23 ก.ค. 2020 เวลา 15:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ซูเปอร์โนวาเหวี่ยงดาวแคระขาวกระเด็นข้ามกาแล็กซีทางช้างเผือก!!
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติพบดาวแคระขาวประหลาดอยู่ห่างจากโลก 1,430 ปีแสง กำลังพุ่งทะยานด้วยความเร็วสูงผิดปกติไปในทิศทางตรงข้ามกับการหมุนของกาแล็กซีทางช้างเผือก
ผลวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ว่า ดาวแคระขาวนี้อาจเป็นซากของดาวฤกษ์ที่ถูกเหวี่ยงออกมาจากระบบดาวคู่ ซึ่งเกิดการระเบิดซูเปอร์โนวาแบบไม่สมบูรณ์ ทั้งเป็นการระเบิดชนิดที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน
มีการตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าว ในวารสารรายเดือนอังกฤษ โดยระบุว่าดาวแคระขาวดวงนี้พุ่งผ่านห้วงอวกาศด้วยความเร็วถึง 9 แสนกิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีองค์ประกอบเป็นธาตุต่าง ๆ ที่ผิดแปลกไปจากที่ควรจะเป็น
ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลชี้ว่า ดาวแคระขาวดวงนี้ ไม่มีธาตุไฮโดรเจนหรือฮีเลียมหลงเหลืออยู่ รวมทั้งไม่มีแร่ธาตุจำพวกเหล็ก, นิกเกิล หรือโครเมียม ที่มักจะได้จากการรวมตัวกันของธาตุเบากว่าระหว่างเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิวชัน (nuclear fusion) ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์สิ้นอายุขัยและมีการระเบิดซูเปอร์โนวา
แต่อย่างไรก็ตาม ดาวแคระขาวดังกล่าวกลับมีส่วนผสมของธาตุอย่างออกซิเจน, นีออน, แมงกานีส และซิลิคอนอยู่ทั่วไป ทั้งยังพบคาร์บอน, โซเดียม และอะลูมิเนียมในชั้นบรรยากาศอีกด้วย
ซึ่งเป็นร่องรอยของการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ความร้อน (thermonuclear) ในขั้นแรกของการระเบิดซูเปอร์โนวา
ศาสตราจารย์ บอริส แกนซิกเคอ ผู้นำทีมวิจัยจากUniversity of Warwick อธิบายถึงข้อมูลข้างต้นที่ขัดแย้งกันว่า "ดาวดวงนี้น่าจะผ่านขั้นตอนการเกิดซูเปอร์โนวามาเพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้มีมวลต่ำเพียง 40% ของดวงอาทิตย์ แต่มีความเร็วสูงและมีองค์ประกอบทางเคมีที่แปลกประหลาด"
ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า การระเบิดซูเปอร์โนวาครั้งนี้แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่มีความรุนแรงมากพอที่จะเหวี่ยงดาวคู่ทั้งสองดวงออกไปในทิศทางตรงข้ามกัน ซึ่งเราสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวได้เพียงดาวแคระขาวดวงนี้เท่านั้น
การระเบิดที่เกิดขึ้นเพียงบางส่วนยังทำให้ขาดนิกเกิลกัมมันตรังสี ซึ่งปกติแล้วจะช่วยให้กลุ่มฝุ่นและก๊าซที่หลงเหลืออยู่หลังเกิดซูเปอร์โนวาเรืองแสงสว่างได้ทนนาน จึงยังคงเป็นเรื่องยากที่จะค้นหาตำแหน่งของซูเปอร์โนวาแบบประหลาด ซึ่งเหวี่ยงดาวแคระขาวดวงนี้กระเด็นออกมา
โฆษณา