26 ก.ค. 2020 เวลา 13:15 • ความคิดเห็น
สหรัฐบีบบังคับจีน
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
วิกฤติการการทูตระหว่างสหรัฐและจีนที่ตอนนี้กำลังเป็นข่าวใหญ่ที่สนใจกันทุกตรอกซอกมุมของโลก มีคำถามมาเยอะเรื่องการตอบโต้ระหว่างประเทศ
https://www.dailymaverick.co.za/article/2020-05-18-counting-the-economic-cost-of-the-great-unravelling-of-us-china-relations/#gsc.tab=0
ขอเรียนครับ ว่ามีทั้ง Retorsion ซึ่งเป็นการตอบโต้ด้วยวิธีการที่ถูกกฎหมาย และ Reprisals ซึ่งเป็นการตอบโต้ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย
ประเทศทะเลาะกัน ถ้ายังไม่ถึงระดับมีสงครามฆ่าฟันกันให้ดับดิ้นสิ้นใจกันไปข้างหนึ่ง ประเทศคู่ขัดแย้งก็จะใช้การตอบโต้ด้วยมาตรการทางการทูต ที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็มีการเรียกทูตกลับ
แรงขึ้นมาหน่อยก็คือการระงับความสัมพันธ์ทางการทูต ถ้าแรงจริงๆ ก็คือการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต หรือการไล่นักการทูตออกจากประเทศ
ท่านหนึ่งถามว่า การใช้มาตรการทางการทูตบีบประเทศอื่นนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า ขอเรียนว่า ‘ถูก’ ครับ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตตามที่เห็นสมควร
ผู้อ่านท่านจำได้ไหมครับ 29 มกราคม 2546 สถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญถูกเผา การเผาสถานทูตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่รัฐบาลไทยสมัยนั้นใช้มาตรการที่ถูกกฎหมายระหว่างประเทศโต้ตอบ ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตไทยกลับ ซึ่งถือเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อบีบให้กัมพูชาแก้ไขปัญหาตามที่รัฐบาลไทยเรียกร้อง หากกัมพูชาไม่ทำตาม ไทยก็จะใช้มาตรการบีบบังคับที่รุนแรงขึ้น
สำหรับประเทศที่มีความขัดแย้งกัน ถ้าบีบบังคับแล้วยังไม่ได้ผล ก็อาจจะใช้มาตรการที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศตอบโต้ มาตรการที่ว่าก็มี Blockade คือการปิดอ่าว ซึ่งเป็นการปิดล้อมทางทะเล หรือแทรกแซงด้วยกำลังทหาร
https://m.economictimes.com/news/defence/south-china-sea-beijing-has-a-major-natural-advantage-in-the-geopolitical-power-game/articleshow/76423659.cms
บางทีก็กักเรือและสินค้า หลายครั้งถึงขนาดอาจจะยึดเรือและสินค้าเพื่อไว้ชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของประเทศตน
ที่เราเห็นสหรัฐทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศกับประเทศอื่นอยู่บ่อยๆ ก็คือเรื่องการยึดทรัพย์สินของประเทศอื่นที่อยู่ในสหรัฐ และที่สหรัฐทำกับประเทศอื่นบ่อยกว่านั้นอีกก็คือ การโจมตีทางอากาศ อย่างที่เคยทำกับลิเบีย อิรัก ฯลฯ
ถามว่า ‘ประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถจะลงโทษนักการทูตที่ทำผิดได้หรือไม่’
ขอตอบว่า ‘ไม่ได้ครับ’ เพราะนักการทูตมีความคุ้มกันทางการทูต ที่พอทำได้ก็คือขับนักการทูตออกนอกประเทศ เพื่อแสดงว่าตัวเองไม่พอใจในปัญหาความสัมพันธ์ของสองประเทศ
มีหลายครั้งที่นักการทูตถูกกล่าวหาว่าทำจารกรรมและถูกไล่ออกจากประเทศ ซึ่งสหรัฐและอังกฤษใช้วิธีนี้บ่อยมาก
และก็มีหลายครั้งที่มีการไล่นักการทูตออกจากประเทศของตน โดยประเทศที่เอ่ยปากไล่ให้เหตุผลว่า นักการทูตคนที่โดนไล่มีการกระทำไม่สอดคล้องกับฐานะของนักการทูต แน่นอนครับ ก็จะต้องโดนตอบโต้ ไล่กันไปไล่กันมา
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศที่เอ่ยปากไล่จำเป็นต้องแจ้งให้นักการทูตผู้นั้นทราบก่อนว่าคุณเป็น ‘Persona non grata’ หมายถึง ‘บุคคลที่ไม่พึงปรารถนา’ ในใบแจ้งจะต้องบอกกำหนดที่ให้ออกจากประเทศ เช่น ภายใน 3 วันหรือ 7 วัน
เดี๋ยวนี้มีการตอบโต้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการตอบโต้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น Boycott หรือ ‘การคว่ำบาตรสินค้า’ ‘การห้ามสินค้าผ่านแดน’ Embargo หรือ ‘การห้ามส่งออกสินค้า’ และที่ไทยเคยโดนบ่อยๆ ในอดีตก็คือ การตัดจีเอสพีหรือ ‘ตัดสิทธิพิเศษทางการค้า’
นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีเรื่องการแสดงแสนยานุภาพทางทหารใส่กัน ผู้อ่านท่านคงจะเคยได้ยินนะครับ เรื่องของการซ้อมรบ ทั้งซ้อมในดินแดนตัวเองหรือว่าในทะเลหลวงเพื่อบังคับให้อีกประเทศหนึ่งแก้ไขสถานการณ์
ประเทศมหาอำนาจที่มีกำลังทางทหารเหนือกว่ามักจะใช้วิธีนี้ การซ้อมรบนี่ก็ถือว่าเป็นการตอบโต้ที่ถูกกฎหมาย
ประเด็นเรื่องของสหรัฐกับจีนกลายเป็นปัญหาข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียทุกภาษา
โลกสมัยนี้บางทีก็ไม่เกี่ยวเรื่องถูกผิดดอกครับ เกี่ยวกับเรื่องว่าพวกเราหรือเปล่า
ถ้าเป็นพวกเรากลุ่มเรา ทำอะไรก็ถูก
ถ้าเป็นพวกเขา ทำอะไรก็ผิด.
โฆษณา