบนของปราสาท
เราจะไปเดินชมรายละเอียดส่วนหนึ่งของปราสาทกันนะคะ
โบราณสถานปราสาทนครหลวง จึงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ตัวปราสาทพระนครหลวง และร่องรอยพระตำหนักที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ปราสาทนครหลวง ก่อสร้างขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูงจนมีลักษณะเหมือนภูเขาขนาดย่อม ซึ่งอาจจะมาจากคติความเชื่อของคนโบราณ หรือพวกขอม ที่นิยมสร้างปราสาทให้เหมือนเขาพระสุเมรุ เสมือนเป็นแกนกลางของจักรวาล
ตัวปราสาทพระนครหลวง เป็นอาคารก่ออิฐทั้งหล้ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น ชั้นแรกมีขนาด ๘๑ x ๙๔ เมตร สูงจากพื้นเดิน ๔ เมตร ชั้นที่สองขนาด ๖๗ x ๗๕ เมตร สูงจากพื้นชั้นแรก ๔ เมตร เช่นเดียวกัน ชั้นที่สามขนาด ๔๖ x ๔๘ เมตร สูงจากพื้นชั้นที่สูง ๓.๕๐ เมตร
จากการขุดแต่งเพื่อการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พบว่าแกนในของฐานแต่ละชั้นก่อด้วยดินอัดแน่นจนถึงพื้นแล้วก่ออิฐเป็นเอ็นยึดขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สานกันเป็นแฉกทั่วพื้นที่ตรงมุมและทิศทั้งสี่
ที่ระเบียงคดทุกชั้นทำเป็นปรางค์ บริวาร … ชั้นแรกมี ๑๐ องค์ ชั้นที่สอง ๑๒ องค์ และชั้นที่สาม ๘ องค์ รวมทั้งสิ้น ๓๐ องค์
ลักษณะปรางค์แต่ละองค์มีแบบแปลนแผนผังเหมือนๆ กัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๘.๔๐ เมตร ย่อมุมไม้ยี่สิบ ก่อเป็นฐานเขียง ๒ ชั้น แล้วขึ้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่รองรับเชิงบาตรและตัวเรือนธาตุตามลำดับ … ส่วนยอดทำเป็นชั้น ๕ ชั้น ภายในองค์ปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์ละ ๒ องค์ ยกเว้นปรางค์หมายเลข ๗, ๑๘ และ ๒๖ ที่ต้องใช้เป็นเนื้อที่ของประตู
ระเบียงคด คือ อาคารเชื่อมต่อระหว่างปรางค์ของแต่ละชั้นก่อผนังด้านนอกตัน แต่ทำช่องหน้าต่างปลอมเลียนแบบช่องลูกมะหวดคล้ายศิลปะสถาปัตยกรรมที่นิยมทำกันในเขมร สมัยนครวัด ช่วงฐานก่อล้อกับการขึ้นรูปของฐานปรางค์ คือ ทำเป็นฐานเขียง ๒ ชั้น แล้วขึ้นฐานลูกแก้วอกไก่ ส่วนผนังด้านในก่อโปร่งทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมปาดมุม ปลายเสาเป็นบัวหงาย มีหน้ากระดานรองรับระหว่างช่วงเสาก่อกำแพงหลังเจียดเตี้ยๆ โดยตลอด หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาแบบลอนโค้ง ด้านนอกลด ๒ ตับ ด้านในลด ๓ ตับ ภายในระเบียงมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งหันพระพักตร์สู่องค์ปรางค์ประธานทุกด้านทุกชั้น
ปัจจุบัน คงเหลือให้เห็นเฉพาะฐานชุกชี ส่วนพระพุทธรูปไม่มีแล้ว … แจ่บนฐานชุกชีนี้บางอันยังคงมีร่องรอยบางส่วนของพระพุทธรูปให้เห็นเล็กน้อย .. สำหรับฉัน นี่คล้ายกันมากกับระเบียงคดที่วัดไชยวัฒนาราม
ประตูทางเข้าขึ้นบนปราสาท ชั้นแรกมี ๙ ประตู ชั้นที่สอง ๑๒ ประตู และชั้นบน อีก ๙ ประตู รวมทั้งสิ้น ๓๐ ประตู
ท่อระบายน้ำ ทำเป็นช่องสามเหลี่ยมสำหรับน้ำไหลลงพื้นข้างล่าง รวม ๔๐ จุด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ทรงพระราชนิพนธ์ถึงปราสาทแห่งนี้ว่า “…คงสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นแน่ จนบันไดก็ได้ก่อบ้างไม่ได้ก่อบ้างเป็นแต่ชักอิฐไว้ ตัวปรางค์กลางนั้น เห็นจะยังไม่ได้ก่อขึ้นเป็นแน่…”
ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างปราสาทนครหลวงไม่แล้วเสร็จ แต่จะด้วยสาเหตุอะไร ยังไม่ปรากฏแน่ชัดทอง แต่ไม่ปรากฏร่องรอยการแต่งเติมเสริมต่อใดๆ จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อมาถึงปี พ.ศ. ๒๓๕๒ นายปิ่น หรือตาปะขาวปิ่น ได้สร้างพระพุทธบาทสี่รอยและอุโบสถเพิ่มเติมขื้นบริเวณลานชั้นบน พร้อมทั้งขอยกสถานที่นี้ขึ้นเป็นวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ชาวบ้านเรียกวัดนี้กันสั้นๆ ว่า วัดนคร
พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง ณ ป้อมเพชร) ปลัดกรุงเก่าเล่าว่า “พระชื่อปิ่นออกไปเมืองพม่า ได้เห็นแบบอย่างพระบาทสี่รอย จึงกลับมาเรี่ยไรราษฎรทำขึ้น”
การบูชาพระพุทธบาทสี่รอยเป็นคตินิยมของชาวพุทธฝ่ายหินยาน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรพุกามในสหภาพพม่า พระพุทธบาทสี่รอยเป็นสัญลักษณ์ให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุกสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป แลพระสมณโคดม
พุทธบาทสี่รอย นี้ มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยลึกลงไปในเนื้อหิน โดยรอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.5 เมตร ยาว 5.5 เมตร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปถวายผ้ากฐินที่วัดนี้ และมีพระราชดำริจะสร้างปราสาทพระนครหลวงให้แล้วเสร็จ … แต่จากการที่มีอุโบสถที่ครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ภายใน อยู่บนลานชั้นบน จะรื้อเสียก็ไม่ควร จึงไม่ได้ปฏิสังขรณ์ต่อ
ในช่วงเวลาของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว … พระปลัดปลื้ม วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ได้ขออนุญาตกระทรวงธรรมการรื้ออุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยออกแล้วสร้างใหม่เป็นมณฑปจัตุรมุข แก้พระปรางค์ทิศเป็นทรงมณฑป และซ่อมแซมปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดอื่นอีกหลายอย่าง
การสร้างและซ่อมแซม นครั้งนั้น มุ่งผลประโยชน์การใช้สอยในขณะนั้นเป็นหลักสำคัญ ไม่ได้คำนึงถึงแบบแปลนแผนผังเดิม ผลที่ปรากฏจึงเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างของเก่าของใหม่ที่มองเห็นอยู่โดยทั่วไปตั้งแต่รูปแบบราวบันไดไปจนถึงส่วนยอด
ทิวทัศน์ด้านนอกรอบๆพระอุโบสถ และบริเวณระเบียงคดชั้นใน
พระพุทธรูปภายในระเบียงคดชั้นใน
พระตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ที่อยู่ด้านหน้าปราสาท มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข สร้างโดยพระปลัดปลื้ม วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส … เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ที่มาเยือนปราสาทนครหลวงควรเข้าไปชม
บริเวณศาลาพระจันทร์ลอย … จากงานขุดแต่งขุดค้นสถานที่โดยกรมศิลปากร พบว่า อาคารจัตุรุมุขได้สร้างทับซ้อนลงบนอาคารพื้นปูอิฐ หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งน่าเชื่อถือว่าเป็นศาลาโถงที่ประทับ หรือพระตำหนักชั่วคราว ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองแวะประทับสำราญพระราชอิริยาบถ เวลาเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราชลมารคเมื่อถึงเทศกาลนบพระพุทธบาทนั้น
ภายในศาลพระจันทร์ลอย จะมี แผ่นหินพระจันทร์ลอย ที่มีลักษณะคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานตรงกลางห้องโถง …
ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ของราศีมีน มีการสันนิษฐานกันว่า แผ่นหินนี้ อาจจะเป็นธรรมจักร ที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ได้ค่ะ
ปราสาทนครหลวง … มีความสวยงาม ดูยิ่งใหญ่ ไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่าอีกหลายๆวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงมีประวัติที่ยาวนาน
เป็นสถานที่ที่เมื่อก้าวเท้าย่างเหยียบบนทางเดิน จะให้ความรู้สึกที่รับรู้ได้ถึงความขลังของสถานที่ และพลังบางอย่างที่เข้ามาสัมผัสกับตัวเรา
การเดินทาง
ทางรถยนต์ ไปตามถนนสายเอเชีย นับว่าสะดวกที่สุด จนถึงบ้านบ่อโพง ก่อนข้ามสะพานแม่น้ำป่าสักมีทางแยกอยู่ด้านขวามือคือ ถนนสายนครหลวง – ภาชี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๖๓) เดินทางต่อไปอีกประมาณ ๙ กิโลเมตร ก็จะถึงปราสาทพระนครหลวง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา