25 ส.ค. 2020 เวลา 12:53 • การเมือง
รับผิดชอบต่อเสียงประชาชน
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
เมื่อวาน ผมรับใช้เรื่องที่อินโดนีเซียโดยกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งบริษัท พีที เปรูซาฮาบ เปอร์ดากันกัน ให้เป็นตัวแทนไปเจรจากับบริษัท รอสเทค ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนโดยรัฐวิสาหกิจโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ตของรัสเซีย ตัวแทนทั้ง 2 บริษัทลงนามเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อซื้อ-ขาย เครื่องบินรบ Su-35 จำนวน 11 ลำ ราคา 1,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยน
รวมทั้งเรื่องที่ปลัดกระทรวงการค้าเสนอยางแผ่น น้ำมันปาล์มดิบ เม็ดกาแฟ โกโก้ เนื้อมะพร้าวตากแห้ง ใบชา ปลา เครื่องเทศ ผ้าผืน รองเท้า พลาสติก ยางเรซิ่น เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป ฯลฯ เพื่อแลกกับการให้รัสเซียตั้งศูนย์การซ่อมบำรุงเครื่องบินรบซูคอยในอินโดนีเซีย
เพื่อนท่านหนึ่งถามในไลน์ไอดี @ntp59 ว่าอะไรทำให้อินโดนีเซียมีพัฒนาทางการเมืองได้ดีขึ้นถึงขนาดนี้ ทั้งที่ในยุคของพลเอกซูฮาร์โตมีแต่เรื่องอำนาจเผด็จการบ้าบอคอแตก
https://m.dw.com/en/20-years-after-suharto-indonesias-democracy-faces-renewed-challenges/a-43914865
ผมตอบว่าสมัยซูฮาร์โตมีพรรคโกลคาร์ที่ทรงอิทธิพลและมีเครือข่ายเหนียวแน่นระหว่างข้าราชการและผู้นำท้องถิ่นกับคณะผู้บริหารประเทศ ทุกอย่างใช้ระบบสั่งจากผู้มีอำนาจข้างบนให้ต้องทำโดยไม่เห็นหัวประชาชน ผู้นำไม่รับผิดชอบต่อเสียงของประชาชน
เดิมอินโดนีเซียมีระบบการเมืองล้มเหลว ประชาชนเลือกผู้แทนและผู้แทนไปเลือกประธานาธิบดี
การเมืองอินโดนีเซียดีขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งโดยตรง ประชาชนเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และใช้ระบบการเลือกตั้ง 2 รอบ หากรอบแรกไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเกินร้อยละ 50 ก็ต้องมาเลือกกันในรอบที่ 2
ฟิลิปปินส์มีพัฒนาการการเมืองคล้ายอินโดนีเซีย ล้มเผด็จการได้ แต่สถานการณ์ไม่เรียบร้อยดีเหมือนอินโดนีเซีย เพราะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนเช่นเดียวกัน แต่ใช้บัตร 2 ใบ ทำให้ประธานาธิบดีกับรองฯ บางครั้งไม่ได้มาจากพรรคเดียวกัน การทำงานจึงวุ่นวายขายปลาช่อน
อินโดนีเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและสหรัฐ การเลือกตั้งของอินโดนีเซียในระยะหลังได้รับการยกย่องจากผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งนานาชาติ ว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ประชาชนมีความเชื่อมั่นในสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ ผู้คนให้ความเชื่อถือคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แม้มีประชากรเยอะ แต่การเลือกตั้งไม่มีอะไรวุ่นวาย อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ.2557 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 138 ล้านคน การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปีนี้เช่นเดียวกัน มีคนมาใช้สิทธิมากถึงร้อยละ 75 มีหน่วยเลือกตั้งกระจายทั่วประเทศถึง 470,000 แห่ง ใช้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมากถึง 4 ล้านคน
เพื่อนบล็อกดิทท่านเชื่อไหมครับ ไม่มีความรุนแรง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันถึงขนาดบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย
มีการล้มการเลือกตั้งในไทยเมื่อต้นปี 2557 พอถึง 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีการปฏิวัติรัฐประหาร ผิดกับอินโดนีเซียซึ่งมีการเลือกตั้งทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (เมษายน 2557) การเลือกตั้งประธานาธิบดี (กรกฎาคม 2557) และ ส.ส. (สัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเปิด) โดยที่การเลือกตั้งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พอการเมืองไม่โดนแทรกแซง ประชาชนก็เชื่อถือและภูมิใจในระบอบประชาธิปไตย
สถาบันนานาชาติร่วมมือกับสถาบันภายในประเทศออกสำรวจความเห็นของประชาชน ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 88 ชมว่า กกต.อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งได้อย่างเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
ร้อยละ 78 ชมว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทำงานในเกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 77 พอใจกับการทำงานของ กกต. ร้อยละ 80 บอกว่าการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมาก
ต้องขอบคุณประธานาธิบดีพลเอกสุสีโล บัมบัง ยุทโดโยโน ซึ่งแม้จะเป็นทหาร แต่ในช่วง 10 ปีที่ครองอำนาจ (พ.ศ.2547-2557) ท่านวางมาตรฐานการเมืองใหม่เอาไว้ดี
https://mobile.abc.net.au/news/2009-07-08/indonesian-president-susilo-bambang-yudhoyono/1343488?nw=0&pfmredir=sm
การเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ.2557 อินโดนีเซียได้ผู้นำใหม่คือโจโก วิโดโด ที่เราทั่วไปมักจะเรียกว่า โจโกวี คนนี้มีความเป็นนักธุรกิจ (อดีตเจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์) และมีความเป็นประชาธิปไตยสูง รับผิดชอบต่อคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบให้
https://www.rand.org/blog/2019/04/what-jokowis-reelection-means-for-indonesia.html
วิโดโดนี่แหละครับ ฟังเสียงประชาชนด้วยการสั่งให้รัฐมนตรีไปเจรจากับรัสเซีย ทั้งเรื่องซื้ออาวุธ + ตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุง โดยใช้สินค้าเกษตรไปแลก.
โฆษณา