10 ก.ย. 2020 เวลา 13:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มาพบกับอีกสถานการณ์ที่น่า “ปวดใจ” ในตลาดหุ้น แน่นอนว่า มันฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลเอาซะเลย
กับสำนวน “ตกรถ” (คุณซื้อหุ้นไม่ทัน ราคาวิ่งไปไกลแล้ว) และ “ขายหมู” (หลังจากคุณขายหุ้น ราคาดันสูงขึ้นไปอีก)
ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีใครอยากเจอครับ แต่ถ้าเจอแล้วอะไรจะทำให้คุณ “ปวดใจ” มากกว่ากัน? ลองดูเหตุการณ์ต่อไปนี้
ภาพโดย skeeze จาก Pixabay
(ก) ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น คุณจ้องหุ้น A อย่างไม่ละสายตา หาจังหวะที่จะเข้าไปซื้อสักหน่อย แต่สุดท้ายคุณก็ไม่ได้ซื้อ
ผ่านไปสามวัน คุณพระช่วย!! เจ้า A ตัวดีราคาพุ่งไปไกลมากแล้ว มากเสียจนไม่กล้าเข้าไปซื้อ กำเงินสดไว้ต่อไปก่อนดีกว่า
คุณ “ปวดใจ” ไหมครับ? แน่นอน ใครจะไม่ “ปวดใจ” กันล่ะแบบนี้ เพราะถือว่า “ตกรถ” ไปแล้ว
(ข) สถานการณ์คล้ายกันแต่คุณถือหุ้น A อยู่แล้ว อยู่มาวันนึง คุณตัดสินใจขาย A ทิ้งซะ เปลี่ยนเป็นกำเงินสดไว้ในมือดีกว่า
ผ่านไปสามวัน หุ้น A ที่เคยเป็นของคุณ ราคาพุ่งไปไกลเหมือนเดิม จนคุณถึงกับบ่นว่า “ตอนถืออยู่ทำไมไม่ขึ้น (วะ)” และตอนนี้คุณมีเงินสดจากการขาย A เท่ากับ (ก)
คุณ “ปวดใจ” ไหมครับ? ทั้ง “ปวดใจ” และเสียดาย คุณ “ขายหมู” ไปตัวเบ้อเริ่ม
แล้วเหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณ “ปวดใจ” มากกว่ากัน? ลองตอบดูนะครับ
แต่อย่าลืมว่าผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันนะครับ คือ คุณไม่ได้รวยขึ้นจากหุ้น A เพราะ (ก) คุณไม่ได้ซื้อ A และ (ข) คุณชิงขาย A เร็วไปนิด
ตอนนี้คุณมีเงินสดในกำมือเท่าเดิม และเท่ากันทั้งสองเหตุการณ์
เอ๊ะ..งั้นมันก็ควร “ปวดใจ” ปนเสียดายเท่ากันสิ แต่มันไม่ใช่อย่างที่คิดครับ!!
นักลงทุนส่วนมาก “ปวดใจ” กับเหตุการณ์ (ข) มากกว่าครับ แล้วทำไมเหล่านักลงทุนผู้เปี่ยมไปด้วยเหตุผลถึงเป็นแบบนี้?
ข้อแตกต่างของ (ก) กับ (ข) คือ “การลงมือทำ” ครับ
มนุษย์มีแนวโน้มที่จะ “ปวดใจ” กับเหตุการณ์ (เหตุการณ์ที่น่าผิดหวัง) มากขึ้น หากตัวเองได้ “ลงมือทำ” ในเหตุการณ์นั้น
กรณี (ก) คุณอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งการไม่ทำอะไรเลยของคุณก็ทำให้คุณไม่รวยขึ้น ส่วน (ข) คุณลงมือลงแรงทำครับ ก็คือกดขายหุ้นออกไป (แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม) แค่นี้ก็ทำให้ “ปวดใจ” หนักกว่าได้แล้ว แม้มันจะไม่รวยขึ้นเหมือนกับ (ก) เป๊ะ
ระยะเวลาก็มีผลครับ (ค) หากคุณตัดสินใจจะซื้อเจ้า A ตอน 16:38 น. ตลาดดันชิงปิดไปเมื่อครู่ คุณช้าไปแค่ 20 วินาทีเท่านั้น แต่ (ง) ถ้าตลาดปิดไปเสียตั้งแต่ 16:35 น. คุณช้าไปตั้ง 3 นาที แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อราคา A พุ่งสูงขึ้นในวันพรุ่งนี้?
ในช่วงสายวันถัดมา หุ้น A พุ่งทะยานฟ้าตามที่คาด คุณ “ตกรถ” อีกเช่นเคย แล้วแบบไหนทำคุณ “ปวดใจ” มากกว่ากันครับ?
แน่นอนว่าเหตุการณ์ (ค) ทำคุณ “ปวดใจ” มากกว่า (ง) อย่างไม่ต้องสงสัยเลย คุณจะย้อนกลับไปคิดว่า “ให้ตายเถอะ อีกนิดเดียวก็ซื้อทันแล้ว”
ทีนี้หากคุณรวมกลุ่มกับเพื่อนได้สัก 10 คน แข่งขันว่าใครจะได้ผลตอบแทนสูงสุดจากตลาดหุ้นในสภาวะเศรษฐกิจยุคโควิด 19
3 อันดับแรกจะได้รางวัลเป็นเหรียญที่ระลึกจากกลุ่ม เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง (อาจสงสัยว่าเหรียญรางวัลจูงใจให้แข่งขันตรงไหนใช่ไหมครับ? นั่นสิ ผมก็ชักเริ่มสงสัย)
เหรียญทองสำหรับผู้ชนะ (ภาพโดย AxxLC จาก Pixabay)
ผู้ชนะเลิศจะได้เหรียญทอง รองชนะเลิศได้จะเหรียญเงิน รางวัลสุดท้ายก็คือเหรียญทองแดง
ใน 3 อันดับนี้ คิดว่าใครจะ “ปวดใจ” ที่สุดครับ?
แน่นอน คงไม่ใช่คนที่ได้เหรียญทองหรอก ตัดออกไปได้เลย ก็คงเป็นคนที่ได้เหรียญทองแดงละมั้ง เพราะได้รางวัลท้ายสุด
แต่ไม่ใช่ครับ คนได้เหรียญเงินมีแนวโน้มจะ “ปวดใจ” ที่สุด เพราะรู้สึกว่าอีกนิดก็จะได้เหรียญทองแล้ว เราอาจจะได้เหรียญทองก็ได้ ถ้าทำได้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย
แต่สำหรับเหรียญทองแดง อันดับห่างจากเหรียญทองมากกว่า ความรู้สึกจึงไม่รุนแรงเท่า
ลองนึกภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกดูครับ น่าจะทำให้เห็นชัดเจนขึ้น เรามาดูการแข่งขันรอบชิงแชมป์กับรอบชิงอันดับ 3 กันดีกว่า
ภาพโดย Pexels จาก Pixabay
ทีมแชมป์ ดีใจ ไชโยโห่ร้อง กระโดดโลดเต้น
ทีมรองแชมป์ คอตก เสียใจ บางคนร้องไห้
ส่วนทีมอันดับ 3 บรรยากาศดีใจแทบจะเหมือนกับได้แชมป์
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจแล้วนะครับ ทำไมบางครั้งเราถึงกินเบียร์ย้อมใจกับแต่ละเหตุการณ์ไม่เท่ากัน ทั้ง ๆ ที่ผลของเหตุกาณ์ก็ไม่เห็นจะต่างกัน
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน**
อ้างอิง
- “Thinking, Fast and Slow”, Daniel Kahneman
- “The Paradox of Choice”, Barry Schwartz
อย่าถามหาเหตุผลในตลาดหุ้น!!
“rational man” ก็มีแค่ในตำรา
มองโลกผ่านทฤษฎีเกม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา