29 ส.ค. 2020 เวลา 02:19 • สุขภาพ
เรื่องเล่าเม้าท์ไปเรื่อย ตอน อัพเดทวัคซีนโควิดของไทย อยู่ตรงไหนแล้ว.....
สถานการณ์ปัจจุบันของวัคซีนทั่วโลก ขณะนี้มีวัคซีนที่ทดลองในสัตว์ทดลองอยู่ทั่วโลกกว่า 140 โครงการ
ส่วนที่เริ่มทดลองในมนุษย์หรืออาสาสมัครแล้วมีเพียง 42 โครงการ มีวัคซีน 7 ตัว ที่เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 ถ้าผ่านการทดลองเฟสนี้ สามารถผลิตวัคซีนนำมาใช้ได้แล้ว
แต่มี 1 วัคซีนที่จดสิทธิบัตรและนำออกมาใช้ แม้จะยังไม่ได้ผ่านการทดสอบในเฟส 2 และ 3 นั่นคือวัคซีน Sputnik-V ของรัสเซีย
การผลิตวัคซีนโควิด -19 ของไทย ถูกวิจัยโดยศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความสำเร็จการทดลองในลิง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 โดยระดับภูมิต้านทานในลิงขึ้นในระดับดีมาก (1:5,000)
ตามกำหนดการแล้ว ศูนย์วัคซีน จุฬาลงกรณ์ฯ จะเริ่มทำการทดลองในมนุษย์เฟสแรก ช่วงเดือนต้นเดือนตุลาคม ซึ่งวางแผนไว้ 3 เฟส
ศูนย์วิจัยวัคซีนฯ ได้เริ่มสั่งผลิตวัคซีน mRNA จำนวน 2 ชนิดจากโรงงานในสหรัฐและแคนาดา เพื่อเตรียมวัคซีนราว 10,000 โดส เพื่อใช้สำหรับการทดลองในมนุษย์ทั้ง 3 ระยะ แต่แล้วก็มีปัญหาเพราะโรงงานไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ทัน เนื่องจากมีออเดอร์สั่งมาจากทั่วโลก
นั่นทำให้ความฝันของคนไทยต้องรอเก้อ.........
อย่างไรก็ตามไทยจะได้วัคซีนตัวที่ใช้สำหรับนำร่องทดลอง ไม่น่าจะเกินปลายปีนี้ หากทดลองในคน เฟส 2และ3 ประสบความสำเร็จ เราจะสามารถผลิตได้ภายในประเทศ ไม่ต้องไปจองคิวผลิตกับโรงงานต่างประเทศแล้ว หากขั้นตอนทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนการ ประเทศไทยอาจจะได้มีวัคซีนใช้ปลายปี 2564
ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเอง ได้มีการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยของทีมวัคซีน จุฬาฯ และทีมวัคซีนอื่นๆ ของไทยอย่างเต็มที่ โดยจัดสรรงบให้ทีมจุฬาฯ ประมาณ 400 ล้านบาท และจะนำไปร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 และถอดแบบเทคโนโลยีจากวัคซีนต้นแบบจากต่างประเทศ
เพื่อหวังให้ขั้นตอนการผลิตวัคซีนของไทยจะผลิตได้เร็วขึ้น......
นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังได้เจรจาสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งจากประเทศจีน และ ยุโรป ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จ ประเทศไทยจะได้วัคซีนมาศึกษาภายในต้นปี 2564
ไม่ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนใช้เองหรือเรียนรู้มาจากวัคซีนต้นแบบจากต่างประเทศ แต่อย่างน้อย กว่าที่เราจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีน คงต้องรออย่างน้อยกลางปีหน้า ระหว่างนี้เราคงต้องใส่หน้ากาอนามัย เว้นระยะห่าง ป้องกันตนเอง และปรับวิถีชีวิตแบบ New normal ไปก่อนอีกอย่างน้อย 1 ปี
ทำใจไปยาวๆครับ.......
ที่มา :
ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
โฆษณา