13 ส.ค. 2020 เวลา 03:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
13 สิงหาคม ค.ศ. 1865
วันเสียชีวิตของอิกนาซ เซมเมลไวสส์ (Ignaz Semmelweis)
แพทย์คนแรกที่ทำให้ให้โลกรู้จักการล้างมือ
(เรียบเรียงโดย พิชชาภา นิ้มวัฒนากุล)
ความก้าวหน้าในวงการแพทย์มักแลกมาด้วยความเสียสละสองประการ
1.ความเสียสละของแพทย์ในการทำงาน และ
2.ความเสียสละของผู้ป่วย
คำกล่าวนี้นับว่าจริงทีเดียวเพราะชีวิตหญิงสาวนับแสนคนซึ่งสังเวยชีวิตให้กับการคลอดบุตรและโรคร้ายหลังจากการคลอดที่รู้จักกันในชื่อ ไข้หลังคลอด (childbed fever) ซึ่งระบาดหนักในสถานผดุงครรภ์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
การกำจัดเชื้อ (disinfection) อย่างเป็นระบบริเริ่มโดย
สูตินรีแพทย์ชาวฮังกาเรียน ชื่อ อิกนาซ เซมเมลไวสส์ (Ignaz Semmelweis) โดยเขาพบว่าในโรงพยาบาลเวียนนา (Vienna Hospital) ที่เขาทำงานอยู่นั้นมีแม่ที่เสียชีวิตด้วยไข้หลังคลอดมากกว่าโรงพยาบาลอื่น ซึ่งเขาสังเกตว่าแพทย์ที่โรงพยาบาลของเขามักศึกษาศพก่อนมาตรวจรักษาผู้ป่วย! (ทำกันไปได้)
ไข้หลังคลอด (Childbed fever หรือ puerperal fever) เป็นภาวะติดเชื้อที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียส่งผลให้โลหิตเป็นพิษ (blood poisoning) นายแพทย์เซมเมลไวสส์สันนิษฐานว่าสารบางอย่างอาจส่งผ่านจากศพไปสู่หญิงที่เพิ่งคลอดได้
เมื่อเขาแนะนำให้บุคคลากรในโรงพยาบาลล้างมือในสารละลายที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบก่อนดูแลหญิงที่เพิ่งคลอดลูก จำนวนผู้เสียชีวิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
แม้คำแนะนำของเขาจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม
แต่แพทย์จำนวนมากในสมัยนั้นกลับไม่ยอมรับการค้นพบนี้ เพราะนั่นหมายความว่าแพทย์ทั้งหลายเป็นต้นเหตุแห่งการเสียชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก
1
นอกจากนี้แพทย์ส่วนใหญ่ในยุคนั้นยังเชื่อว่าสาเหตุของโรคคืออากาศที่เป็นพิษ (miasma) สุดท้ายเซมเมลไวสส์ถูกกักตัวในสถานดูแลผู้ป่วยทางจิตและถูกผู้คุมสถานดูแลตีจนเสียชีวิต!
หลังจากเขาเสียชีวิตลง ทฤษฎีของเขาก็ได้รับการยอมรับเนื่องจากการศึกษาเชื้อที่ก่อโรค โดย หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส และการพัฒนาการผ่าตัดแบบปลอดเชื้อ โดย โยแซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ
การเสียสละของเซมเมลไวสส์จึงนับว่าไม่แพ้การเสียสละของนักวิจัยคนไหนๆเลย
โฆษณา