14 ส.ค. 2020 เวลา 06:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ประวัติของเฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้าเป็นชื่อของพืชในสกุล [Bougainvillea] ซึ่งมีลักษณะเป็นเถา เป็นพุ่ม หรือเป็นต้นที่มีหนาม ลักษณะเด่นของเฟื่องฟ้าคือ ส่วนที่เหมือนดอกที่มีสีสันสดใส แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนที่เราเห็นเป็นกลีบที่มีสีสันสดใส คล้ายกลีบดอก (Petal) หรือกลีบเลี้ยง (Sepal) นั้นคือ ส่วนของใบที่เปลี่ยนมาทำหน้าที่พิเศษ เรียกว่า ใบประดับ (Bracts หรือ Sepallike bracts) แต่ส่วนของดอกที่แท้จริงคือดอกเล็กๆ สีขาวสามดอกที่อยู่ตรงกลางดังรูปข้างล่าง โดยใบประดับนี้จะช่วยในการดึงดูดสัตว์ที่ช่วยผสมเกสรแทนดอกที่แท้จริงที่มีขนาดเล็ก ใบประดับนี้โดยปกติจะมีสีม่วง ชมพู แดง แต่ก็อาจจะมีการผสมพันธุ์จนเป็นสีอื่นๆ ได้ เช่น สีส้ม ขาว น้ำเงิน หรือสีเหลือง
ในขอบเขตการแพร่กระจายตามธรรมชาติของพืชกลุ่มนี้ในประเทศบราซิล มีรายงานว่า สัตว์ที่เป็นผู้ผสมเกสรของเฟื่องฟ้า ได้แก่ มอธที่ออกหากินในเวลากลางคืน แต่หลังจากที่พืชกลุ่มนี้ถูกนำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทำให้พบว่ามีสัตว์หลากหลายชนิดที่ช่วยผสมเกสรของพืชชนิดนี้ เช่น ผึ้ง แมลงวัน และผีเสื้อกลางวัน
โครงสร้างของดอกเฟื่องฟ้า และใบประดับ
เฟื่องฟ้าถูกค้นพบโดยนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Philibert Commerçon (หรือ Commerson) ผู้ซึ่งได้ล่องเรือไปกับผู้บัญชาการเรือชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Louis Antoine de Bougainville ในภารกิจการล่องเรือไปรอบโลกในปี ค.ศ. 1766-1768 โดยหน้าที่ของ Philibert Commerçon คือการเก็บตัวอย่างและศึกษาพืชจากการล่องเรือครั้งนั้น โดย Philibert Commerçon ได้นำคนรักและผู้ช่วยที่ชื่อว่า Jeanne Baré (หรือ Baret) ไปกับเขาด้วย แต่เนื่องจากในสมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเรือไปด้วย Jeanne Baré จึงต้องปลอมตัวเป็นผู้ชาย และเมื่อเธอเดินทางกลับมาที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1775 ทำให้ Jeanne Baré เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เดินทางรอบโลก และอาจจะเป็น Jeanne Baré นี้ที่เป็นผู้พบเฟื่องฟ้าเป็นคนแรก และนำตัวอย่างไปให้ Philibert Commerçon
1
เมื่อ Philibert Commerçon ได้ค้นพบเฟื่องฟ้าในประเทศบราซิล เขาจึงตั้งชื่อสกุลของเฟื่องฟ้าให้เป็นเกียรติกับผู้บัญชาการเรือ Louis Antoine de Bougainville และได้ตั้งชื่อพืชอีกสกุลหนึ่งที่เข้าพบบนเกาะมาดากัสการ์เพื่อให้เป็นเกียรติกับ Jeanne Baré ได้แก่สกุล [Baretia] แต่ปัจจุบันพืชสกุลนี้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นสกุล [Turraea] แล้ว เนื่องจากเป็นชื่อซ้ำ แต่ถ้าใครเสียใจแทน Jeanne Baré ที่ไม่มีพืชที่มีชื่อของตัวเอง อาจจะไม่ต้องเสียใจไป เพราะในปี 2012 มีการตั้งชื่อพืชชนิดหนึ่งในสกุลมะเขือ เพื่อเป็นเกียรติให้กับ Jeanne Baré ในการช่วย Philibert Commerçon เก็บรวบรวมตัวอย่างพืชเพื่อการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ ได้แก่ พืชชนิด [Solanum baretiae] (Tepe et al., 2012)
Philibert Commerçon ไม่ได้กลับมายังประเทศฝรั่งเศสกับเรือ แต่อยู่ที่เกามอริเทียส (Mauritius) ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสเพื่อศึกษาพืชบนเกาะนี้และเกาะมาดากัสการ์ต่อ ในขณะที่ Jeanne Baré ก็อยู่ด้วยกันจน Commerçon เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1773 ตอนอายุ 43 ปี ทำให้คนที่ตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อสกุลของเฟื่องฟ้าจึงไม่ใช่ Commerçon แต่เป็น Antoine Laurent de Jussieu ในปี ค.ศ. 1789
Philibert Commerçon (1727-1773) และภาพวาดของ Jeanne Baré (1740-1807) จากจินตนาการในสมัยที่เธอปลอมตัวเป็นผู้ชายเป็นลูกเรือ
พืชในสกุลเฟื่องฟ้ามีทั้งหมดประมาณ 18 ชนิด แต่ชนิดที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปมี 3 ชนิด คือ [Bougainvillea spectabilis], [Bougainvillea glabra] และ [Bougainvillea peruviana] พืชในสกุลนี้พบแพร่กระจายในธรรมชาติในบริเวณอเมริกากลางถึงอเมริกาใต้ นอกจากนั้นพืชในสกุลนี้ยังสามารถผสมพันธ์ุกันจนเกิดเป็นลูกผสม (Hybrid) และลูกผสมบางตัวก็ถูกนำมาใช้เป็นไม้ประดับเช่นกัน
เฟื่องฟ้าชนิด [Bougainvillea spectabilis] (ที่มา By Forest & Kim Starr, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6188917)
[Bougainvillea spectabilis] เป็นเฟื่องฟ้าชนิดแรกที่ถูกค้นพบในบราซิล และถูกนำกลับมายังประเทศฝรั่งเศส และถูกบรรยายเป็นพืชชนิดใหม่ในปี ค.ศ. 1789 หลังจากนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เฟื่องฟ้าถูกนำกลับมายังทวีปยุโรป และถูกนำมาเพาะปลูกและแพร่กระจายในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ และในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนทั่วโลก เช่น เฟื่องฟ้าถูกนำเข้าไปในประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 1860 และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี ค.ศ. 1880
นอกจากจะถูกนำมาใช้เป็นไม้ประดับ เฟื่องฟ้ายังสามารถผลิตสารเคมีหลายตัวที่นำมาใช้เป็นยาได้ เช่น Pinitol ที่นำมาใช้ในการรักษาเบาหวานได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายอินซูลิน นอกจากนั้นเฟื่องฟ้ายังมีการผลิตสารกลุ่มอัลคาลอยด์ แทนนิน ฟลาโวนอยด์ ฟูลานอยด์ ควิโนน และสารอื่นๆ อีกหลายตัว ทำให้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้เป็นหมัน (Antifertility) และสารลดอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ได้อีกด้วย
ถ้าสนใจเรื่องไม้ดอกไม้ประดับ อาจจะสนใจเรื่องดอกแพงพวยฝรั่งด้วยนะครับ
เอกสารอ้างอิง
2. Tepe EJ, Ridley G, Bohs L. A new species of Solanum named for Jeanne Baret, an overlooked contributor to the history of botany. PhytoKeys. 2012;(8):37-47. doi:10.3897/phytokeys.8.2101
4. Kobayashi, Kent & Mcconnell, James & Griffis Jr, John L. (2007). Bougainvillea. Ornamentals and Flowers. 38.
5. Ghogar, Anisa & Jiraungkoorskul, Kanitta & Jiraungkoorskul, Wannee. (2016). Paper Flower, Bougainvillea spectabilis: Update Properties of Traditional Medicinal Plant. Journal of Natural Remedies. 16. 82. 10.18311/jnr/2016/5703.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา