20 ก.ค. 2020 เวลา 09:23 • สุขภาพ
ฝังเข็มกับการรักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬา
นักกีฬา และคนที่ออกกำลังกายมากๆนั้น
มักจะมีประสบการณ์ปวดระบมในกล้ามเนื้อมาบ้าง รวมถึง อาการตึง หรือ ยึด เคลื่อนไหวไม่สะดวก
สาเหตุก็เพราะนักกีฬาใช้กล้ามเนื้อในรูปแบบต่างๆ อย่างหนักตามแต่ชนิดกีฬานั้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็น การเคลื่อนไหวซ้ำๆ จากฝึกเทคนิคการเล่น หรือความหนักของการเคลื่อนไหว เช่น การยกน้ำหนักที่หนักมาก ทำให้เกิดการ overload ของกล้ามเนื้อ และนำไปสู่บาดเจ็บของเส้นใยกล้ามเนื้อแล้วกลายเป็นปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่เรียกว่า Myofascial Pain Syndrome ซึ่งมีการปวดเกิดขึ้นจากจุดกดเจ็บที่เรียกว่า Trigger Point (TrPs) ในกล้ามเนื้อ
Trigger points from https://emedicine.medscape.com/article/89095-overview
การตรวจ Trigger points ด้วยการคลำ from https://emedicine.medscape.com/article/89095-overview
จุดTrPs นี้เป็นจุดกดเจ็บที่ไวต่อการกระตุ้นปวด
ณ จุด TrPs นี้เส้นใยกล้ามเนื้อจะหดตัวค้าง มีลักษณะเป็นก้อน เล็กๆ แข็งๆ เวลากด ลงไปตรงๆ จะมีอาการเจ็บปวด และปวดร้าว หรือมีความรู้สึกอื่นๆเช่นชา ขนลุก เหงื่อออก ไปที่อื่นได้ซึ่งมักจะจำกัดเพียงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย
ถ้า TrPs อยู่ รวมกันมากๆ ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อหดลงมาเป็นลำแข็งๆ เป็นเส้นยาวก็จะเรียกว่า Taut band
วิธีการรักษาก็มีหลายวิธี ได้แก่ วิธีทางกายภาพบำบัด ใช้ความร้อนลึกเช่นอัลตร้าซาวด์ เลเซ่อร์ กระตุ้นไฟฟ้า ยืดกล้ามเนื้อ นวดบำบัด และ อื่นๆ อีกมากมายฯลฯ
ถ้าทำกายภาพบำบัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น การรักษาด้วยการใช้เข็มคลายจุด TrPs ก็เป็นวิธีการที่ได้ผลดี ซึ่งคนทั่วไปจะเรียกว่าฝังเข็ม แต่การใช้เข็มรักษาปวดกล้ามเนื้อนั้นมีสองแบบคือ
1.แบบแพทย์แผนปัจจุบัน
1.1 คลายจุดเจ็บในกล้ามเนื้อด้วยการฉีดยาชา เรียกว่า trigger point injection with Lidocaine เป็นการฉีดยาชาเข้าไปใน TrPs และใช้เข็มฉีดยาสะกิดให้เกิดการคลายตัวของ TrPs อาการปวดก็จะหายไป
Trigger Points Injection
Xylocaine injection
ข้อดีของการใช้ยาชาคือ หลังจากยาชาออกฤทธิ์ จะมีอาการชา แทบไม่รู้สึก เวลาทำการสะกิดเข็ม ให้ TrPs คลายตัว และมี Washout effect คือตัวยาชาเองก็จะไป กวาดล้างเอาสารอักเสบ(inflammatory cytokines) ในกล้ามเนื้อ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดเช่น interleukin ( IL-1β, IL-6 and IL-15 ) TNF-α, bradykinin ฯลฯ ออกไป
Xylocaine injection
แต่ข้อเสียก็มี คือ อาจทำให้เกิดหลอดเลือดขยายตัวมาก ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืดเป็นลม หรือ ถ้ายาถูกฉีดเข้าเส้นเลือด หรือฉีดปริมาณมากแล้วถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ก็อาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นหน้ามืดเป็นลมได้เช่นกัน และถ้าหมดฤทธิ์ยาชา ซึ่งปกติจะอยู่ประมาณ 30 นาที หลังฉีดก็อาจจะเกิดการระบมได้มาก
1.2 คลายจุดเจ็บในกล้ามเนื้อด้วยเข็มเปล่า เรียกว่า Dry needling หรือ การแทงเข็มเปล่าที่ TrPs โดยใช้เข็มสะกิดให้เกิดการคลายตัวของ TrPs อาการปวดก็จะหายไป
dry needling
ข้อดีคือไม่มีการใช้ยาใดๆ เข้าไปในร่างกาย เพราะว่าเข็มฝังเข็มนั้นค่อนข้างเล็กมากครับ ส่วนการระบมหลังทำ dry needling นั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคการทำของแพทย์แต่ละคน ถ้าแทงเข็มซ้ำในจุดเดิมเยอะก็อาจทำให้ระบมมากได้ เช่นกัน
ดังนั้นสองวิธีนี้เพื่อให้แตกต่างจากการฝังเข็มแบบจีน (ที่จะกล่าวต่อไป)หมอชอบเรียกว่า การลงเข็มคลายจุดปวด โดยใช้ยาชา และ โดยไม่ใช้ยาชา นะครับ
2. การฝังเข็มแบบแพทย์แผนจีน (Acupuncture)
เป็นการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลของร่างกายตามแนวทางวินิจฉัยโรคของการแพทย์แผนจีน ซึ่งจะปักเข็มลงไปตามจุดฝังเข็มที่อยู่บนเส้นลมปราณ กระตุ้นให้ลมปราณไหลเวียน เพื่อให้ร่างกายรักษาตนเอง
ในความเห็นผมวิธีนี้จะระบมน้อยกว่า แต่ก็เห็นผลช้ากว่า
Acupuncture
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง Myofascial Pain Syndrome ด้วยเข็มนั้น มีลักษณะผสมผสานของการฝังเข็มทั้งสองรูปแบบโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และให้การรักษาร่วมกับการส่งทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อการรักษา ต่อไปจึงจะได้ผลดี
การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการรักษาโดยการฝังเข็ม
1.รับประทานอาหารตามปกติก่อนมาฝังเข็มเสมอ เพราะถ้าท้องว่างมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมได้ง่าย
2.พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย
3.ควรสวมเสื้อผ้าแบบสบายๆ กางเกงที่หลวม
4.ขณะรับการฝังเข็ม ถ้าอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หน้ามืด เหมือนจะเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนในการฝังเข็มที่อาจเกิดขึ้นได้
1.เป็นลม สาเหตุเกิดจาก ตื่นเต้นกลัวเข็ม ร่างกายอ่อนเพลีย ท้องว่างหิวข้าว หรือเกิดจากการกระตุ้นเข็มมากไป
2.เข็มติด, เข็มงอ, เข็มหัก สาเหตุเกิดจากมีการขยับตัวเวลาปักขับ ดังนั้นผู้ป่วยต้องพยายามอยู่นิ่งให้มากที่สุด
3.เลือดออก สาเหตุเกิดจากการปักเข็มถูกเส้นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังหรืออยู่ในกล้ามเนื้อซึ่งแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้วแต่อาจเกิดได้ ตอนถอนเข็มต้องกดทันทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ออก
4.ลมขังในโพรงเยื่อหุ้มปอด คนไข้จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ข้อแทรกซ้อนนี้ค่อนข้างรุนแรง แพทย์ต้องระมัดระวังไม่ปักเข็มในบริเวณที่อาจทะลุเข้าปอดได้ และ คนไข้ต้องอยู่นิ่งๆในขณะทำการฝังเข็ม ถ้ามีอาการต้องรีบบอกแพทย์ทันที
โฆษณา