4 ก.ย. 2020 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
EP.48 แตกต่างเหมือนกัน
แตกต่างเหมือนกัน
อรุณสวัสดิ์ครับผม พบกันอีกครั้งในเวลาดี 07:00 น.
เชื่อว่าทุกท่านคงเคยใช้การพิมพ์หรือสัญลักษณ์สื่ออารมณ์ถึงผู้รับที่เรียกว่า “Emoticon” และ “Emoji” กันมาไม่มากก็น้อยนะครับ
อยากจะบอกว่าทั้งสองสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแตกต่างกันนะครับ (เผื่อว่าใครยังไม่รู้)
และก่อนที่สัญลักษณ์แทนอารมณ์ที่ว่าจะได้รับความนิยมแพร่หลายในโปรแกรมแชต แอพพลิเคชั่น และ ฯลฯ แบบถล่มทลายดังเช่นปัจจุบัน มันมีที่มายังไงน๊า ถ้าพร้อมแล้วเราลองย้อนเวลาไปด้วยกันครับ
“Emoticon” (อิโมติคอน) นั้นมาจากคำว่า “Emotion” (อิโมชั่น) ที่แปลว่า “อารมณ์” และคำว่า “Icon” (ไอคอน) ที่แปลว่า “รูปสัญลักษณ์” รวมกันแล้ว “Emoticon” คือ “สัญลักษณ์ที่ใช้สื่อแทนอารมณ์” นั่นเอง โดย “Emoticon” จะเป็นการใช้ตัวอักษรหรืออักขระพิเศษต่างๆ พิมพ์ประกอบกันให้ดูคล้ายหน้าตาในแบบต่างๆ เพื่อใช้ในการสื่ออารมณ์
Emoticon
ทั้งนี้สัญลักษณ์ “Emoticon” นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 1982 โดย ‘Scott Fahlman’ ได้โพสต์สัญลักษณ์ :- ) และ :- (  บนกระดานข่าวสารของ มหาวิทยาลัย ‘Carnegie Mellon’ และสัญลักษณ์ดังกล่างนี้ ได้ถูกแพร่กระจาย และถูกนำมาใช้บนเครือข่าย ‘ARPANET’ และ ‘Usenet’ จากนั้น “Emotion” ในแบบอื่นก็ได้ถูกประดิษฐ์ตามมากันเป็นพรวน
Scott Fahlman ผู้ให้กำเนิด Emoticon
ต่อมาในปี 1986 ที่ญี่ปุ่น ก็ประดิษฐ์สัญลักษณ์ที่ต่อยอดจาก “Emoticon” เช่นกัน โดยมาในสไตล์ของพวกเขา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Kaomoji” อาทิเช่น (^_^) (@^-^) (T_T) ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยกำเนิดขึ้นบนระบบเครือข่าย ‘ASCII NET’ ในประเทศญี่ปุ่น
Kaomoji
และในปี 1995 “Emoji” นั้นก็ถือกำเนิดขึ้นมา โดย ‘Shigetaka Kurita’ ชาวญี่ปุ่น ซึ่ง “Emoji” เป็นการผสมคำระหว่างคำว่า “E” (絵) หมายถึง “รูปภาพ” และ “Moji” (文字) ที่หมายถึง “ตัวอักษร”  รวมกันเป็น “อักษรภาพ” โดยเริ่มใช้กับ  “Pager” ซึ่งค่าย  ‘NTT docomo’ ได้ให้บริการ โดยมีการเพิ่มสัญลักษณ์รูปหัวใจต่างๆ เข้าไปในระบบ เพื่อให้ส่งข้อความหากันได้สนุกมากยิ่งขึ้น แต่ในเวลาต่อมา ในเพจเจอร์รุ่นใหม่ๆ ก็ตัดสินใจถอดฟีเจอร์การส่งรูปหัวใจออก เพราะต้องการให้เครื่องรองรับตัวอักษรคันจิ และอักษรละตินได้ด้วย
Shigetaka Kurita ผู้สร้าง Emoji
แต่ ‘NTT docomo’ เจ้าเดิมก็ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาหาทางพัฒนา “Emoji” ขึ้นอีกครั้ง โดยเน้นไปที่ “i-mode” และในเดือนกุมภาพันธ์ 1999 โทรศัพท์ที่สามารถเรียกดูข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้เป็นรายแรกๆ ของโลก ก็ได้ปัดฝุ่นนำ “Emoji” ใส่เข้าไปในระบบที่กำลังจะวางตลาดในตอนนั้นอีกครั้ง
‘Kurita’ ได้อธิบายถึงที่มา และเบื้องหลังเกี่ยวกับการสร้าง “Emoji” ว่า การสื่อสารด้วยตัวอักษรแบบ “Emoticon” นั้นมันยุ่งยากมากในการสื่ออารมณ์ จดหมายขอโทษหรืออะไรต่างๆ ของญี่ปุ่นนั้นต้องเขียนกันยืดยาว บางครั้งต้องใช้ “Kaomoji” ร่วมด้วย ยิ่งไม่สะดวกเข้าไปใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับการพิมพ์บนโทรศัพท์มือถืออย่างแรง เขาจึงต้องสร้างอะไรสักอย่างที่ทำให้ผู้รับสารเข้าใจได้ทันที ด้วยสัญลักษณ์อารมณ์ต่างๆ ที่บ่งบอกได้ชัดเจน อย่าง “Emoji” ขึ้นมา
โดยในครั้งนั้น ‘Kurita’ ได้ออกแบบ “Emoji” เองถึง 176 แบบ ในพื้นที่เพียง 12×12 พิกเซล โดยการวางจุดขาว-ดำให้ดูเป็นรูป และเมื่อ “Emoji” ถูกใส่เข้าไปใน “i-mode” ก็ได้รับความนิยมสูงจน ‘KDDI’ หรือ ‘SoftBank’ ถึงขั้นเอามาทำด้วย  แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะเมื่อมือถืออีกค่ายหนึ่งส่ง “Emoji” ไปอีกค่ายหนึ่งแล้วมองไม่เห็นสัญลักษณ์ดังกล่าว ทำให้ทั้ง 2 ค่ายนี้ ต้องเข้ามาตกลงกันแล้วตั้งเป็นมาตรฐานกลางของญี่ปุ่นในขณะนั้น
Emoji
ปัจจุบัน “Emoji” นั้นได้ก้าวไกลสู่ระดับโลก และมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อมีการกำหนดอักขระภาพ และอารมณ์ต่างๆ เข้าสู่มาตรฐาน “Unicode 6.0” อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2010 และอุปกรณ์ iOS ก็เริ่มเปิดให้ใช้แป้น “Emoji” อย่างเป็นทางการในปี 2011 อีกด้วย อีกทั้งในโปรแกรมแชตอื่นๆ นั้นก็ได้ทำ “Emoji” ขึ้นมาใหม่อย่างมากมาย จนทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เวลาสื่อสารกัน ก็มักจะใส่ข้อความพร้อมกับสัญลักษณ์แทนอารมณ์อย่าง “Emoji” อยู่เสมอ ซึ่งแต่ละระบบปฏิบัติการอาจแสดงผล “Emoji” อันเดียวกันที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ก็ยังคงสื่อความหมายเดียวกันได้นั่นเอง
ตัวอย่าง Emoji ในแต่ละปฏิบัติการ
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันคนจะนิยมใช้ “Emoji” กันซะเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังคงมีอีกหลายคนที่เคยชินหรือชื่นชอบความคลาสสิกในการพิมพ์ตัวอักษรเป็น “Emoticon” อยู่ไม่เสื่อมคลาย
ถ้าเปรียบกันกับการบอกรักสาวเจ้า
“Emoticon” นั้นก็จะอ้ำอึ้ง อารัมภบทมากมาย ท่าเยอะไปหน่อย แต่ก็ซื่อๆ และแสนจริงใจ
ส่วน “Emoji” นั้นก็ชัดเจน เข้าใจง่าย แต่อารมณ์จะประมาณเร็วไปไหมเนี่ย!!! ไว้ใจได้ไหมนะ?
แต่เชื่อแน่ว่าแม้จะแตกต่างกันแค่ไหน คนที่เราสื่อไปให้ เขารู้น่ะ ว่าความหมายมันน่ะเหมือนกัน
❤️คนอ่านทุกคนครับผม
************************************************
แตกต่างเหมือนกัน / Getsunova

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา