16 ก.ย. 2020 เวลา 04:11
เช็คภูมิคุ้มกันและวัคซีนทางการเงินเพื่อรับมือไวรัสครองโลก
"36.4 องศา ผ่านครับ อย่าลืมสแกนคิวอาร์โค้ดนะครับ"
ถึงตอนนี้ทุกคนคงคุ้นชินกับคำพูดนี้แล้ว จากที่เราอยู่กับวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 มาเกินครึ่งปีกับการใช้ชีวิตที่เราเรียกว่านิวนอร์มอลที่ดำเนินไปด้วยความหวังว่าโลกจะค้นพบวัคซีนโควิดได้ในเร็ววันเพื่อให้เรากลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
แต่เวลานี้นิวนอร์มอลเริ่มกลายเป็นนอร์มอลและหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าวิกฤติการณ์ไวรัสนี้จะหมดไปเมื่อไหร่ หลายคนเริ่มมีความคิดว่ากว่าเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามเดิมอาจจะต้องรออีก 2-3ปี และหลายคนเริ่มพูดว่ากำลังจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจของครอบครัวซ้อนเข้าไปกับวิกฤติไวรัส
Credit : The Economists & Unsplash.com
รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันก่อผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะการหดหายไปของกำลังซื้อกำลังบริโภคทั้งจากประชาชนในประเทศและต่างประเทศหมายถึงปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่ลดลง เมื่อการหมุมเวียนอ่อนแรงลงรอบการหมุมเวียนก็ยิ่งช้าลง ช่วงแรกๆ ธุรกิจและบุคคลยังพอมีสภาพคล่องหรือเงินสำรองเพื่อใช้จ่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายเดือนสภาพคล่องต่างๆ เริ่มหดหาย จากเดิมที่หลายธุรกิจมีความตั้งใจที่จะพยายามรักษาบุคคลากรที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร ตอนนี้หลายแห่งเริ่มมองถึงการลดค่าใช้จ่ายหลักเพื่อให้สามารถประคองตัวไปให้ได้นานที่สุด แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลากรต้องถูกนำมาดูอย่างแน่นอน ข่าวสารที่ผ่านตาเราแต่ละวันเป็นหลักฐานยืนยันและทำให้เราต้องคิดว่าแผนที่เราเตรียมไว้ยังเหมาะสมหรือไม่
เมื่อวัคซีนโควิดยังไม่ยอมมา เราก็ฉีดวัคซีนการเงินสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับตัวเราและครอบครัว ให้สามารถดำเนินชีวิตไปท่ามกลางปัญหาโควิด-19 จนกว่าจะพบวิธีการป้องกันรักษา
Credit : Unsplash.com
ช่วงแรกของการระบาดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม เรามักแนะนำคนรอบตัวว่าควรรักษาสภาพคล่องให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน แต่ถึงเวลานี้คงต้องกลับมาทบทวนกันว่าเราจะยังควรมองโลกในแง่ดีต่อไปหรือเปล่า เมื่อโลกทั้งใบถูกชัตดาวน์โดยไม่เห็นแววว่าจะกลับสู่ปกติเมื่อไหร่ และความหวังเรื่องวัคซีนดูยังเป็นความคาดหวังที่เลื่อนลอย
1. สภาพคล่องเป็นสิ่งแรกที่เราต้องเตรียมพร้อม
สภาพคล่องตามปกติที่แนะนำทางการเงินคือ 3 เดือน ช่วงแรกของการระบาดที่ยังคาดการณ์อะไรไม่ค่อยได้ คำแนะนำส่วนใหญ่คือสภาพคล่องประมาณ 6 เดือน ตอนนี้คุณมีสภาพคล่องต่ำกว่า 6 เดือนหรือเปล่าครับ? วิธีการเพิ่มสภาพคล่อง ทำได้คือ เพิ่มเงิน หรือลดค่าใช้จ่าย
Credit : Unsplash.com
ในสถานการณ์แบบนี้ การเพิ่มเงินไม่ใช่เรื่องง่าย แค่เพียงให้มีเงินหรือรายได้ไปตลอดเวลายังเป็นเรื่องที่เอาแน่ไม่ได้เลย การลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นวิธีที่เราทำได้ง่ายที่สุด สมมุติว่าเราเคยมีรายได้เดือนละ 24,000 บาท มีรายจ่ายเดือนละ 18,000 บาท เงินสำรองสภาพคล่อง 6 เดือนที่เราควรมีในรูปแบบต่างๆ คือ 18,000 บาท คูณ 6 เดือน หรือ 108,000 บาท แต่หากเราสามารถลดรายจ่ายได้ 25% เท่ากับเราต้องใช้จ่าย 13,500 บาทต่อเดือน เงินสำรองเพื่อสภาพคล่องที่เราควรมีคือ 81,000 บาท ถ้าเรายังคงมีเงินสำรองอยู่ 108,000 บาท เท่ากับเราจะมีสภาพคล่อง 8 เดือน
2. ลดหนี้ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
หากเรายังคงมีหนี้สินที่เป็น"รายจ่าย"ระยะยาวเช่นหนี้ค่าบ้าน หนี้ค่ารถ ลองศึกษาวิธีการบริหารหนี้ดูครับว่าเราควรปรับปรุงหนี้ที่มีอยู่หรือไม่ และเราจะลดต้นทุนของหนี้ได้อย่างไร หนี้บ้าน หนี้รถ ที่มีอยู่เดิม เป็นหนี้รายจ่ายผูกพันระยะยาวที่เราคงต้องผ่อนชำระต่อไป ควรลองดูว่าเราจะลดต้นทุนของหนี้ได้ยังไงบ้าง
แต่หากยังไม่มีหนี้รายจ่ายผูกพันธ์เหล่านี้ควรพยายามเลี่ยงหรือชะลอการก่อหนี้รายจ่ายใหม่ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น ช่วงนี้เจ้าของสินค้าพยายามโปรโมทให้เราซื้อสินค้าของเขา เราต้องคิดเองว่าควรจะซื้อหรือไม่แม้จะถูกแสนถูกก็ตาม
Credit : Unsplash.com
สำหรับหนี้ที่สร้างรายได้ เช่นหนี้การค้า หนี้การลงทุน หาความรู้ หาข้อมูลให้รอบก่อนตัดสินใจครับ
3. ลดความเสี่ยงที่จะต้องเกิดค่าใช้จ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่ๆ หรือโอกาสหายไปของรายได้
หากมีประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันอะไรก็ตามที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายหากเกิดความเสียหายหรือปัญหา แนะนำให้ทำไว้เพื่อป้องกันครับ
Credit : Unsplash.com
ช่วงที่เกิดปัญหา เกิดความเครียด หากมีปัญหาซ้อนเข้ามาเราจะยิ่งเผชิญความกดดันมากขึ้น โอกาสเจ็บป่วยจะตามมาได้
สำหรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้ คิดไว้หรือเปล่าว่าเราจะหารายได้ทางอื่นอย่างไร
บทความนี้ขอเน้นเรื่องการบริหารรายจ่ายและหนี้สิน เพื่อป้องกันภาระที่จะก่อผลกระทบหนักๆ หากเราเผชิญปัญหาด้านรายได้นะครับ
การลดค่าใช้จ่าย และ การลดการบริโภค มีผลต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน ระบบเศรษฐกิจรวมจะเดินไปได้ต้องมีการใช้จ่ายเพียงพอ ให้เงินได้หมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ระบบเศรษฐกิจในครอบครัวการรวบคุมรายจ่ายมีความจำเป็นมากเพื่อให้เราประคองนาวาลำน้อยๆ ให้ผ่านมรสุมลูกใหญ่ไปให้ได้นานที่สุด
3 เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ครับ แต่หลายคนยังทำได้ไม่ดี หากปรับจูนเรื่องเหล่านี้ให้ดีเราก็จะมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีครับ
ปิรามิดการเงินยังคงเหมือนเดิม แต่ส่วนฐานมีความสำคัญมากในภาวะวิกฤตการที่ดูหมือนจะลากยาวไปอีกนานครับ
โฆษณา