3 ก.ย. 2020 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
EP.47 หัวใจนี้ท่านได้แต่ใดมา?
ที่มาของสัญลักษณ์รูปหัวใจ
อรุณสวัสดิ์ครับทุกท่าน ว่าจะลองสร้างมาตรฐานที่ดี (กะคนอื่นเขาบ้าง) ถ้าไม่ติดอะไรทุกๆ วันเวลา 7:00 น. ผมจะนำบทความมาลงให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ
แม้จะไม่เฉียดวันแห่งความรักเลย แต่วันนี้ขอเขียนอะไรที่มันเกี่ยวกะความรักซะหน่อยนะครับ
ถ้าจะให้วาดสัญลักษณ์สื่อแทนความรักด้วยอะไรสักอย่าง ผมค่อนข้างมั่นใจว่าหลายคน เลือกที่จะวาดรูป “หัวใจ” และระบายมันด้วยสีแดงอย่างแน่นอน เหตุผลนั้นง่ายมาก นั่นก็เพราะความคลาสสิกเหนือกาลเวลา และความเป็นสากลที่เข้าใจร่วมกันได้ทั่วโลกของมันยังไงล่ะครับ
สัญลักษณ์รูปหัวใจที่เราคุ้นเคยกันดี
ว่าแต่มีใครพอจะรู้จริงๆ บ้างไหมว่า ไอ้เส้นโค้งสมมาตรสองเส้นที่มาบรรจบกันเป็น “สัญลักษณ์รูปหัวใจ” นี้มันมีที่มาอย่างไรกัน ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้เหมือนกันกับหัวใจที่เต้นอยู่ตรงอกข้างซ้าย (หรือขวาสำหรับบางคน) เท่าไหร่นัก
รูปหัวใจปกติที่โดนฉีดสี
จากการหาข้อมูลพบว่ามีหลายข้อสันนิษฐานมากๆ เลยนะครับเกี่ยวกับสัญลักษณ์รูปหัวใจที่ว่าเนี่ย งั้นเราลองไปหาคำตอบพร้อมๆ กันดูครับ
‘เกล ก๊อดวิน’ นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือเรื่อง “Heart: A Personal Journey Through Its Myths and Meanings” ได้กล่าวเอาไว้ว่า สัญลักษณ์รูปหัวใจนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกบนผนังถ้ำเก่าแก่ในประเทศสเปน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุราว 10,000 ปีก่อนคริสตกาล ถือเป็นรูปทรงที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างน่าทึ่งที่สุด เพราะมีส่วนโค้งส่วนเว้าที่สวยงามลงตัว และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่วิวัฒนาการใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
อีกข้อมูลบอกว่าสัญลักษณ์รูปหัวใจที่เก่าแก่ที่สุดนั้น พบตั้งแต่สมัยมนุษย์ Cro-Magnon ใช้ในการล่าสัตว์ แต่ยังเป็นปริศนาถึงความหมายของมันมาจนถึงทุกวันนี้
สัญลักษณ์รูปหัวใจที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด
บ้างอ้างว่าสัญลักษณ์รูปหัวใจนี้มีที่มาจากเพศหญิง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็มีรูปทรงที่คล้ายอวัยวะเพศหญิงอยู่ไม่น้อย (ไม่ได้ทะลึ่งนา!!!) หรือบางคนบอกว่าคลับคล้ายคลับคลาว่านี่คือส่วนก้น (นี่ก็ไม่ได้ทะลึ่งอีก) หรือว่าไปโน้น คือเหมือนหน้าอกของผู้หญิง (ไม่ได้ทะลึ่งจริงจริ้ง!!! 555) หลักฐานก็คือในอักษร “Runes” ที่ใช้กันในหมู่พวกนอร์สโบราณ เขียนสัญลักษณ์คล้ายรูปหัวใจ แทนคำว่า “อวัยวะเพศหญิง” หรืออักษรคูนิฟอร์มของชาวสุเมเรียนที่ใช้แทนผู้หญิง ก็เขียนด้วยรูปร่างลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน สังเกตได้ชัดเจนเลยทีเดียวว่าหลายตำรานั้นเชื่อมโยงเพศหญิงเข้ากับรูปหัวใจ และความอุดมสมบูรณ์
อีกทฤษฎีคือว่าด้วยเรื่องของหงส์ 2 ตัวที่ว่ายน้ำมาหากันกลางทะเลสาบ เพราะเมื่อหงส์คู่นั้นหันหน้าชนกัน ก็จะเห็นได้ว่ารูปที่ออกมานั้นคล้ายคลึงกับรูปหัวใจ ซึ่งในหลายๆ วัฒนธรรมก็มักจะนิยมใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของความรัก ความซื่อสัตย์ รวมทั้งความจงรักภักดี อยู่เนืองๆ นั่นก็เพราะหงส์เป็นสัตว์ที่จะมีคู่ครองเพียงหนึ่งเดียวตลอดชั่วชีวิตของมัน
หงส์สองตัวเคียงกัน
หรือเชื่อกันว่าสัญลักษณ์รูปหัวใจนี้มีมานานตั้งแต่สมัยคริสตกาล กล่าวคือชาวคริสต์จะต้องใช้เหล้าองุ่นบรรจุลงไปในจอกศักดิ์สิทธิ์เพื่อนมัสการพระเจ้าตามโอกาสต่างๆ ซึ่งที่จอกเหล้านี้มีสัญลักษณ์รูปหัวใจสีแดงติดอยู่  จึงยึดถือว่านี่คือตัวแทน “ความรัก” ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า และในภายหลังได้ปรับมาเป็นความรักในเชิงเสน่หาอีกด้วย
อีกข้อเท็จจริงคือ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมีที่มาจากเมล็ด "Silphium" ซึ่งมีรูปร่างคล้ายสัญลักษณ์รูปหัวใจในปัจจุบัน  ซึ่งพืชชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปกว่าสองพันปีแล้ว ตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณก็คือ ต้นไม้ชนิดนี้เป็นของขวัญจากเทพเจ้า ‘Apollo’  เพราะมันถูกพบหลังจากน้ำท่วมใหญ่ในเมือง  ‘Cyrene’ ตอนเหนือของ ‘Africa’  ซึ่งถือเป็นพืชมีค่า และหาได้ยากยิ่ง เพราะมันจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเท่านั้น  ต้นไม้ชนิดนี้ยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอียิปต์อีกด้วย โดยการใช้เมล็ดเป็นยาคุมกำเนิดตามธรรมชาติ ซึ่งถือว่าได้ผลดีเลยทีเดียว ดังนั้นเมล็ดของมันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ"เซ็กส์และความรัก" ในที่สุด
สัญลักษณ์ของเมล็ด Siphium บนเหรียญโบราณของเมือง Cyrene
อีกด้าน ‘ดร.อาร์มิน ดีทซ์’ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหัวใจ และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Eternal Hearts” บอกว่าสัญลักษณ์รูปหัวใจนี้มาจาก “ใบไอวี่” ซึ่งมีต้นตอมาแต่ยุคโรมันที่นิยมใช้รูปทรงของใบไอวี่ จารึกลงบนศิลา เนื่องจากไม่ว่าอากาศจะเป็นอย่างไรไอวี่ก็จะมีใบสีเขียวสดตลอดทั้งปี มันจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับความรักความซื่อสัตย์ และด้วยความเป็นไม้เลื้อยที่เกาะเกี่ยวม้วนพันไปเรื่อย จึงเปรียบได้กับความผูกพันที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ในภาพรวมจึงสื่อความหมายได้ถึง “ความรักอันเป็นนิรันดร์” ด้วยเหตุนี้ชาวคริสเตียนจึงนิยมจารึกหลุมศพของผู้เป็นที่รัก ด้วยใบรูปทรงหัวใจของไอวี่ ซึ่งต่อมาศิลปินในยุคคริสตศตวรรษที่ 12-13 นั้นได้นำเอาใบไอวี่มาระบายด้วยสีแดง และเริ่มใช้ใบไม้สีแดงนี้เพื่อสื่อถึงความรัก ก่อนที่จะแพร่หลายกันมากยิ่งขึ้นในช่วงยุคกลาง  จากนั้นรูปหัวใจอันศักดิ์สิทธิ์ของคาทอลิกนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วโลก
Ivy leaf
สรุปแล้วแม้ที่มาของสัญลักษณ์รูปหัวใจจะไม่มีใครฟันธงได้ชัดเจน 100% แต่ผมมั่นใจว่าไอ้เส้นโค้งๆ สมมาตรสองเส้นที่มาบรรจบกันเป็นรูปหัวใจนี้ จะทำหน้าที่สื่อรัก บอกแทนความในใจให้กับมนุษย์เราไปอีกนานเท่านาน ตราบใดที่โลกของเรายังมีความรักครับ
 
************************************************
เธอคือหัวใจของฉัน / นิก รณวีร์
เพราะหัวใจเป็นของเธอ OST หัวใจศิลา / Yes’sir Days
กลางหัวใจ (เพลงประกอบละคร รักแลกภพ) / แอ๊ค The Golden Song
ที่เดิมในหัวใจ (Second Place) / TMT Feat. ตู่ ภพธร
จุดอ่อนของฉันอยู่ที่หัวใจ (Ost. สวรรค์เบี่ยง) / อ๊อฟ ปองศักดิ์
มีผลต่อหัวใจ / นนท์ ธนนท์
อยู่ๆ ก็มาปรากฏตัวในหัวใจ / Pijika
เสียงของหัวใจ / แอน ธิติมา
ดอกไม้ในหัวใจ / ปนัดดา เรืองวุฒิ
ดอกไม้กับหัวใจ / I-ZAX
วันที่หัวใจเคลื่อนไหว / PORTRAIT
เหนื่อยไหมหัวใจ / Retrospect
ไม่อยู่ในชีวิตแต่อยู่ในหัวใจ / LULA

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา