7 ก.ย. 2020 เวลา 15:17 • ยานยนต์
จ่อเลิกขายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 95 และE85
ดัน E20 ขึ้นแท่นน้ำมันหลัก พร้อมอัพราคาพืชเอทานอล
1
รถยนต์ส่วนใหญ่บนท้องถนนในประเทศไทยนิยมใช้น้ำมัน แก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของปริมาณการใช้น้ำมันทุกประเภทในยานพาหนะ แต่อีกไม่นานเราอาจไม่ได้เติมน้ำมันประเภทนี้อีกต่อไป รวมถึงน้ำมัน E85 ด้วย เพราะมีข่าวว่ากระทรวงพลังงาน โดยเจ้ากระทรวงที่ควบต่ำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอย่างนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เดินหน้าแผนพลังงานระยะยาวแน่!
สำหรับการยกเลิกน้ำมันทั้ง 3 ประเภทนั้น หากมองเหตุผลเบื้องต้นอย่างแรกคือ รถที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงปริมาณลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา รถใหม่ๆ จะใช้น้ำมัน E85 E20 หรือเติมน้ำมันได้หลากหลายประเภทอยู่แล้ว แต่เมื่อเจาะลึกลงไปดูต้นทางที่จะทำให้เกิดการยกเลิกนี้ ก็มาจากแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ TIEB ฉบับใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2561 - 2580 โดยมีองค์ประกอบหลักๆ 5 แผนด้วยกัน ได้แก่
3
- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan)
- แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan)
- แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan)
- แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
- แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ถือว่าเป็นพลังงานชนิดที่มีสัดส่วนการใช้สูงมากๆ ในภาคการขนส่ง
1
เบื้องต้นรองนายกผู้เป็นเจ้ากระทรวงก็ได้เห็นชอบให้คงเป้าหมายของแผนบูรณาการข้างต้นต่อไป เนื่องจากจัดทำกันมาตั้งแต่ยุคของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเจ้ากระทรวง พร้อมสั่งให้มีการวัดผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี ตลอดระยะเวลาแผนช่วง 5 ปีที่ต้องชัดเจน โดยเฉพาะแผนบริหารจัดการน้ำมัน ด้วยกำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ B10 และ E20 กลายมาเป็นน้ำมันมาตรฐานของประเทศ และยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 และ E85 แทน
1
เมื่อหาเหตุผลอื่นๆ ประกอบเพิ่มเติมในการยกเลิกการใช้น้ำมันเหล่านี้ มันมีปัจจัยหนึ่งมาจาการที่ภาครัฐต้องการเข้าไปช่วยเพิ่มราคาของวัตถุดิบที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรก็คือ มันสำปะหลัง และอ้อย เนื่องจากปัจจุบันถูกนำมาใช้ผลิตเป็นเอทานอล ในสัดส่วนประมาณ 27% ของการผลิตเอทานอลทั้งหมด
2
โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานก็เคยมีการประกาศให้น้ำมันดีเซล B10 หรือน้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตรกลายเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศเมื่อ 1 มกราคม 2563 เพื่อสนับสนุนราคาผลผลิตปาล์ม โดยปั๊มน้ำมันทุกแห่งก็จะมีเวลาปรับตัวมา 4 - 5 เดือน ในการเปลี่ยนป้ายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ตู้จ่ายน้ำมัน จาก “ดีเซลB10” เป็น “ดีเซล” ซึ่งน้ำมันดีเซลที่ขายกันทุกวันนี้ จะถูกเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ดีเซล B7 ให้กลายเป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ก็ให้เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้
1
หากมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ น้ำมันไบโอดีเซล B10 จะช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO ได้ปีละ 2.2 ล้านตัน และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ได้วันละ 6.5 ล้านลิตร
2
กลับมาที่การยกเลิกน้ำมันโซฮอล์ 91 กันต่อ อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า มันสร้างความสันสนงุนงงพอควรให้หมู่ประชาชนที่ต้องเจอกกับการเปลี่ยนแปลในช่วงแรกๆ แต่ไม่ใช่ประชาชนที่สับสนอย่างเดียว ทางผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันก็สับสนพอควร และปั๊มน้ำมันในบ้านเราส่วนใหญ่มีหัวจ่ายไม่มากนัก การจะเก็บสำรองน้ำมันหลายๆ ชนิดไว้ก็ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งนั้น หากรวมน้ำมันเบนซิน กับดีเซลในบ้านเรารวมๆ กันมีถึง 11 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสูตรพรีเมียม หรือสูตรธรรมดา ให้เป็นประเภทเดียวกันในหมวดหมู่เดียวกัน ก็จะเป็นการประหยัดต้นทุนของปั๊มน้ำมัน ฉะนั้นปั๊มน้ำมันขนาดกลาง และขนาดเล็กก็จะได้ให้บริการได้ลงตัวมากขึ้น
2
ถัดมาคือเรื่องของแก๊สโซฮอล์ E20 ที่ถูกมองเป็นพระรองมาตลอด แม้ว่าจะเป็นน้ำมันราคาถูกกว่า ประหยัดกว่า คุณภาพตามมาตรฐาน แต่คนเลือกเติมน้อยกว่าเนื่องจากมองว่าเวลาขับขี่แล้วรู้สึกเครื่องยนต์ไม่แรง การเผาไหม้สู้น้ำมันสูตรอื่นไม่ได้ จังหวะนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเดินหน้าครั้งสำคัญของวงการพลังงานไทยอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้ลดประเภทน้ำมันลง และใช้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ด้วยการตั้งเป้าปริมาณการใช้ E20 ไม่ต่ำกว่า 50% ของความความต้องการใช้น้ำมันเบนซินภายในปี 2564 และยกมาตรฐานน้ำมันของไทยเป็นมาตรฐานยุโรป ระดับ 5 ในปี 2567
1
ส่วนมาตรฐานน้ำมันยูโร คืออะไร เป็นมาตรฐานการรับมือมลพิษทางอากาศ หรือ Euro Emissions Standards เพื่อควบคุมอัตราการปล่อยมลพิษของรถยนต์ หากย้อนไปดูการกำหนดใช้ครั้งแรกที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี 1992 โดยรายละเอียดทางเทคนิคเบื้องต้นนั้น ข้อกำหนดของมาตรฐานยูโร 1 จะมีการระบุว่ารถยนต์ต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบไร้สารตะกั่ว และให้มีอุปกรณ์เครื่องฟอกไอเสียเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จนพัฒนามาต่อเนื่องมาเป็น ยูโร 2 ในปี 1996, ยูโร 3 ในปี 2000 ยูโร 4 ที่บ้านเราใช้กันอยู่คือการกำหนดให้รถยนต์ที่ผ่านการทดสอบจะต้องมีปริมาณการปล่อยสารมลพิษไอเสียต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบไปด้วย คาร์บอนมอนออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.5 g/km. ไนโตรออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.25 g/km ขณะที่ยูโร 5 จะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นไปอีกขั้น โดยต้องลดลง 28% จากยูโร 4
3
ขณะที่คุณนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานบอกไว้ว่า หากรัฐมนตรีเห็นชอบน่าจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือนหลังจากแผนอนุมัติ โดยแบ่งเป็นช่วง 3 เดือนแรก จะทำการสนับสนุนให้ประชาชนมาเติมน้ำมัน E20 เพิ่มขึ้น ทั้งการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาสนับสนุนด้านราคา ต่อจากนั้นช่วง 3 - 6 เดือน ก็ทำการกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันหยุดทำการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 พร้อมใช้กลไกราคาให้โซฮอล์ 91 กับโซฮอล์ 95 มีราคาเท่ากัน ลดส่วนต่าง E20 ให้ถูกกว่า 95 และเมื่อครบแผนการ 9 เดือน ก็เชื่อว่าจะสามารถดันให้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานได้เต็มรูปแบบ
3
แล้วรถยนต์รุ่นเก่าจะทำอย่างไร?...ทางแรกอาจจะเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ก่อน เพราะยังไม่ยกเลิก ซึ่งมีราคาสูงกว่า 91 ไม่มากนัก หากรวมๆ กับประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่ดีขึ้นก็ถือว่ารับได้อยู่ อีกทางที่สายประหยัดสามารถเลือกได้นั่นคือ การนำรูปไปติดกล่องจูนเครื่องยนต์ให้รองรับน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ E20 หรือ E85 แต่ต้องยอมรับว่าการจะไปติดกล่องอะไรก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกับเครื่องยนต์ ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของท่อน้ำมันเร็วขึ้น ยิ่งหากถึงคราวซวยเจอช่างหรืออู่รถติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมมาพร้อมค่าใช้จ่ายที่งอกมาอีกด้วย
1
หากทางเลือกแรกไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งการจูนกล่องเครื่องยนต์ให้รองรับ หรือเปลี่ยนน้ำมัน ยังไม่โดนใจคุณ ทางเลือกอื่นก็ยังมีให้ แต่ทางนี้ต้องเป็นคนที่ทำใจได้ตอนขายรถ เนื่องจากให้นำรถไปติดแก๊ส เพราะแก๊ส LPG NGV ใดๆ ก็ตามจะทำให้รถยนต์สุดรักของคุณราคาตกลงไปด้วย ประกอบกับความเสี่ยงจากความร้อนในการเผาไหม้ระบบแก๊ส สูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วขึ้นกว่าเดิม รถยนต์เสื่อมสภาพไวกว่าปกติ และเครื่องยนต์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนความร้อนสูงมากนัก รวมถึงโอกาสเวลาเกิดอุบัติเหตุมักจะรุนแรงกว่า แม้อุบัติเหตุบนถนนไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ยิ่งเกิดขึ้นกับรถติดแก๊สนั้นจะยิ่งอันตราย เพราะแก๊สรั่วแล้วติดไฟได้ง่าย ด้วยคุณสมบัติการเป็นเชื้อเพลงชั้นดี ฉะนั้นต้องมองให้หลายมิติ
3
ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะทางเลือกอื่นๆ ก็ยังมี ไม่ว่าจะเป็นการยกเครื่องยนต์ใหม่ ใส่เครื่องยนต์ตัวใหม่เลย ไปจนถึงหาเครื่องยนต์เก่าตามเซียงกงมาให้อู่รถจัดการให้ แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญเสียหน่อย และทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์อาจเลือกการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ ที่ตอบโจทย์มากกว่า อย่างไรก็ตามต้องคำนวนค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วย ดีไม่ดีอาจจะเข้าสุภาษิตที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายเอาได้
ทั้งนี้ การจะเคาะเริ่มการยกเลิกเมื่อไหร่นั้น ยังต้องดูความชัดเจนจากเจ้ากระทรวงพลังงานอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะประกาศชัดๆเมื่อใด
#น้ำมัน #แก๊สโซฮอล์ #91 #E20 #พลังงาน
โฆษณา