10 ส.ค. 2020 เวลา 04:00
'อักษรภาพลึกลับ'เหนือทางเข้ามหาพีระมิดแห่งกิซ่า
ถ้าใครกำลังคาดหวังว่าภาพสลักอันงดงามตระการตานี้จะปรากฏใน 'พีระมิด'
ด้วยแล้วล่ะก็ ต้องขอบอกว่าท่านกำลังคิดผิดถนัด เพราะพีระมิดของชาวไอยคุปต์
โดยเฉพาะมหาพีระมิดในเมืองกิซ่าทั้งสามแห่ง ไม่มีภาพสลักสีสันสดใสใด ๆ
ปรากฏให้เห็นเลยแม้แต่น้อย !!
อักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิคที่สลักเอาไว้เรียงรายบนผนังสุสานเคียงคู่กับภาพของ
ฟาโรห์และเทพเจ้าที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สีสันฉูดฉาดในหุบผากษัตริย์
(Valley of the Kings) อันเป็นสุสานของเหล่าฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรใหม่
ทางทิศตะวันตกของเมืองลักซอร์ (Luxor) ประเทศอียิปต์ คือหนึ่งในภาพที่สาวก
ประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณคุ้นเคยกันดีที่สุด
แต่ถ้าใครกำลังคาดหวังว่าภาพสลักอันงดงามตระการตานี้จะปรากฏใน 'พีระมิด'
ด้วยแล้วล่ะก็ ต้องขอบอกว่าท่านกำลังคิดผิดถนัด เพราะพีระมิดของชาวไอยคุปต์
โดยเฉพาะมหาพีระมิดในเมืองกิซ่าทั้งสามแห่ง ไม่มีภาพสลักสีสันสดใสใด ๆ
ปรากฏให้เห็นเลยแม้แต่น้อย !!
ถ้าใครได้ 'มุด' ลงไปในมหาพีระมิดแห่งกิซ่าของฟาโรห์คูฟู (Khufu) อันเป็นหนึ่ง
ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณเพียงแห่งเดียวที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ใน
ปัจจุบันแล้วล่ะก็ สิ่งที่จะได้เห็นคือช่องทางเดินและห้องหับต่าง ๆ ที่บ้างก็มีขนาด
ใกล้เคียงกับห้องทั่ว ๆ ไป ทว่าบางห้องก็มีลักษณะคล้ายห้องโถงขนาดยักษ์ด้วย
ว่ามีเพดานสูงขึ้นไปถึงกว่า 8 เมตร!!
แต่ถ้าใครพยายามมองหาอักษรเฮียโรกลิฟฟิคหรือภาพของเทพเจ้าและฟาโรห์แล้วล่ะก็ เชื่อได้เลยว่าจะต้องผิดหวัง เพราะผนังห้องและช่องทางเดิน รวมถึงผนังของห้องฝังศพอันเป็นสถานที่ตั้งโลงศพหินของฟาโรห์คูฟูกลับราบเรียบ ไร้ซึ่งร่องรอยแกะ
สลักใด ๆ ผิดกับบรรดาสุสานของเหล่าฟาโรห์แห่งราชอาณาจักรใหม่ที่สร้างขึ้น
ในอีกราวหนึ่งพันกว่าปีให้หลังบริเวณหุบผากษัตริย์ในเมืองลักซอร์อย่างลิบลับ
แท้จริงแล้ว พีระมิดที่มีอักขระและคัมภีร์จารึกเอาไว้บนผนังห้องฝังศพของ
องค์ฟาโรห์ก็มีให้เห็นเช่นกัน แต่พีระมิดแห่งแรกที่มีหลักฐานของคัมภีร์ที่
เรียกว่า 'จารึกพีระมิด' (Pyramid Texts)
บนผนังภายในพีระมิดกลับเพิ่งปรากฏขึ้นในสมัยของฟาโรห์อูนาส (Unas) ซึ่งเป็น
ฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 5 ที่ปกครองอียิปต์โบราณอยู่ในช่วงราว 2,400 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 200 ปีหลังจากที่มหาพีระมิดแห่งกิซ่าของฟาโรห์คูฟูสร้าง
เสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น นั่นหมายความว่าพีระมิดทุกแห่งก่อนรัชสมัยของ
ฟาโรห์อูนาสไม่เคยปรากฏคัมภีร์จารึกพีระมิดในห้องฝังศพมาก่อนเลย ห้องหับส่วนใหญ่จึงมีเพียงแค่ผนังราบเรียบอันแสนว่างเปล่าเท่านั้น
ถ้ามหาพีระมิดแห่งกิซ่าไม่ปรากฏหลักฐานของจารึกใด ๆ เลย แล้วนักอียิปต์
วิทยาทราบได้อย่างไรกันล่ะว่า พีระมิดแห่งนี้เป็นของฟาโรห์คูฟู ? คำตอบก็คือ
พระนามของฟาโรห์องค์นี้ 'ซ่อน' อยู่เหนือเพดาน 'ห้องกษัตริย์' (King’s Chamber) ซึ่งเป็นห้องที่บรรจุโลงศพขององค์ฟาโรห์เอาไว้นั่นเอง
จากแผนผังภายในพีระมิดคูฟู 'ห้องกษัตริย์' วางตัวอยู่ใกล้กับกึ่งกลางของพีระมิด มีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่มีเพดานซ้อนสูงขึ้นไป 4 ชั้น ปิดทับด้านบนด้วยแผ่นหิน
ทรงหน้าจั่ว ช่องในแต่ละชั้นได้รับการตั้งชื่อที่แตกต่างกันออกไป ห้องระดับชั้นสูงสุดใต้แผ่นหินหน้าจั่วที่ถูกเรียกขานว่า 'ห้องแคมป์เบลล์' (Campbell’s Chamber)
นั้นมีอักขระอียิปต์โบราณเขียนเอาไว้ด้วยหมึกสีแดง และอักษรภาพได้แสดง
พระนามของฟาโรห์ 'คูฟู' เอาไว้อย่างชัดเจน และนี่ก็คือหนึ่งในหลักฐานที่จะมาช่วย
นักอียิปต์วิทยายืนยันได้ว่าเจ้าของพีระมิดแห่งนี้ก็ไม่น่าจะใช่ใครอื่นนอกจาก
ฟาโรห์คูฟูพระองค์นี้นี่เอง
ถึงแม้ว่ามหาพีระมิดแห่งกิซ่าของฟาโรห์คูฟูจะไม่มีจารึกอักขระหรือภาพวาดสีสันสดใสใด ๆ ให้ได้ชมกัน แต่ก็อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้จะหมดเสน่ห์ไป
เสียก่อนล่ะ เพราะด้านนอกของมหาพีระมิดยังมี 'อักขระลับ' ที่น้อยคนจะรู้จักแกะ
สลักเอาไว้เหนือประตูทางเข้าพีระมิดด้วย !! อักขระที่ว่านี้เป็นอักษรภาพอียิปต์
โบราณ 11 คอลัมน์ สลักจากขวาไปซ้าย ปรากฎอยู่บนแผ่นหินหน้าจั่วชั้นบน
ฝั่งขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าสู่มหาพีระมิด)
คำถามคือชาวไอยคุปต์คนใดอุตริไปสลักข้อความอะไรยาวเหยียดเอาไว้ตรงนั้นกัน
แน่ ?
ผู้ที่แกะสลักข้อความเหนือทางเข้ามหาพีระมิดไม่ใช่ชาวไอยคุปต์เมื่อ 4,600 ปีก่อน แต่เป็น 'ความมือบอน' ของนักอียิปต์วิทยาชาวเยอรมันนามว่า
คาร์ล ริชาร์ด เลบซิอุส (Karl Richard Lepsius)
ที่เข้าไปฝากผลงานเอาไว้ในปี ค.ศ. 1842 เลบซิอุสคือ
นักอียิปต์วิทยามากฝีมือผู้มีความรู้ทางด้านภาษาอียิปต์โบราณเต็มเปี่ยม
เขาได้นำคณะสำรวจแห่งปรัสเซีย (Prussia)
เดินทางเข้าไปในประเทศอียิปต์ระหว่างปี ค.ศ. 1842 ถึง 1845 เพื่อทำการจดบันทึก จัดทำข้อมูลและร่างแผนผังของสถาปัตยกรรมและโบราณสถานในอียิปต์ นูเบีย
(Nubia) และไซนาย (Sinai) ด้วยความช่วยเหลือจากมูฮัมหมัด อาลี ปาชา
(Muhammad Ali Pasha) ผู้นำแห่งอียิปต์ในยุคนั้น ทำให้เลบซิอุสสามารถขน
ย้ายโบราณวัตถุมากกว่า 15,000 ชิ้นไปยังกรุงเบอร์ลินได้อย่างสะดวกโยธิน
และนี่ก็คือหนึ่งในสาเหตุว่าทำไมโบราณวัตถุของอียิปต์จึงได้ไปปรากฏใน
เยอรมนีมากมายเสียเหลือเกิน
นอกจากเลบซิอุสจะขนโบราณวัตถุจำนวนมหาศาลออกไปแล้ว เขายังได้ฝากผลงานที่แสดงถึงความเก่งกาจทางด้านภาษาและไวยากรณ์อียิปต์โบราณเอาไว้บนแผ่นหิน
เหนือทางเข้าไปยังมหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟูอีกด้วย ข้อความที่เลบซิอุสสลักเอาไว้
นั้นถูกต้องตรงตามหลักไวยากรณ์ภาษาอียิปต์โบราณ ชนิดที่ว่าถ้าดวงวิญญาณของฟาโรห์คูฟูได้มาเห็นข้อความนี้
พระองค์จะเข้าใจเนื้อหาของจารึกทั้งหมดได้ในทันที ข้อความทั้ง 11 คอลัมน์เขียนขึ้นเพื่อสดุดีวันประสูติของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 4 (Friedrich Wilhelm IV)
แห่งปรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์การสำรวจของเลบซิอุสในครั้งนี้ ข้อความ 7 คอลัมน์
แรก (เริ่มนับจากทางด้านขวามือ) แปลความได้ว่า
“กล่าววาจาโดยข้ารับใช้แห่งองค์กษัตริย์ นามของพระองค์คือ ‘ดวงสุริยาและศิลา
แห่งปรัสเซีย’ อาลักษณ์เลบซิอุส, สถาปนิกเอิร์บคัม, ช่างสีพี่น้องไวเดนบัค,
ช่างสีเฟร, ช่างหล่อแฟรงค์, ช่างปั้นโบโนมิและสถาปนิกไวล์ด ทุกคนน้อมถวาย
ความเคารพแด่องค์อินทรี ‘ผู้ปกป้องไม้กางเขนแห่งองค์กษัตริย์' ‘ดวงสุริยาและ
ศิลาแห่งปรัสเซีย’
บุตรแห่งดวงสุริยา ผู้เป็นอิสระจากแผ่นดินเกิด ‘ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4’ บิดาผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นบิดาของประเทศ ผู้เปี่ยมความงดงาม ผู้เปี่ยมด้วยความเฉลียวฉลาดและ
ประวัติศาสตร์ ผู้ปกป้องไรน์ ผู้ถูกเลือกโดยเยอรมนี ขอพระองค์มีชีวิตนิรันดร์
ขอให้เทพเจ้าผู้สูงศักดิ์อำนวยพรแด่พระองค์และมเหสี ‘ราชินีอลิซาเบธ”
ผู้เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา มารดาผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นมารดาของประเทศ ผู้เปี่ยมความงดงาม ขอพระองค์มีชีวิตยืนยาวทั้งบนโลกนี้และบนดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ตลอดกาล”
ข้อความ 4 คอลัมน์ที่เหลือทางด้านซ้ายมือ (คอลัมน์ที่ 8 ถึง 11) แปลความได้ว่า
“ในปี 1842 เดือนที่ 10 วันที่ 15 วันประสูติปีที่ 47 ขององค์เหนือหัว บนพีระมิดของ
ฟาโรห์คูฟู ในปีที่ 3 เดือนที่ 5 วันที่ 9 ในรัชสมัยการปกครองขององค์เหนือหัว
ตรงกับปีที่ 3164 นับจากวันแรกเริ่มของวัฎจักรโซธิส ในรัชสมัยของกษัตริย์เมเนป
เธส”
แน่นอนว่าถ้าการแกะสลักอักขระทั้ง 11 คอลัมน์ลงไปบนพื้นผิวพีระมิดเช่นนี้เกิดขึ้น
ในยุคปัจจุบัน ศิลปินผู้นี้คงไม่ต่างจากคนมือบอนที่บ่อนทำลายความยิ่งใหญ่ของ
โบราณสถาน และคงต้องถูกจับดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แต่ด้วยว่าเหตุการณ์นี้
เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน ผลงานของเลบซิอุสจึงกลายเป็นหนึ่งใน
'ประวัติศาสตร์' ของมหาพีระมิดแห่งกิซ่าไปโดยปริยาย
น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน ทางการอียิปต์ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวปีนพีระมิดขึ้นไปจนถึงตำแหน่งทางเข้าที่มีอักขระของเลบซิอุสจารึกเอาไว้แล้ว (การเข้าชมภายในพีระมิด
ทุกวันนี้จะใช้ทางเข้าอีกทางหนึ่งซึ่งอยู่ด้านล่างของทางเข้านี้) แต่ถ้าใครมีโอกาสได้ลองไปเที่ยวชมพีระมิดแห่งกิซ่าของฟาโรห์คูฟู ก็อย่าลืมหาโอกาสเงยหน้าขึ้นมอง
แผ่นหินทรงหน้าจั่วแผ่นนี้ (หรือถ้าใครจะหยิบกล้องออกมาซูมดูแบบใกล้ ๆ
ก็ไม่ว่ากัน) รับรองว่าทุกท่านจะได้เห็นอักขระลึกลับ 11 คอลัมน์อันเป็นผลงานจาก
ความมือบอนเมื่อปี ค.ศ. 1842 ของนักอียิปต์วิทยานาม คาร์ล ริชาร์ด เลบซิอุส
อย่างแน่นอน
เรื่อง : ณัฐพล เดชขจร
ภาพ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
โฆษณา