1 ก.ย. 2020 เวลา 01:10 • ท่องเที่ยว
ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเมืองพริบพรี .. เพชรบุรี
ดูเวิ้งว้างเชิงพนมน่าชมเชย ต่างแหงนเงยชมชะง่อนท่อนศิลา
เป็นลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ แลสลับเลื่อมลายคล้ายเลขา
กลางคินหินย้อยห้อยระย้า ดาษดาดูดุดังพู่พวง
นิราศเมืองเพชร : สุนทรภู่
บทกวีที่พรรณนาข้างต้นทำให้เรารู้ว่า ถ้ำเขาหลวงมีผู้คนมากมายผ่านเข้ามาแวะชมความงดงามของถ้ำแห่งนี้มาตั้งแต่โบราณกาล
เรื่องที่เล่าต่อๆกันมากล่าวว่า … “ถ้ำเขาหลวง” เป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จมาเยือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดถ้ำเขาหลวงนี้มาก โดยทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำ และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปหลายองค์ รวมถึงสร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงทำการบูรณะต่อ และพระราชทานชื่อว่า “ถ้ำวิมานจักรี” ..
“ถ้ำเขาหลวง” ตั้งอยู่ใน “เขาหลวง” ซึ่งเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง 92 เมตร … ตั้งอยู่ที่อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร …
บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ด้านล่าง ตรงเชิงเขา
จากลานจอดรถบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ... จะมีรถสองแถวให้บริการนำขึ้นไปชมในราคาค่าบริการคนละ 15 บาท พร้อมมีไกด์ท้องถิ่นคอยให้คำอธิบายและเล่าเรื่องราวที่อาจจะไม่เคยมีบันทึกเอาไว้ ส่วนจะเป็นเรื่องจริงแค่ไหน ก็ต้องใช้วิจารณญานกันเอง
จากลานจอดรถด้านบน มีบันไดคอนกรีต 124 ขั้นเป็นทางเดินที่ร่มรื่นนำไปสู่บริเวณปากถ้ำ
บริเวณปากถ้ำซึ่งมีต้นไม้เขียวๆด้านบนชะงรอนหิน สวยงามให้เก็บภาพ
บันไดทางเดินลงถ้ำ ค่อนข้างจะชัน ... แต่เป็นบันไดคอนกรีตที่แข็งแรง
ภายในถ้ำเขาหลวงแบ่งเป็น 5 คูหาด้วยกัน ไล่เรียงลำดับตั้งแต่จากปากทางเข้าถ้ำไปจนถึงส่วนคูหาในสุดของถ้ำ
Photo credit : mngonline
คูหาที่ 1 อันเป็นที่ประดิษฐาน“รอยพระพุทธบาท” อยู่ภายใต้ซุ้มมีหลังคาคุม ... รอยพระพุทธบาทจำลองรอยนี้เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวา ทำจากหินแกะสลักมี 2 ชั้น... ชั้นล่างเป็นของเก่าสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนชั้นบนเป็นรอยใหม่ที่มีการบูรณะทับของเดิมในสมัยรัชกาลที่ 4
ในรอยพระพุทธบาทมีภาพมงคล 108 ประการ ที่ฐานรอยพระพุทธบาทมีลวดลายปูนปั้นแกะสลักสวยงาม เป็นรูปแบบงานศิลปะสมัยอยุธยา
Photo credit : mngonline
ถ้ำคูหาที่ 2 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยและปางสมาธิ 4 องค์(กลุ่ม 1) ... แต่ละองค์มีจารึกพระปรมาภิไธยที่หน้าตัก และมีลวดลายปูนปั้นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 อยู่ที่ผ้าทิพย์ รวมถึงมีระฆังโลหะใบใหญ่ที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้หล่อขึ้น
บริเวณเชิงบันไดชั้นแรก … มีพระพุทธรูป และมีบันไดเพื่อให้เดินลงมายังโถงถ้ำด้านล่าง เมื่อมองไปทางด้านซ้ายจะเห็นพระพุทธรูปขนาดกลางๆ ตั้งอยู่ในซอกหลืบระหว่างหินงอกหินย้อย ให้มิติการมองที่งดงาม
หินงอกด้านขวามือ … สีออกเขียวๆ สวยทีเดียวค่ะ
คูหาที่ 3 ที่ถือเป็นส่วนไฮไลท์อันงดงามและโดดเด่นที่สุดของถ้ำเขาหลวง มีลักษณะเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่และยาวที่สุดของถ้ำแห่งนี้
“ถ้ำเขาหลวง” .จากหนังสือเขาหลวง ... มีการสันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยดูจากหลักฐานของงานพุทธศิลป์ต่างๆ อย่างเช่น พระพุทธรูป เจดีย์ รอยพระพุทธบาท รวมถึงหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรต่างๆที่ปรากฏ
“นิราศเมืองเพชร” ของ “สุนทรภู่” .. อาจจะทำให้อนุมานได้ว่า ถ้ำเขาหลวงแม้จะเป็นสถานที่สำคัญของเพชรบุรี และอาจจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ข้าราชสำนักสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็ถูกทอดทิ้งให้ทรุดโทรม จนเมื่อท่านสุนทรภู่เมืองมาพักค้างแรมที่นี่ จึงได้แต่งกลอนพรรณนาสภาพอันน่าหดหู่ของที่นี่ออกมาในบาบทว่า
“...มีพระไสยาสน์พระบาทเหยียด
คนมันเบียดเขียนขุดสุดสงสาร
พระทรวงพังทั้งพระเพลาก็ร้าวราน
โอ้ชาวบ้านช่างไม่สร้างขึ้นบ้างเลย
ทั้งผนังพังทับอยู่กับถ้ำ
โอ้นึกน้ำตาตกเจียวอกเอ๋ย
ดูเวิ้งว้างเชิงพนมน่าชมเชย
ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา...”
“ถ้ำเขาหลวง” ถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุด เป็นหนึ่งในมรดกที่ล้ำค่าของเมืองเพชร คู่กับ “เขาวัง หรือ พระนครคีรี” .. ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสีสันสวยงาม
ด้านบนของถ้ำมีปล่องเปิด
ทำให้ไฮไลท์ของการมาเที่ยวถ้ำเขาหลวง คือ การได้ชมแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาจากปล่องแสงของเพดาน ถ้ำลงมาสู่พื้นข้างล่างคล้ายกับมีสปอร์ตไลท์ส่องลงมาเป็นภาพที่อัศจรรย์และงดงามมาก …
ลักษณะของลำแสงจะแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศในแต่ละฤดู โดยปกติในช่วงเวลาประมาณ 10-11 โมงจะมีลำแสงส่องลงมามากที่สุด
ภาพสวยๆในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้เราสามารถถ่ายภาพล้อเล่นกับลำแสงได้ (ฝีมือการกดชัตเตอร์โดยไกด์ของเรา)
… ห้องนี้หินงอก หินย้อยที่สวยมาก เป็นสถานที่ตั้งของพระพุทธที่รูปเรียงรายรอบห้อง (รวมทั้งหมดในถ้ำแห่งนี้ราว 170 องค์)
“หลวงพ่อถ้ำหลวง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธานของถ้ำเขาหลวงแห่งนี้ เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ลงมาเที่ยวถ้ำจะมากราบ ไหว้บูชา
ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าหลวงพ่อถ้ำหลวงสร้างขึ้นในสมัยใด … แต่จากหลักฐานข้อมูลของทีมวิจัยถ้ำเขาหลวง สันนิษฐานว่าหลวงพ่อถ้ำหลวงน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยองค์หลวงพ่อถ้ำหลวงที่เห็นในปัจจุบันได้ผ่านการบูรณะสร้างพอกปูนทับใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้สวยงามและองค์ใหญ่กว่าเดิม
พระพุทธอัครสาวกขององค์หลวงพ่อถ้ำหลวง
เจดีย์ก่ออิฐถือปูน 3 องค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง 2 องค์ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา และเจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม(ริมซ้ายสุด) ที่สร้างด้วยศิลปกรรมสมัยอู่ทองแต่สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่มีความสวยงามวิจิตร อย่างเช่น ลายกนก ลายกลีบบัว ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นต้น
“พระพุทธไสยาสน์” ยาว 14 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่ผ่านการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง
นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปางป่าเลไลยก์ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง พระสังกัจจายน์
Photo credit : mngonline
พระพุทธรูประทับนั่ง 5 องค์ มี 4 องค์ที่มีจารึกพระปรมาภิไธยและประดับลวดลายปูนปั้นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1- รัชกาลที่ 4
โถงถ้ำหลัก … หินงอก หินย้อยที่สวยมาก เป็นความโดดเด่นของถ้ำเขาหลวงทีเดียว นอกจากจะเป็นถ้ำหินปูนที่มีความงดงามจากการสรรค์สร้างของธรรมชาติแล้ว เชื่อกันว่า ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเพชรบุรี
ก้อนหินบางก้อน มีรูปลักษณ์ที่ชวนให้เกิดจินตนาการได้อย่างน่าพิศวง
ถ้ำคูหาที่ 4 ที่มีการสร้างแนวกำแพงและซุ้มประตูแยกพื้นที่ออกมาจากคูหาที่ 3
ถ้ำคูหาที่ 4 มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้ว 3 องค์ ... มีข้อมูลระบุว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปแกะสลัก ก่อนที่รัชกาลที่ 4 สร้างองค์ปูนครอบทับองค์เดิม เพื่อถวายแด่พระบรมวงศานุวงศ์
เจดีย์ทรงระฆังสีขาวเด่น 3 องค์ อาจจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยพระบรมวงศานุวงส์ระดับสูง
ส่วนบนเพดานถ้ำฟากฝั่งหนึ่งจะมีปล่องให้ลำแสงสาดลอด (เหมือนคูหาที่ 3 แต่มีขนาดเล็กกว่า) พร้อมทั้งมีรากไม้ห้อยย้อยลงมาดูสวยงามแปลกตา
ปากปล่องของถ้ำ ทำให้การเดินชมภายในถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย พระพุทธรูปและเจดีย์ตางๆ เป็นไปอย่างรื่นรมย์ อากาศเย็นสบายไม่อับชื้น … เรื่องเล่าจากไกด์ บอกว่า ปากถ้ำแห่งนี้เป็นทางเข้าถำที่ซึ่งพระเจ้าตากสินนำไพร่พลมาพัก หลังศึกที่เมืองจันทบุรี (โปรดใช้วิจารณญานในการจะเชื่อหรือไม่นะคะ)
Photo credit : mngonline
จากบริเวณนี้เมื่อเดินต่อไปจะพบกับรูปเคารพตา-ยาย ซึ่งมีเรื่องเล่าขานกันว่าท่านทั้งสองเป็นชาวลาวโซ่ง(ไทยทรงดำ)ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จ้าง 2 ตา-ยาย ชาวลาวโซ่งให้เป็นผู้เฝ้าถ้ำ
... เมื่อท่านทั้ง 2 เสียชีวิตลง ชาวบ้านที่นี่จึงสร้างรูปเคารพของสองตา-ยายขึ้น เพื่อรำลึกในคุณงามความดีของท่าน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนนิยมมากราบไหว้ขอพรท่านกันเป็นจำนวนมาก
เมื่อเดินลึกเข้าไป ระหว่างทางจะผ่านหินงอกหินย้อยที่ช่วงหนึ่งจะมีหินงอกหินย้อย
หินที่ลักษณะคล้ายคนนอนหงาย ที่ไกด์บอกว่า คือ “พระยาพิชัยดาบหัก” หรือทวารบาลที่ทำหน้าที่เฝ้าถ้ำ .. เมื่อฉายไปในองศาที่เหมาะสม จะเห็นเป็นรูปเงาเหมือนม้าศึก
Photo credit: mngonline
ห้องสุดท้าย คูหาที่ 5 … ประดิษฐานรูปเคารพองค์ฤาษี หรือ ที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “องค์พ่อปู่ฤาษีนารายณ์” ซึ่งบริเวณด้านหน้าองค์ฤาษีมีบันไดเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งปัจจุบันไม่เปิดให้ใช้งานเนื่องจากมีสภาพชำรุด
“ถ้ำเขาหลวง” .. นอกจากจะมีชาวมาเที่ยวกันนานนับร้อยปีแล้ว ยังมีบันทึกของชาวยุโรปและภาพปรากฏในงานพิมพ์ของอังรี มูโอ นักธรรมชาติิวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังไทย ลาว กัมพูชาแล้วกลับไปตีพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ.2407
ข้อมูลส่วนหนึ่งในบทความอ้างอิงจากหนังสือ “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี”
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา