14 ก.ย. 2020 เวลา 09:30 • การศึกษา
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ได้สร้างความยากลำบากและความวุ่นวายหลากหลายด้าน ส่งผลให้หลายองค์กรต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารบุคลากรให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงเป็นเสาหลักในการพัฒนาให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตต่อไปภายใต้จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้...แล้วฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องปรับตัวอย่างไร?...หาคำตอบได้จากบทความนี้
3 หน้าที่ของ HR ในอนาคต
สิ่งสำคัญที่สุดในการบริการพนักงานในองค์กร คือการที่ HR และองค์กรสามารถนำพาความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดมาสู่องค์กรได้ โดยเฉพาะตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในปัจจุบัน
ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้ หัวใจหลักของ HR คือ จะต้องสร้างค่านิยม (Values) และจิตสำนึก (Mindset) ที่ดีให้กับพนักงาน และผู้นำ เพื่อให้มองเห็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคาม เช่น จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้หลายองค์กรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานเป็นรูปแบบออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เป็นต้น
ในบทความนี้ขอแนะนำ 3 หัวข้อหลักตามแนวคิดของ Professor Dave Ulrich ประกอบด้วย หลักปฏิบัติ (Principles) 5 ประการ สิ่งที่ต้องส่งมอบ (Deliverables) 3 ประการ และ วาระสำคัญ (Agenda) 2 ประการ
หลักปฏิบัติ (Principles) 5 ประการ
1. การปรับแต่งลักษณะงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและจำแนกรูปแบบการให้บริการลูกค้าออกจากการปฏิบัติกับพนักงาน เช่น ในช่วงโควิด19 ระบาด พนักงานแต่ละคนจะได้ผลกระทบไม่เหมือนกัน ทำให้ความสะดวกหรือความพร้อมในการทำงานบางประเภทอาจมีไม่เหมือนกัน
2. การกำหนดนิยามการทำงานใหม่โดยเปลี่ยนจากเน้นสถานที่ทำงานมาเป็นการให้คุณค่าของงานที่ได้สร้างขึ้น หรือก็คือดูที่ผลลัพธ์ของงานที่ออกมา รวมถึงการทำงานที่พนักงานยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างต่อเนื่อง
3. การนำภายใต้ความย้อนแย้ง ความตึงเครียด และความแตกต่างสองขั้ว คือสิ่งที่เราต้องจัดการควบคู่กันไป แม้ว่าจะดูขัดแย้งกันเหลือเกิน ซึ่งทักษะนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำองค์กรอย่างมาก รวมทั้ง HR ที่ดีจะต้องเชี่ยวชาญทักษะดังกล่าว เช่น ในองค์กรที่มีผู้คนหลากหลาย ในการทำงานที่มีความแตกต่างในวิถีการทำงาน บางครั้งก็ต้องเคารพวิธีการทำงานและแนวคิดของคนอื่นเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แตกแยก หรือในการทำงานที่จะต้องแก้ไขบางปัญหาในระยะสั้นที่อาจสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว เป็นต้น
4. ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความไม่แน่นอน โดยให้มองในแง่บวกภายใต้พื้นฐานแห่งความเป็นจริง มองหาโอกาส แล้วสร้างโอกาสเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ห้ามท้อแท้ สิ้นหวัง หรือหมดกำลังใจ
5. HR ต้องสามารถแสวงหาแนวทางสำหรับผู้มีความสามารถสูง ภาวะผู้นำ องค์กร และบุคลากร พัฒนาหรือมาตราการรับมือในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
สิ่งที่ต้องส่งมอบ 3 ประการ
มีปัจจัยหลัก คือ บุคลากรที่มีความสามารถสูง (Talent) องค์กร (Organization) และผู้นำ (Leadership) โดยพิจารณาจากองค์กรมีพนักงานที่มีความสามารถเพียบพร้อมมากน้อยขนาดไหน แล้วตัวองค์กรเองมีระบบ อุปกรณ์ หรือโครงสร้างที่พร้อมสำหรับบุคลากรในการทำงานหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำองค์กรมีความสามารถมากพอในการขับเคลื่อนหรือการนำบุคคลากรผู้มากความสามารถมาทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีมากได้เพียงใด
วาระสำคัญ (Agenda) 2 ประการ
ในส่วนสุดท้ายนี้ ประการแรกองค์กรจะต้องสร้างหรือปฎิรูปฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ที่ดีและมีประสิทธิภาพขึ้นมา เช่น ในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการภายในแผนก พันธกิจของแผนกคืออะไร แผนกทรัพยากรบุคคลมีขึ้นเพื่ออะไร ใครคือกลุ่มเป้าหมายหลักของแผนกที่เราควรให้ความใส่ใจ แผนกทรัพยากรจะเสริมสร้างขีดความสามารถการพัฒนาบุคคลากรทั่วทั้งองค์กรได้อย่างไร ไปจนถึงความสัมพันธ์อันดีในหมู่เจ้าหน้าที่ในแผนก เป็นต้น ประการต่อมาคือการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในฝ่าย HR ให้เชี่ยวชาญชำนาญการมากขึ้น เช่น ในฐานะ HR ต้องรู้จักแยกแยะข้อมูลให้เป็น รู้ว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด จัดหาแนวทางแก้ไขหรือมาตราการรับมือให้เร็วที่สุดและให้ถูกต้องกับบุคลากรทั้งในและนอกองค์กร
กล่าวโดยสรุป คือสิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จัดสรรให้กับพนักงานในบริษัทจะเป็นตัวผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จ โดยการจัดสรรดังกล่าวคือการประสบความสำเร็จทางการตลาดขององค์กร HR จะต้องเข้าไปสร้างค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีให้กับพนักงาน องค์กรและผู้นำ ในการมองเห็นโอกาสของสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งตามความเชื่อของ Professor Dave Ullrich ส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสำคัญกับแผนกทรัพยากรมนุษย์ในการวางแผน สนับสนุน และพัฒนาทักษะบุคคลากรในองค์กรมากกว่าสิ่งอื่น
บทความโดย
สิริมา มหา​เวท​ศาสตร์​
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Tel : 0803487505
โฆษณา