28 ก.ค. 2020 เวลา 12:45 • กีฬา
โอเอซิสแห่งความสุขจากโลกลูกหนังที่รอคอยมา 20 ปี บนดินแดนสงคราม “อิรัก”
.
มั น เ กิ ด ขึ้ น ไ ด้ อ ย่ า ง ไ ร
เกมส์นัดประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี บนผืนแผ่นดินอิรัก Al Zawraa 1-1 Al Ahed รูปภาพประกอบจาก www.thenational.ae
.
หากเอ่ยชื่อถึงประเทศอิรัก หลายๆคนมักจะนึกถึงสงคราม กลุ่มก่อการร้าย ภาพระเบิด เสียงปืนที่ดังสนั่นหวั่นไหว ภาพความสูญเสีย สภาพบ้านเมืองที่เสียหายราบเป็นหน้ากลอง สภาพการเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆทั้งไทย และต่างประเทศมายาวนานเกือบๆ 20 ปี
.
จะว่าไปแล้วอิรักในสภาวะสงครามเป็นดินแดนที่มี 2 มิติซ้อนกันอยู่ มิติแรกก็คือสิ่งที่เราเห็นจนชินตาก็คือสงคราม และการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมายาวนาน
.
แต่ในมิติที่ 2 เป็นมิติที่น่าสนใจ ก็คือการที่ชาวเมืองต้องดำเนินชีวิตต่อไป แม้จะหวาดกลัวต่อภัยสงครามที่ไม่รู้จะเจอแจ็คพอตกับตัวเมื่อใหร่ แต่ปากท้องก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่หาอยู่หากินก็อดตาย และในมิตินี้เอง จะเป็นมิติที่สะท้อนวิถีชีวิตสภาพความเป็นอยู่และคุณค่าของความเป็นคนได้มากที่สุด
.
เหตุการณ์ทั้ง 2 มิติ มักจะดำเนินไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ War Zone ถ้านึกภาพไม่ออกขอยกตัวอย่างนะครับ เช่น
.
เมื่อ 2-3 ช่วงค่ำวันก่อนพึ่งมีการกราดยิงในบริเวณที่ห่างจากบ้านคุณไป 300-400 เมตร มีคนเสียชีวิตหลายคน แล้วหนึ่งในคนเสียชีวิตเป็นคนที่คุณรู้จักด้วย วันดีคืนดีกลางดึกในขณะที่นอนๆอยู่ก็ได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน
.
แต่ในขณะเดียวกันในตอนเช้าวันถัดมาคุณก็ต้องไปตลาดในพื้นที่ชุมชนของคุณเพื่อซื้ออาหาร และสิ่งของจำเป็นในการดำเนินชีวิต พ่อค้าแม่ค้าก็ยังคงต้องทำมาหากิน อาชีพต่างๆที่ชาวเมืองยังสามารถทำได้ ก็ยังคงดำเนินต่อไป
.
ชาวเมืองก็ใช้ชีวิตตามอัธภาพ ได้ออกมาประกอบกิจกรรมทางศาสนา ออกมาเจอเพื่อนๆ ออกมาเจอญาติพี่น้องพบปะพูดคุยกันตามปกติ ตามสิทธิที่มนุษย์พึงจะทำได้ท่ามกลางบรรยากาศสงครามที่ยังคงคุกกรุ่น
.
พอในอีก 5 วันต่อมาก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นใกล้ๆบ้านอีก คราวนี้มาในรูปแบบ Sticky Bomb หรือ การที่ผู้ก่อการร้ายแฝงตัวไปกับฝูงชนแล้ววิ่งเอาระเบิดไปแปะติดรถที่กำลังวิ่งอย่างช้าๆในเมือง โดยที่คนขับไม่รู้ตัว เมื่อรถวิ่งไปก็กดระเบิด ตู้มมมมม
.
ปรากฏว่าคนในรถที่เสียชีวิตคือญาติของคุณที่พึ่งคุยกัน เห็นหน้ากันไปเมื่อ 5 วันก่อน เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นวนลูปซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับชาวอิรักที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ War Zone
.
เมื่อนานวันเข้า ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นจะทำให้ชาวเมืองรู้สึกชินชา หรือ ปล่อยวางกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นก็ไม่เชิง ...เอ๊า!!! มีกราดยิงหรอ มีวางระเบิดหรอ แล้วยังงัย ฉันทำอะไรได้ เมื่อเหตุการณ์สงบก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป โดยไม่รู้ว่าจะถึงคราวซวยของตัวเองเมื่อใด
ISF : Iraqi Security Forces หรือ กองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก เข้ามาควบคุมพื้นที่ในเมืองนี้ตั้งแต่ปี 2014 รูปภาพประกอบจาก www.vox.com
.
แม้ชาวเมืองจะสามารถดำเนินชีวิตไปได้ แต่การหาความสุขเพิ่มเติมเฉกเช่นคนประเทศอื่นๆอย่างการออกไปทำกิจกรรมสันทนากรนอกบ้าน หรือ การไปชมกีฬาฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมที่นั่น แทบเป็นไปไม่ได้เลย
.
เพราะขนาดฟุตบอลทีมชาติอิรักเอง ยังต้องไปยืมสนามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน หรือ จอร์แดน เพื่อใช้เป็นสนามเหย้าในยามที่ต้องเล่นเป็นทีมเจ้าบ้าน
.
ถ้ายังจำกันได้ในการเล่นฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก รอบที่ 3 ทีมชาติไทยต้องไปเยือนอิรัก ซึ่งอิรักได้ยืมสนามในประเทศอิหร่านสำหรับใช้แข่งขัน ผลปรากฏว่า ไทยบุกไปเสมอกับอิรัก 2-2
.
หรือ ถ้าหากย้อนไปในระดับสโมสร ปี 2012 ในรายการ AFC Cup สโมสรชลบุรี เอฟซี จากไทยลีก ก็เคยออกไปเยือนสโมสร Al-Shorta Sports Club จากอิรัก โดย Al-Shorta ได้ยืมสนามในประเทศจอร์แดนในการเปิดบ้านต้อนรับชลบุรี เอฟซี ผลปรากฏว่า ชลบุรีบุกไปชนะ 4-2
.
แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ท่ามกลางสภาวะสงครามที่ยังคงดำเนินไป กลับมีเรื่องราวที่ทำให้ชาวอิรักมีรอยยิ้มแห่งความสุขอีกครั้ง มันเป็นความรู้สึกที่หายไปนานนับสิบๆปี ว่ากันว่านี่เป็นโอเอซิสแห่งความสุขจากโลกลูกหนังบนดินแดนสงคราม ที่รอคอยมานานกว่า 20 ปี
.
วันที่ 16 มีนาคม 2018 ในการประชุมที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย Fifa ได้ยกเลิกประกาศห้ามแข่งขันฟุตบอลในประเทศอิรัก
.
“ โลกจะได้เห็นว่าอิรักก็มีความสามารถในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันชิงแชมป์” คำกล่าวของ Ali Essam แฟนฟุตบอลชาวอิรัก หลังทราบว่า Fifa ได้ยกเลิกแบนอิรักจากการห้ามแข่งฟุตบอล
.
และในปี 2018 สโมสรฟุตบอล Al Zawraa Club ซึ่งเป็นสโมสรของอิรัก ได้รับสิทธ์ในการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอล AFC Cup ซึ่งเป็นรายการฟุตบอลสโมสรระดับทวีป เทียบได้กับ Europa League ของทวีปยุโรป (บอลถ้วยเล็กของทวีป)
.
ในรายการ AFC Cup 2018 สโมสร Al Zawraa ได้อยู่ในกลุ่ม B ร่วมกับสโมสรเพื่อนบ้านอาหรับอีก 3 ทีม ประกอบด้วย Al Ahed จากเลบานอน , Al Jaish จากซีเรีย และ Manama จากบาห์เรน
.
แน่นอนว่าการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นเกมการแข่งขันระดับนานาชาติเพียงหยิบมือเดียวที่จะเล่นในดินแดนอิรักในรอบกว่า 20 ปี
บรรยากาศกองเชียร์ Al Zawraa ในนัดที่เปิดบ้านรับการมาเยือนของ Al Ahed รูปภาพประกอบจาก AFC
.
แต่เดิมสโมสร Al Zawraa พวกเขามีสนามเหย้า Al-Zawra'a Stadium อยู่ในกรุงแบกแดด แต่เนื่องจากอยู่พื้นที่อันตราย หรือ War Zone ทาง Fifa จึงห้ามใช้สนามที่อยู่ในกรุงแบกแดด โดยอนุญาติให้ใช้สนามในเมืองที่ได้รับการยกเว้นให้แข่งขันได้ คือเมือง Karbala, Basra และ Erbil เท่านั้น
.
ทำให้ทางสโมสรต้องเลือกสนามที่มีอยู่ใน 3 เมืองนี้ และจากการพิจารณาแล้วพวกเขาได้เลือกสนาม Karbala International Stadium ขนาดความจุ 30,000 ที่นั่ง ที่อยู่ในเมือง Karbala (กัรบะลาอ์ บ้างก็อ่าน คาร์บาลา) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางทิศตะวนเฉียงใต้ ห่างจากกรุงแบกแดด เมืองหลวงชองประเทศอิรักราวๆ 160 กิโลเมตร
1
.
แม้ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 ได้มีการโจมตีโดยมือระเบิดฆ่าตัวตายที่เป็นผู้หญิงรายหนึ่ง กลางตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน ทางตะวันออกของเมือง Karbala เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 35 คน ซึ่งนักรบรัฐอิสลาม (IS) ออกคำแถลงผ่านสำนักข่าวอามัค ที่เป็นกระบอกเสียงของตน อ้างว่าเหตุโจมตีที่นอกเมือง Karbala ครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มตน
.
ในปัจจุบันเมือง Karbala ซึ่งเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ในอิรัก ได้อยู่ในการควบคุมของ ISF : Iraqi Security Forces หรือ กองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก ที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ในเมืองนี้ตั้งแต่ปี 2014
.
การเข้ามาควบคุมของ ISF ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆได้ซาลงไปพอสมควร เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้ จึงทำให้ Fifa และสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย อนุญาตให้แข่งขันฟุตบอลรายการระดับนานาชาติในเมืองนี้ได้
.
เกมส์ AFC Cup 2018 ของAl Zawraa ในการเล่นนัดเหย้า เกมส์แรกกับ Al Jaish ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2018 (ก่อนที่ Fifa จะยกเลิกประกาศห้ามแข่งขันฟุตบอลในประเทศอิรัก) พวกเขาต้องไปใช้สนามแข่งขันในประเทศกาตาร์ ผลปรากฏว่าเสมอแบ่งแต้มกันไป Al Zawraa 1-1 Al Jaish
.
แต่ให้หลังเพียง 20 วัน หลังจากที่พวกเขาแข่งเกมส์แรกจบไป วันที่ 16 มีนาคม 2018 Fifa ก็ได้ยกเลิกแบนอิรักจากการห้ามแข่งฟุตบอลในรายการระดับนานาชาติ
.
เมื่อมีประกาศออกมาเช่นนี้นั่นเท่ากับว่าเกมส์นัดเหย้าอีก 2 นัดที่เหลือกับ Al Ahed และ Manama พวกเขาจะได้เล่นบนผืนแผ่นดินประเทศตัวเองในรอบ 20 ปี
.
ข่าวนี้นับเป็นข่าวที่ทำให้ชาวอิรัก โดยเฉพาะแฟนกีฬามีใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มอีกครั้ง การได้เห็นกีฬากลับมาแข่งได้บนผืนแผ่นดิยอิรัก มันทำให้ชาวอิรักมีความหวังว่าสถาณการณ์ในอิรักจะกลับมาสงบในเร็ววัน...นี่มันเป็นเกมส์การแข่งขันที่หลายๆคนเฝ้ารอมานาน
.
“ มันเป็นเกมที่สำคัญสำหรับเรา”
Ayub Oudisho เฮดโค้ช Al Zawraa กล่าวสั้นๆก่อนเริ่มเกมส์การแข่งขัน
.
10 เมษายน 2018 วันที่หน้าประวัติศาสตร์วงการกีฬาอิรักต้องจารึกเหตุการณ์นี้ไว้ ...เมื่อสโมสร Al Zawraa เปิดสนาม Karbala International Stadium ในเมือง Karbala ต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน สโมสร Al Ahed จากเลบานอน บรรยากาศก่อนเริ่มเกมส์มีความคึกคักอย่างเห็นได้ชัด มันเป็นบรรยากาศที่หายไปจากดินแดนอิรักนานกว่า 20 ปี
1
.
ตั้งแต่เช้าตรู่ในวันแข่งขัน รถยนต์ของแฟนบอลจะจอดเรียงกันที่จุดตรวจที่ทางเข้าสู่สนามแข่งขันในเมือง Karbala ในขณะที่แฟนบอลบางส่วนหลายร้อยชีวิตได้มากับขบวนรถบัส พร้อมโบกธงสีขาวอันเป็นตราสัญลักษณ์ของสโมสร Al Zawraa
.
ถ้าหากมองผิวเผินมันก็เหมือนกับการเชียร์ฟุตบอลตามต่างประเทศ ที่เรามักจะเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติ เพราะที่นี่คืออิรัก ดินแดนที่ยังคงมีสงครามเกิดคุกกรุ่นอยู่
1
.
แฟนบอลที่เข้าชมทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ดูมีความตื่นเต้น และกระตือรือร้นในการเชียร์มาก เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และการเปล่งเสียงตะโกนเชียร์อย่างฮึกเหิม มันการันตีว่าพวกเขาต้องการความสุขแบบนี้จริงๆ และพวกเขาก็ควรได้รับมัน
.
ผลการแข่งขันในเกมส์นี้ จบด้วยการแบ่งแต้มกันไป Al Zawraa 1-1 Al Ahed ท่ามกลางแฟนบอลมากกว่าหนึ่งหมื่นสี่พันชีวิตที่เข้ามาชมในสนาม
.
และในอีก 6 วันต่อมา 16 เมษายน 2018 พวกเขาก็เปิดบ้านเจอกับ Manama อาคันตุกะจากบาห์เรน คราวนี้พวกเขาไม่ทำให้แฟนบอลเฉียดหมื่นชีวิตที่เข้ามาชมผิดหวัง เมื่อสามารถเอาชนะผู้มาเยือนได้เฉียดฉิว Al Zawraa 2-1 Manama
.
แต่น่าเสียดายแม้พวกเขาจะชนะ หลังจบทัวร์นาเมนต์พวกเขามี 10 แต้ม อยู่อันดับ 2 ของกลุ่ม จากทั้งหมด 4 ทีมชวดเข้าไปเล่นรอบ 16 ทีม อย่างน่าเสียดาย ซึ่งในรายการ AFC Cup จะคัดเอาเฉพาะทีมอันดับ 1 เข้ารอบ โดย Al Zawraa มีแต้มตามหลังจ่าฝูง Al Ahed จากเลบานอนที่มี 12 แต้ม เพียงแค่ 2 แต้ม เท่านั้น
บรรยากาศภายในสนาม Karbala International Stadium เป็นสนามฟุตบอลแบบไร้ลู่วิ่ง หรือ ที่แฟนฟุตบอลนิยมเรียกว่า Football Stadium มีความจุ 30,000 ที่นั่ง รูปภาพประกอบจาก iraqfootball.me
.
ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ไปต่อ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนบอลต่างประเทศ โดยเฉพาะแฟนบอลแถบเอเชียที่ได้พบเห็นผ่านการถ่ายทอดสด เมื่อ Al Zawraa เล่นเกมส์เหย้าที่อิรัก เรื่องที่ว่านี้ก็คือสนามแข่งขันที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีสนาม และบรรยากาศการเชียร์แบบนี้ในอิรัก
.
สนามฟุตบอลแบบไร้ลู่วิ่ง หญ้าสีเขียวเนียนกริ๊บ อัฒจรรย์แบบสองชั้น มีหลังคารอบสนาม บรรยากาศภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย และยิ่งบวกกับเสียงเชียร์ที่กึกก้องไปทั่วทั้งสนาม ถ้าหากไม่บอกว่านี่คือสนามฟุตบอลที่อยู่ในอิรัก หลายๆคนคงคิดว่าเป็นสนามของสโมสรในลีกยุโรปเป็นแน่ แม้แต่แอดมินเองซึ่งเป็นคนที่ติดตามฟุตบอลเอเชียพอสมควรยังรู้สึก Stunning กับสิ่งนี้เมื่อได้เห็นเป็นครั้งแรก
.
Karbala International Stadium เป็นสนามฟุตบอลแบบไร้ลู่วิ่ง หรือ ที่แฟนฟุตบอลนิยมเรียกว่า Football Stadium มีความจุ 30,000 ที่นั่ง เจ้าของสนามก็คือรัฐบาลอิรัก สนามแห่งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 100 ล้านดอลลาร์ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2016
.
ซึ่งมันได้กลายเป็นสนามที่สะท้อนมุมมองการพัฒนาของวงการกีฬาอิรักในยุคปัจจุบันต่อสายตาชาวโลกได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว มันทำให้คนนอกมองอิรักในมุมมองที่เปลี่ยนไปในเชิงบวกมากพอสมควร
.
หลังจบการแข่งขันเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆดูจะซาลงมาก แต่มิวายในเดือนกันยายน ปี 2018 เมือง Karbala ก็วนกลับมาเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงอีกจนได้ เหตุการณ์นี้เป็นการระเบิดรถโดยสาร ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 5 ราย นับเป็นหนึ่งในเหตุระเบิดร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในอิรัก แต่ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าเป็นการกระทำของกลุ่มตน แต่จุดที่เกิดเหตุนั้นก็อยู่ไกลจากสนามแข่งขันไปพอสมควร
การคุมเข้มในแต่ละพื้นที่ หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดรถบัสโดยสารในปี 2018 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 5 ราย นับเป็นหนึ่งในเหตุระเบิดร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในอิรัก รูปภาพประกอบจาก english.alaraby.co.uk
.
เหตุการณ์ระเบิดรถโดยสารทำให้ ISF : Iraqi Security Forces หรือ กองกำลังรักษาความปลอดภัยอิรัก ได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในแต่ละพื้นที่
.
ปี 2019 สโมสรฟุตบอล Al Zawraa Club ก็ได้รับข่าวดีอีกครั้ง เมื่อพวกเขาได้รับสิทธ์ในการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย AFC Champions League ซึ่งเป็นรายการฟุตบอลสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย เทียบได้กับ UEFA Champions League ของทวีปยุโรป หรือ Copa Libertadores แห่งทวีปอเนริกาใต้
.
ในรายการ AFC Champions League สโมสร Al Zawraa ได้อยู่ในกลุ่ม A ร่วมกับสโมสรเพื่อนบ้านอาหรับอีก 3 ทีม ประกอบด้วย Zob Ahan Esfahan จากอิหร่าน , Al Nassr จากซาอุดิอาระเบีย และ Al Wasl จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้มันจะเป็นงานที่ยากยิ่งของพวกเขา แต่การมาเล่นในครั้งนี้ พวกเขาสู้เต็มที่เพราะเป็นตัวแทน 1 เดียวจากอิรัก
.
แม้พวกเขาจะจบลงด้วยการตกรอบแบ่งกลุ่ม แต่ผลงานก็ไม่เลวเลยทีเดียว โดยชนะ 2 เสมอ 2 แพ้ 2 มี 8 แต้ม และจบในอันดับ 3 ของกลุ่มจากทั้งหมด 4 ทีม
.
เกมส์ที่ประทับใจมากที่สุดคือเกมส์ที่พวกเขาเปิดบ้านถล่ม Al Wasl ไป 5-0 ซึ่ง Al Wasl เป็นสโมสรที่มาจากแดนเศรษฐีอาหรับอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแน่นอนว่า Al Wasl เป็นสโมสรที่เพรียบพร้อมกว่า Al Zawraa แทบจะทุกมิติ
.
แต่ความมั่งคั่งของอาคันตุกะผู้มาเยือน ก็ไม่สามารถต้านทานความมุ่งมั่น และความฮึกเหิมในยามที่ Al Zawraa ลงเล่นบนผืนแผ่นดินอิรักได้ โดยนัดนี้ยังสร้างสถิติมีแฟนบอลเข้าชมมากที่สุดนับตั้งแต่เล่นในสนามแห่งนี้ ด้วยจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 27,500 คน
.
ลองคิดดูนะครับว่าเสียงเชียร์อย่างกึกก้องของกองเชียร์กว่า 27,500 ชีวิต จะสร้างความฮึกเหิมให้นักเตะได้มากขนาดไหน ทีมยิงเข้าแต่ละลูกนี่เฮกระหึ่มกันสุดๆ(ดูคลิปประกอบได้ที่นี่ครับ https://www.youtube.com/watch?v=xczUHdHEk6Y)
บรรยากาศนัดสนามแตก ในเกมส์ที่ Al Zawraa เปิดบ้านถล่ม Al Wasl จากยูเออีไป 5-0 ท่ามกลางแฟนบอลมากกว่า 27,500 คน เป็นภาพบรรยากาศที่เมื่อใครหลายๆคนเห็นเป็นครั้งแรก ก็ไม่เชื่อว่าอยู่ในอิรัก รูปภาพประกอบจาก AFC Champions League
.
อาจเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ Al Zawraa ต้องตกรอบไป แต่สิ่งที่ตามมา คือ พวกเขาได้เงินสนับสนุนก้อนใหญ่จากการมาเล่นในรายการที่ใหญ่สุดของทวีป และคราวนี้แฟนบอลทั่วเอเชียได้รู้กับพวกเขามากขึ้นกว่าตอนที่แข่ง AFC Cup 2018 สองเท่าตัว ซึ่งแฟนบอลเหล่านั้นยังพยายามค้นหาข้อมูล และอยากทำความรู้จักกับ Al Zawraa สโมสรจากอิรักแบบจริงจังเป็นจำนวนมาก
.
ซึ่งในรายการ AFC Champions League มีการถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆทั่วเอเชีย และมีผู้ชมมากกว่า 240 ล้านคน ตลอดทัวร์นาเม้นท์ มันเป็นตัวเลขที่มากกว่า AFC Cup เกือบสองเท่าตัวเลยทีเดียว
.
หลังจากนี้ไม่ว่าสถาณการณ์ความไม่สงบในอิรักจะเป็นอย่างไร แต่การที่พวกเขาได้มีทีมฟุตบอลได้เข้าไปเล่นในรายการที่ใหญ่ที่สุดในทวีป แม้จะตกรอบ แต่แฟนบอลชาวอิรักก็มีความสุขที่ได้มีส่วนร่วม
ชัยชนะของ Al Zawraa มันคือโอเอซิสแห่งความสุข ที่มอบรอยยิ้มให้กับชาวอิรักในรอบ 20 ปี รูปภาพประกอบจาก AFC
.
และนอกเหนือไปจากนั้นภาพบรรยากาศการแข่งขัน การเชียร์ฟุตบอลที่สนุก รอยยิ้มของกองเชียร์ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก ซึ่งมันได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี มันทำให้พวกเขามีความหวังที่จะเห็นอิรักกลับมาสงบในเร็ววัน
#theinspire #inspirestory #Iraq #Iraqfootball #AlZawraa
อ้างอิงโดย :
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม ถ้าหากมีประเด็นใดที่ตกหล่น ขาดตก บกพร่อง ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่แปลมา และเรียบเรียงใหม่ จึงอาจไม่ตรงตามต้นฉบับเดิม 100%
ถ้าหากเรื่องราวนี้ ช่วยสร้างแรงบัลดาลใจ หรือ สร้างความน่าสนใจให้กับท่านผู้อ่าน สามารถกดแชร์ และติดตาม Inspire Story เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะครับ
โฆษณา