24 ก.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หมีน้ำไปเที่ยวอวกาศ และเราจะเจอหมีน้ำได้อย่างไร
ภาพดัดแปลงจาก Schokraei et al. (2012)
สมัยผมเรียน อาจารย์ท่านหนึ่งเคยถามขึ้นมาว่า “รู้ไหมว่าสัตว์ที่ผมชอบคือชนิดอะไร?”
วิชานั้นคือ วิชา Bioinformatics เป็นวิชาที่เอาความรู้ทางคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยา เพราะฉะนั้นอาจารย์ที่สอนวิชานั้นคงจะไม่ได้ชอบสัตว์ธรรมดา น่าจะเป็นสัตว์แปลกๆ หน่อย แบบว่า ถ้าตอบว่าแมวนี่ ฮาเลย
คำตอบของอาจารย์ คือ หมีน้ำ หรือ Water bears (Phylum Tardigrada)
ภาพถ่ายของหมีน้ำจาก Scanning Electron Microscope (ที่มา By Willow Gabriel, Goldstein Lab - https://www.flickr.com/photos/waterbears/1614095719/ )
เหตุผลคือ หมีน้ำคือสิ่งมีชีวิตที่สุดมหัศจรรย์ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูงมาก สามารถทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -20 - 151 องศาเซลเซียส สามารถทนแรงดันได้สูงถึง 1,200 เท่าของแรงดันบรรยากาศ และยังสามารถอยู่รอดในสภาวะแรงดันต่ำๆ ได้ เมื่อสูญเสียน้ำหมีน้ำสามารถเข้าสู่สภาวะจำศีล ที่จะสามารถกลับมามีชีวิตได้เมื่อสัมผัสกับน้ำ แม้ว่าจะอยู่ในการจำศีลนั้นเป็นเวลาถึง 10 ปี โดยที่ไม่กินอาหารอะไร และสามารถทนรังสีต่างๆ ได้มากกว่าสัตว์อื่นๆ เป็น 1,000 เท่า
อาจารย์จึงสนใจมากๆ เพราะความพิเศษของหมีน้ำ น่าจะอยู่ในพันธุกรรมของหมีน้ำด้วย ทำให้อาจารย์ท่านอยากจะนำมาศึกษามาก
ด้วยความอึดและทนของหมีน้ำ ทำให้มันถูกนำไปทดลองต่างๆ เช่น ในปี ค.ศ. 2007 หมีน้ำที่อยู่ในภาวะจำศีลถูกส่งไปกับดาวเทียม FOTON-M3 และล่องลอยอยู่ในอวกาศเป็นเวลา 10 วัน โดยอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง และสัมผัสรังสีคอสมิกและรังสี UV ในอวกาศโดยตรง
ดาวเทียม Foton 6 (ที่มา By C Jill Reed - https://www.flickr.com/photos/mulmatsherm/218782075/, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=22887920)
หลังจากนั้นหมีน้ำกลุ่มนี้ถูกนำกลับมายังโลก แล้วถูกให้ความชื้นให้ฟื้นขึ้นมาจากสภาวะจำศีล โดยหมีน้ำกลุ่มที่ได้รับการปกป้องจากรังสี สามารถฟื้นกลับมาจากสภาวะในอวกาศได้ถึง 68% และสามารถวางไข่ต่อไปได้ ในขณะที่หมีน้ำที่ไม่ถูกป้องกันรังสี พบว่า มีอัตราการฟื้นขึ้นมาต่ำกว่า แต่ก็มีบางส่วนที่รอดชีวิตได้
โดยหมีน้ำเป็นสัตว์ชนิดแรกที่รอดชีวิตในสภาวะอวกาศเช่นนี้ ก่อนหน้านี้มีเพียงแบคทีเรียและไลเคนเท่านั้นที่อยู่รอดในสภาวะดังกล่าวได้ และในปี 2011 หมีน้ำได้ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ และสามารถบินไปถึงอวกาศได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะไม่มีแรงดึงดูด และรังสีคอสมิก
ข่าวที่น่าสนใจอีกข่าวคือ ในปี 2019 ยานอวกาศของอิสราเอลได้ขนหมีน้ำในสภาวะจำศีลขึ้นไปบนดวงจันทร์ และได้ตกลงไปบนดวงจันทร์ แต่ผู้ส่งคิดว่าหมีน้ำน่าจะรอดชีวิตได้ แต่หมีน้ำไม่สามารถฟื้นจากสภาวะจำศีลได้ เนื่องจากการฟื้นขึ้นมาต้องใช้น้ำ และบนดวงจันทร์ไม่มีน้ำ
ถึงแม้ว่าหมีน้ำจะมีรายงานว่าพบทั่วโลก จากยอดเขาสูงถึงใต้ทะเลลึก ในป่าเขตร้อนจนถึงขั้วโลกใต้ เราอาจจะไม่เคยเห็นหมีน้ำตัวจริงๆ เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้มีขนาดเล็กมาก คือ ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ทำให้ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องหาผ่านกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น
ภาพถ่ายของหมีน้ำจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (ที่มา By Bob Blaylock - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=51336194)
คำถามคือ ถ้าเราอยากจะหาหมีน้ำในประเทศไทยจะเจอไหม และจะไปเจอได้ที่ไหน?
ตัวอย่างอาจจะมาจากการรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา พบว่าเราสามารถเจอหมีน้ำได้ ในหลายๆ ที่ เช่น
ในปี 2002 Pilato และคณะได้เก็บตัวอย่างมอสจากน้ำตกเหวสุวัตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และได้พบหมีน้ำในนั้นสามชนิดและเป็นชนิดใหม่ของโลกสองชนิด
Tumanov นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ได้ค้นพบหมีน้ำจากใบไม้ในประเทศไทยที่ร่วงหล่นใกล้แหล่งน้ำของอุทยานแห่งชาติภูพาน และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวไป 3 ใบ และพบหมีน้ำบนใบไม้ทั้งหมด 10 ชนิดบนนั้น และพบชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด และตั้งชื่อว่า [Macrobiotus alekseev] และ [Macrobiotus siamensis]
ในปี 2008 Zawierucha และคณะได้เก็บทรายจากเกาะคอเขา จังหวัดพังงา ไปและพบหมีน้ำทะเลชนิด [Batillipes pennaki] ที่ไม่เคยมีรายงานในประเทศไทยมาก่อน
จะเห็นว่าจริงๆ แล้วหมีน้ำน่าจะเป็นสัตว์ที่พบไม่ยาก และน่าจะหาเจอได้ในที่ชื้นในป่าอุดมสมบูรณ์ หรือในทะเลต่างๆ หรืออาจจะเป็นในสวนตรงที่ชื้นๆ ของบ้านเราก็ได้ และถ้าเราเจอก็อาจจะเป็นชนิดใหม่ของโลกได้ด้วย
หมีน้ำอาจจะแปลกไม่พอ ลองอ่านแมลงในผลมะเดื่อดูไหมครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Schokraie E, Warnken U, Hotz-Wagenblatt A, Grohme MA, Hengherr S, et al. (2012) Comparative proteome analysis of Milnesium tardigradum in early embryonic state versus adults in active and anhydrobiotic state. PLoS ONE 7(9): e45682. doi:10.1371/journal.pone.0045682
3. Jönsson, K. Ingemar; Rabbow, Elke; Schill, Ralph O; Harms-Ringdahl, Mats; Rettberg, Petra (2008). "Tardigrades survive exposure to space in low Earth orbit". Current Biology. 18 (17): R729–R731. doi:10.1016/j.cub.2008.06.048
6. Tumanov, Denis. (2005). Notes On The Tardigrada Of Thailand, With A Description Of Macrobiotus Alekseevi Sp. Nov. (Eutardigrada, Macrobiotidae). Zootaxa. 1-16. 10.5281/zenodo.171402.
7. Zawierucha, Krzysztof & Grzelak, Katarzyna & Kotwicki, Lech & Michalczyk, Łukasz & Kaczmarek, Łukasz. (2013). Batillipes pennaki Marcus, 1946, a New Addition to the Thai Tardigrade Fauna, with an Overview of Literature on the Species. Pakistan journal of zoology. 45. 801-808.
8. Pilato, Giovanni & Binda, Maria & Lisi, Oscar. (2004). Notes on some tardigrades from Thailand, with descriptions of two new species. New Zealand Journal of Zoology - N Z J ZOOL. 31. 319-325. 10.1080/03014223.2004.9518385.
9. Tumanov, Denis. (2006). Macrobiotus Siamensis Sp. N. (Eutardigrada, Macrobiotidae) From Thailand (Asia). Zootaxa. 53-59. 10.5281/zenodo.172320.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา