4 ก.ย. 2020 เวลา 03:00 • ธุรกิจ
8 เหตุผลที่ทำให้บัฟเฟตต์ซื้อหุ้น 5 บริษัทใหญ่ในญี่ปุ่น
วอร์เรน บัฟเฟตต์สร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อทำการฉลองวันเกิดครบรอบ 90 ปีด้วยการซื้อหุ้นผู้นำกลุ่ม Trading Companies ของญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่พูดมาตลอดว่า
"อย่าเดิมพันตรงข้ามอเมริกา" ซึ่งญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซามานานกว่า 30 ปีและอนาคตก็ยังต้องเจอโจทย์ท้าทายมากมายทั้งเรื่องการระบาดที่ยังไม่จบ, สังคมผู้สูงอายุ, เทคโนโลยีปรับตัวได้ช้ากว่าสหรัฐและจีน และล่าสุดนายกก็พึ่งลาออกอีก
มันจึงสร้างความงงงวยให้แก่นักลงทุนทั่วโลก แต่ละคนก็พยายามหาคำตอบว่าปู่คิดอะไรอยู่ ทำไมต้องเป็นญี่ปุ่น? แล้วรอบนี้ไม่ได้ซื้อน้อย ๆ นะครับ มูลค่าหุ้นที่ซื้อรอบนี้รวมกันกว่า 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ แถมยังมีท่าทีจะซื้อเพิ่มอีกเกือบเท่าตัวด้วย
แปลว่ารอบนี้ปู่ “เอาจริง”
ผมจึงได้สรุป 8 เหตุผลจากการวิเคราะห์ของสื่อและนิตยสารชื่อดังต่าง ๆ ทั่ง Bloomberg, Financial Time ,Reuters และ Forbes ที่พยายามอ่านใจปู่บัฟเฟตต์
1. การอ่อนค่าของดอลลาร์และนโยบายดอกเบี้ยต่ำของสหรัฐ
นักวิเคราะห์มองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้นโยบายเหล่านี้มานานแล้ว และผลที่ได้คือภาวะเศรษฐกิจซบเซามายาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ญี่ปุ่นเลยดูไม่น่าสนใจเมื่อเทียบ
กับสหรัฐที่ GDP เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่พอสหรัฐกำลังทำนโยบายตามญี่ปุ่นก็อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐซบเซาเหมือนญี่ปุ่น ฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วญี่ปุ่นจึงดูน่าสนใจขึ้นมา
2. ความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพสูง
เป็นจุดเด่นของประเทศญี่ปุ่นที่ผู้คนขยัน มีวินัยและความน่าเชื่อถือสูง ทำให้แม้ว่า
GDP จะไม่โต แต่ก็ไม่ร่วงเช่นกัน ในอีกมุมนึงมันก็แสดงถึงความสม่ำเสมอของแดนปลาดิบแห่งนี้
3. เป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย
แม้ว่าทั้ง 5 บริษัทจะมีการทำธุรกิจที่หลากหลาย อย่างเช่น Mitsubishi ที่น่าจะคุ้นหู
คนไทยก็มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ไม่ได้พูดเล่นนะครับ
เพราะทำเรือรบด้วยจริง ๆ อีกทั่งยังทำธุรกิจเหมืองแร่ ธนาคาร รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ แต่ถึงจะซับซ้อนแค่ไหนก็เป็นธุรกิจที่เข้าใจไม่ยาก พอจะคาดการณ์กระแส
เงินสดได้ตามสไตล์บัฟเฟตต์
4. เป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
พอไปดูไส้ในของแต่ละบริษัทแล้ว พบว่ากว่าครึ่งของธุรกิจมีความเกี่ยวเนื่องกับสิน
ค้าโภคภัณฑ์ ทั้งพลังงาน, สินแร่, โลหะและสินค้าเกษตร จึงสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่บัฟเฟตต์ทำการซื้อท่อก๊าซของ Dominion Energy และหุ้นเหมืองทองไป ทำให้มี
ความเป็นไปได้ว่าบัฟเฟตต์คาดการณ์ว่าสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาสูงขึ้นหลังจากนี้
แต่ด้วยสไตล์จึงซื้อเป็นธุรกิจแทนการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง
5. แนวโน้มดีในระยะยาว
นอกจากเรื่องเสถียรภาพแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังมีประชากรที่หนาแน่นและมีทรัพยากรค่อนข้างน้อย ทำให้มีความต้องการบริโภคสินค้าเหล่านี้มาก แม้ว่าธุรกิจเหล่านี้จะ Margin น้อย แต่ได้ค่อนข้างชัวร์
6. ความยืดหยุ่นของบริษัท
แม้ว่าจะมีสินค้าบางประเภทที่อาจถูก disrupt แต่ด้วยธุรกิจที่หลากหลายนั้นทำให้
ไม่กระทบต่อตัวบริษัทมาก และสามารถปรับตัวกับเทรนด์ใหม่ ๆ ได้ อีกทั้งธุรกิจหลักมักเกี่ยวกับสินแร่และโลหะต่าง ๆ ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ อารมณ์ประมาณว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแค่ไหน แต่วัตถุดิบต้นน้ำก็ไม่เปลี่ยนหน้าตาไปมาก จะล้ำแค่ไหนวัสดุก็ไม่ค่อยพ้นเหล็ก อลูมิเนียม พอลิเมอร์ วน ๆ อยู่แถวนี้แหละ
7. ความแข็งแกร่งของบริษัท
สืบเนื่องจากความยืดหยุ่น ทำให้บริษัทเหล่านี้มีความแข็งแกร่งมาก บางบริษัทอายุ
กว่า 400 ปี (Sumitomo ก่อตั้งในปี 1615) ก่อตั้งก่อนประเทศสหรัฐด้วยซ้ำ คือไม่รู้ผ่านมากี่สงคราม ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแค่ไหน ก็ยังอยู่มาได้ ใจคอถ้าจะล้มในรอบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเหลือบริษัทไหนอยู่รอดบ้างนะครับ
8. ราคาเหมาะสม
ถือเป็นท่าไม้ตายของ VI เลย คือต่อให้ดีแค่ไหน แต่แพงไปก็ไม่ซื้อ โดยเกือบทุกหุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อในรอบนี้นั้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (PBV<1) ยกเว้นแค่ Itochu ที่ PBV=1.2 แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ Nikkei225 ที่ PBV=1.8
สรุปแล้วเหมือนว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์จะส่งสัญญาณไปที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์นะครับ ส่วนที่ต้องเป็นญี่ปุ่นนั้นเพราะเรื่องเสถียรภาพ คือก่อนหน้านี้ทุกประเทศดูดีทำให้
ญี่ปุ่นดูไม่น่าสนใจ แต่ในยามที่ทุกประเทศกำลังแย่ ญี่ปุ่นกลับดูน่าสนใจขึ้นมา
เพราะเป็นประเทศทนทานต่อวิกฤตได้ดีกว่าประเทศอื่น ผิดถูกอย่างไรก็ลองใช้
วิจารณญาณกันดูนะครับ
แล้วเพื่อน ๆ คิดเห็นอย่างไร มีใครจะเป็นสาวกบัฟเฟตต์บ้าง จะซื้อตามกันไหมครับ? หรือว่ายังอึ้งกันอยู่เพราะไม่รู้ปู่คิดอะไร คอมเมนท์มาคุยกันครับ
.
แอดปุง
โฆษณา