10 ส.ค. 2020 เวลา 16:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดาวอังคารในอดีตอาจจะไม่ได้อบอุ่น เต็มไปด้วยมหาสมุทรและทะเลสาปอย่างที่เราเคยคิดกันไว้ แต่อาจจะเป็นโลกที่หนาวเหน็บและถูกปกคลุมไปด้วยแผ่นพืดน้ำแข็ง 🥶
ภาพถ่ายบริเวณขั้วของดาวอังคารแสดงให้เห็นถึงพืดน้ำแข็งที่ยังหลงเหลือ
ปัจจุบันนี้ดาวอังคารได้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งและหนาวเหน็บไร้ซึ่งชีวิต แต่จากข้อมูลการสำรวจดาวอังคารที่เราเริ่มได้รับจากยานสำรวจต่าง ๆ นั้นได้บ่งชี้ว่าดาวอังคารเคยมีน้ำ
ด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของแม่น้ำ ทะเลสาปและบริเวณที่น่าจะเคยเป็นมหาสมุทร
ภาพจำลองคอมพิวเตอร์ของ Perseverance rover และ Mars helicopter
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายาน Perseverance rover ของ NASA ก็ได้เริ่มการเดินทางสู่ดาวอังคารเพื่อสำรวจดาวอังคารให้ลึกกว่าที่เคย และหนึ่งในจุดประสงค์ของการสำรวจก็คือการสำรวจหาสิ่งมีชีวิตรวมถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่อาจจะเคยมีในอดีต
ด้วยข้อมูลที่เรามีจนถึงวันนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์จินตนาการไปถึงภาพของดาวอังคารในอดีตที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยแม่น้ำ ทะเลสาป รวมถึงมหาสมุทร
ภาพในจินตนาการของดาวอังคารในอดีตกับสภาพในปัจจุบัน
มาวันนี้งานวิจัยใหม่ได้นำเสนอว่าแท้จริงแล้วร่องรอยของแม่น้ำที่ปรากฏเห็นอยู่ในวันนี้นั้นอาจไม่ได้เกิดจากการไหลของกระแสน้ำบนดินหรือแม่น้ำอย่างที่เราเคยคิด
โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Arizona ในอเมริกาได้เปรียบเทียบข้อมูลลักษณะของหุบเขาในบริเวณทางตอนใต้ของดาวอังคารกับลักษณะของหุบเขาที่เกิดบนโลก
ซึ่งพบว่ามีความคล้ายคลึงกับหุบเขาที่ถูกกัดกร่อนจากการละลายของพืดน้ำแข็งบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือของประเทศแคนาดา
ภาพเปรียบเทียบลักษณะของแนวหุบเขาที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมีนัยะ
ซึ่งรูปแบบการกัดกร่อนของหุบเขารูปแบบนี้เกิดจากการละลายของพืดน้ำแข็งที่ปกคลุม
โดยการกัดเซาะรูปแบบนี้จะต่างจากการกัดเซาะของแม่น้ำปกติ เพราะแม่น้ำนั้นน้ำจะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วงเท่านั้น
แต่กับแม่น้ำที่เกิดจากการละลายของพืดน้ำแข็งนั้นจะโดนน้ำหนักของแผ่นน้ำแข็งด้านบนกดทับทำให้เกิดการกีดเซาะจากการไหลย้อนจากที่ระดับต่ำไประดับสูงกว่าได้
สีขาวคือบริเวณที่งานวิจัยนำรูปแบบมาศึกษา
จากข้อมูลกลุ่มแนวหุบเขา 66 แห่งที่นำมาวิเคราะห์ ทีมวิจัยพบว่ามี 22 กลุ่มที่มีลักษณะที่น่าจะเกิดจากแม่น้ำใต้แผ่นน้ำแข็ง และ 14 กลุ่มเป็นลักษณะของแม่น้ำผิวดิน ส่วนที่เหลือเป็นรูปแบบการกัดเซาะที่ไม่ตรงทั้ง 2รูปแบบ
ทีมวิจัยจึงคาดว่าจริง ๆ แล้วดาวอังคารในอดีตตั้งแต่ 3,800 ล้านปีก่อนน่าจะปกคลุมไปด้วยพืดน้ำแข็ง แต่อาจจะไม่ถึงกับเป็นลักษณะก้อนบอลน้ำแข็งและค่อย ๆ ละลายตัวลงตามเวลา จะมามีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ชาร์ทสรุปรูปแบบหุบกลุ่มหุบเขาที่ศึกษา สีฟ้าคือกลุ่มที่เกิดจากธารน้ำแข็ง ส่วนสีเหลืองเป็นแม่น้ำใต้แผ่นน้ำแข็ง สีแดงคือแม่น้ำผิวดิน
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นข่าวร้ายต่อการค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต เพราะว่าแม่น้ำใต้แผ่นน้ำแข็งก็อาจจะมีชีวิตกำเนิดและดำรงอยู่ได้อย่างเช่นที่มีอยู่ใต้ธารน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือ
และการที่มีแผ่นน้ำแข็งอยู่จะเป็นการช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตจากรังสีอวกาศโดยไม่ต้องอาศัยสนามแม่เหล็ก รวมถึงทำให้อุณหภูมิของน้ำที่ละลายอยู่ด้านล่างนั้นค่อนข้างคงที่อีกด้วย
ดาวอังคารในอดีตอาจจะหนาวเหน็บเต็มไปด้วยแผ่นน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งชีวิตไปซะทีเดียว
ปีหน้าเราคงได้รู้กันว่าเคยมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์สีแดงนี้หรือไม่ เมื่อยาน Perseverance rover เริ่มการสำรวจอย่างจริงจัง 😉
โฆษณา