26 ส.ค. 2020 เวลา 22:24 • ท่องเที่ยว
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ... กลุ่มอาคารประกอบ
เป็นกลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มอาคารทั้งสองกลุ่ม ประกอบด้วย หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์
พระวิหารยอด
อยู่ระหว่างหอมณเฑียรธรรมและหอพระนาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นแทนที่หอพระเทพบิดร เรียกกันเป็นสามัญว่า วิหารขาว เป็นหอที่ใช้ประดิษฐานพระเทพบิดร พระนาก และพระแท่นมนังคศิลาของพ่อขุนรามคำแหง
ลักษณะของพระวิหารยอดเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 10.35 เมตร ยาว 10.50 เมตร มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก บันไดปูด้วยหินทราย 3 ขั้น
สองข้างบันไดประดับด้วยนกทัณฑิมาสัมริด ยืนถือกระบอง
พนักระเบียงประดับกระเบื้องปรุเคลือบแบบจีน ประตูเป็นซุ้มยอดทรงมงกุฏประดับกระเบื้องถ้วย บานประตูประดับมุข บานด้านในเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางแต่งกายแบบไทย เป็นบานประตูที่นำมาจากวิหารพระนอน วัดป่าโมก จ.อ่างทอง
เสาอิงและเสาจตุรมุขทั้ง 4 ด้านประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเป็นรูปบัวจงกล ซุ้มผนังเป็นช่องโค้งทรงแหลมแบบคูหาหน้านางประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเป็นลายดอกไม้ใบไม้ ยอดซุ้มเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.”อยู่ใต้พระเกี้ยวยอด
ซุ้มหน้าต่างยอดทรงมงกุฏทุกช่วงเสาประดับกระเบื้องถ้วย หลังคาเป็นทรงยอดมงกุฏ หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับกระเบื้องถ้วย ยอดซุ้มเป็นปลีประดับกระจกสี มียอดนพศูลเป็นโลหะฉลุโปร่งลายพุ่มข้าวบิณฑ์ หลังคามุขลดสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์รูปนกเจ่า และนาคสะดุ้ง
หอคันธารราษฎร์
หอคันธารราษฎร์เป็นที่ประดิษฐานพระคันธารราษฎร์และพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ของพระร่วง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอาคารทรงไทยขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.65 เมตร ยาว 5.75 เมตร ตั้งอยู่มุมขวามือหน้าพระอุโบสถ มีบันไดหินอ่อน 5 ขั้น ขึ้นฐานไพทีมีบันได 3 ขั้น ขึ้นฐานปัทม์สู่หอพระ บันไดเป็นรูปพญานาคตรงหัวเสาบนฐานไพที ตั้งสิงโตจำหลักหินแบบจีน
โดยรอบพนักระเบียงเป็นรูปกรงลูกแก้วกระเบื้องเคลือบ มีเสาตามประทีปสูง 2 เสา ทำด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นปล้องต่อกันมุขทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นหน้าต่างทรงบันแถลง 2 ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค ประดับกระเบื้องถ้วยผูกลายเป็นดอกไม้สีต่าง ๆ บนพื้นกระจกสีน้ำเงิน บานหน้าต่างไม้ด้านนอกจำหลักลายเป็นรูปพระวรุณทรงนาค ตอนล่างเป็นรวงข้าว มีหอย ปู ปลา ผุดอยู่ในท้องน้ำ
หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ขอบหลังคาสีแดง พื้นหลังคาสีเขียว หลังคาทรงบันแถลง 2 ชั้น ประดับช่อฟ้ารูปหัวนาค ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับกระเบื้องถ้วยสีลายดอกพุดตาน ซุ้มยอดปรางค์เป็นซุ้มย่อเก็จโดยรอบ ยอดปรางค์ซ้อนกัน 8 ชั้น ประดับกระเบื้องถ้วยสี ยอดนพศูลเป็นโลหะรูปฝักเพกา ผนังอาคารบุด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินสลับเหลือง มุมเสาอิงประดับกระเบื้องสี ขอบเสาประดับกระเบื้องถ้วยเป็นลายรักร้อย โคนเสารูปกาบพรหมศร มีบัวปลายเสา เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระราชพืธีพืชมงคลจรดพระนางคัลแรกนาขวัญและพิรุณศาสตร์ภายในผนังด้านใน
หอระฆัง
ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ หอระฆังเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 7 เมตร ยาว 8 เมตร เป็นบุษบกทรงมงกุฏ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ ปูขอบหลังคาสีเขียวโดยรอบ พื้นหลังคาสีแดง มีประตูทางเข้า 4 ด้าน เป็นซุ้มจระนำรูปโค้งแหลมประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ตอนบนซุ้มเป็นทรงบันแถลงนาค 3 เศียร 2 ชั้น มีช่อฟ้าและหางหงส์รูปหัวนาค
กรอบประตูเป็นไม้ทาสีเขียว ผนังฐานทักษิณประดับด้วยกระเบื้องก้นถ้วย รูปกลมสีขาวเป็นพื้น ประดับกระเบื้องถ้วยแต่งดอก ตอนล่างทำเป็นบัวหัวเสา ตอนบนเป็นบัวปลายเสา ประดับกระเบื้องถ้วยขอบนอกเป็นลายรักร้อย บุษบกประดิษฐานระฆังอยู่บนฐานเขียงและฐานสิงห์ 2 ชั้น คั่นด้วยกระดานฐานบัว ส่วนย่อมุมไม้สิบสองเป็นไม้ปิดทองประดับกระจก ฐานเสาเป็นกาบพรหมศร หัวเสามีคันทวยรับชายคาโดยรอบ ตอนบนระหว่างเสาประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ้ง ปลายเป็นพญานาคปิดทอง ตอนล่างของเสาประดับด้วยกระจังปูนปั้นประดับกระจก เพดานปิดทองฉลุลายเป็นรูปดาว แขวนระฆังไว้ตรงกลางเพดานบุษ
ยักษ์ทวารบาล :
“ยักษ์” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบนิสัยดุร้าย
ยักษ์วัดพระแก้ว ทำเป็นรูปปูนปั้นสูงประมาณ ๖ เมตร ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆอย่างงดงาม ยืนกุมกระบองอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกับทิศใต้ทางขึ้นปราสาทพระเทพบิดรเป็นคู่ๆ ประจำเรียงรายไปทางซ้ายมือทุกช่องประตูพระระเบียงคดรวม ๖ คู่ด้วยกัน คือ
ตัวที่ ๑ ชื่อสุริยาภพ กายสีแดงชาด บุตรท้าวจักรวรรดิ แห่งกรุงมลิวัน
ตัวที่ ๒ ชื่ออิทรชิต กายสีเขียว บุตรทศกัณฐ์ แห่งกรุงลงกา
ตัวที่ ๓ ชื่อมังกรกัณฑ์ กายสีเขียว บุตรพญาขร พญายักษ์แห่งโรมคัล
ตัวที่ ๔ ชื่อวิรุฬหก กายสีขาบหรือสีน้ำเงินแก่ พญารากษส แห่งมหาอันธกาลนคร
ตัวที่ ๕ ชื่อทศคิรีธร กายสีหงดิน หรือสีหม้อใหม่ ปลายจมูกเป็นงวงช้าง บุตรทศกัณฐ์กับนางช้างท้าวอัศกรรณมาลาสูร เจ้าเมืองดุรัม ขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ตัวที่ ๖ ชื่อทศคิรีวัน กายสีเขียว ปลายจมูกเป็นงวงช้าง บุตรทศกัณฐ์ พี่น้องฝาแฝดกับทศคิรีธร
จิตรกรรมฝาผนังที่ พระระเบียง หรือ ระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีจำนวนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากมหากาพย์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์
จิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยมีการเขียนซ่อมแซมเพิ่มเติมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณะในโอกาสครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ในการนี้ได้ทรงพระนิพนธ์โคลงประกอบภาพไว้จำนวนแปดห้อง เป็นโคลง 224 บท
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงอารมย์ขันของช่าง ... อยู่ ณ มุมหนึ่ง
หากคุณมีเวลาพอ ลองห่ดูว่ามีภาพทำนองนี้อีกกี่ภาพ ... หากเจอช่วยนำมาแบ่งปันกันด้วยนะคะ จะได้ตามไปชม
พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือพระปรางค์แปดองค์
ตั้งเรียงรายอยู่ด้านนอกพระอาราม พระปรางค์ 8 องค์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.40 เมตร ตั้งเรียงรายอยู่ทางทิศตะว้นออกด้านหน้าวัด เดิมพระปรางค์ทั้ง 8 องค์จะตั้งเรียงกันอยู่นอกพระระเบียงเป็นแถวเดียวกัน ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ขยายพระวิหารคดยื่นออกไปทางทิศตะวันออก เพื่อสร้างซุ้มประตูมงกุฏ และให้มีเกยอยู่ 2 ด้าน สำหรับเสด็จบนพระยานุมาศในพระราชพิธีการที่มีการเสด็จโดยทางสถลมารค
เมื่อขยายวิหารคดออกไปจึงทำให้พระปรางค์ 8 องค์เข้ามาอยู่ในกำแพงวิหารคด คือ พระอริยะสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ พระปรางค์สีชมพู พระอริยสาวกภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์ พระปรางค์สีเขียว ลักษณะของปรางค์ คือ ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูน องค์ปรางค์ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี มียักษ์ปูนปั้นแบกพระปรางค์ไว้โดยรวมทั้ง 4 ทิศ นับเป็นศิลปะชั้นสูง พระปรางค์ทั้ง 8 องค์สร้างขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จึงมีชื่อเรียกเรียงตามาลำดับนับจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ ดังนี้
ปรางค์องค์สีขาว ชื่อ พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ปรางค์สีขาบหรือสีฟ้าหม่น ชิ่อ พระสัทธรรมปริยัติวรมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระธรรม
ปรางค์สีชมพู ชื่อ พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระอริยสงฆ์
ปรางค์สีเขียว ชื่อ พระอริยสาวิกาภิกษุสังฆมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี
ปรางค์สีเทา ชื่อ พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
ปรางค์สีฟ้าอมเทา ชื่อ พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์
ปรางค์สีแดง ชื่อ พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์
ปรางค์สีเหลือง ชื่อ พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าในอนาคต
นอกจากที่กล่วมข้างต้นแล้ว วัดพระแก้วยังมีอาคารสิ่งก่อสร้างอีกหลายแห่ง รวมถึงเครื่องประดับพระอาราม ที่ไม่ได้เขียนถึง เช่น หอพระนาก หอมณเฑียรธรรม กระถางต้นไม้น้ำ แท่นหิน ไม้ดัดไทย อับเฉา วางประดับเรียงรายอยู่โดยรอบ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา