17 ก.ย. 2020 เวลา 00:39 • อาหาร
EP.56 รักเธอมันขม ก็ซดนมดีกว่า
มาดื่มนมกันครับ
สวัสดียามเช้ากับเวลาดีๆ 07:39 น. กันเช่นเคยครับ
ถ้าใครเป็นแฟนเพลง “อาร์เอส” รุ่นเก่า (ประมาณยี่สิบปีที่แล้ว) น่าจะคุ้นกับชื่อบทความของวันนี้ไม่มากก็น้อยล่ะ เพราะเอาจริงๆ มันคือส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง “รักเธอแล้วแย่รักแม่ดีกว่า” ของ ‘อาร์ม’ ครับผม ซึ่งท้ายบทความผมก็มีลิ้งค์มาให้ฟังกันเช่นเคยครับ
ในส่วนของบทความวันนี้ ผมจะพาทุกท่านไปล้วง เอ้ย!!! เจาะลึกในเรื่องของ “นม” กันครับ อ่ะๆ อย่าเพิ่งคิดว่าผมทะลึ่งนะ (เดี๋ยวโดนแบนอีก)
ว่าแต่จะเป็นนมแบบไหน เราไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ
“นม” หรือ “น้ำนม” คือ ของเหลวสีขาวที่ประกอบด้วยสารอาหารที่ออกมาจากเต้านมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ มนุษย์ วัว แพะ ควาย แกะ ม้า ฯลฯ ซึ่งในน้ำนมนั้นเพียบพร้อมไปด้วยสารอาหารหลักที่จำเป็นมากมาย ทั้งนี้เรายังสามารถนำนมไปสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก เช่น ครีม เนย โยเกิร์ต ไอศกรีม ชีส ฯลฯ นอกจากนี้นมยังหมายถึงเครื่องดื่มอื่นที่นำมาใช้ทดแทนนมได้อีก อาทิ นมถั่วเหลือง นมข้าว นมข้าวโพด หรือนมแอลมอนด์ และอีกหลากหลายนม
นมนั้นเหมาะกับทุกเพศทุกวัย สำหรับวัยเด็ก (อายุ 1-12 ปี) นั้นควรดื่มนมวันละ 3 แก้วต่อวัน แต่ถ้าเป็นวัยหนุ่มสาว (13-25 ปี) ควรดื่มที่วันละ 3-4 แก้ว และสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทุกคนควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว และสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรดื่มนมไม่น้อยกว่าวันละ 3 แก้ว ทั้งนี้เทียบ 1 แก้ว เท่ากับปริมาณ 200 cc นะครับ
เราแบ่งนมได้เป็น 7 ประเภทดังนี้ครับ
1. นมสด (Fresh milk) เรียกว่าคือนมสดธรรมดานี่แหละครับ สังเกตง่ายๆ ก็คือที่ฉลากจะระบุ ข้อความ อาทิ นมโค 100%
นมสด
2. นมพร่องมันเนย (Low fat fresh milk) คือ นมที่สกัดแยกเอามันเนยออกบางส่วน เพื่อให้มีพลังงานต่ำ และมีปริมาณไขมันที่น้อยลง เพื่อให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือคนทั่วไปที่มีปัญหาเกี่ยวกับความอ้วนหรือมีไขมันในเส้นเลือดสูง
นมพร่องมันเนย
3. นมขาดมันเนย (Non fat milk) นมประเภทนี้จะแยกมันเนยออกจนเกือบหมดแล้ว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงไขมัน จัดไปโลดครับ
นมขาดมันเนย
4. นมแปลงไขมัน (Filled milk) นี่คือนมพร้อมดื่มที่นำเอาไขมันชนิดอื่นมาทดแทนไขมันเดิมที่อยู่ในน้ำนมเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด อาทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น
นมแปลงไขมัน
5. นมปรุงแต่ง (Flavored milk) มันคือนมวัวหรือนมผงที่นำมาผ่านกรรมวิธีการผลิตต่างๆ นี่เอง โดยมีการปรุงแต่งกลิ่น สี และรสชาติเพื่อให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
นมปรุงแต่ง
6. นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต (Drinking yoghurt and yoghurt) คือ นมที่หมักด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดพิษ ซึ่งอาจจะมีการปรุงแต่งรสชาติ กลิ่น และสีต่างๆ เพื่อความเหมาะสม
นมเปรี้ยว
7. นมข้น (Condensed milk) แบ่งออกเป็น 2 ชนิดดังนี้ (1) นมข้นจืด คือ นมผงขาดมันเนยละลายน้ำในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปริมาณน้ำที่มีในนมสดธรรมดาชนิดหนึ่ง ถ้าเติมน้ำมันปาล์มลงไปจะเรียกว่านมข้นแปลงไขมันชนิดไม่หวาน แต่ถ้าเติมไขมันเนยลงไปจะเรียกว่า นมข้นคืนรูปไม่หวาน (2) นมข้นหวาน คือ นมที่ระเหยเอาน้ำบางส่วนออก หรือละลายนมผงขาดมันเนยผสมกับไขมันเนยหรือไขมันปาล์ม แล้วเติมน้ำตาลลงไปประมาณ 45% ซึ่งนมชนิดนี้จะมีน้ำตาลในปริมาณสูง และมีโปรตีนน้อยกว่านมสดมาก
นมข้น
หลายคนเข้าใจว่าการดื่มนมนั้นทำให้อ้วนขึ้น นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ เพราะถ้าเทียบกับอาหารชนิดอื่นถือว่าการมีไขมันเพียง 3.8% นั้นน้อยมาก แต่ถ้ายังกังวลเรื่องความอ้วนก็สามารถดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมไม่มีไขมันที่มีแคลเซียมสูงทดแทนได้เช่นกัน
สำหรับการเลือกดื่มนมเพื่อการลดน้ำหนักนั้นอยากให้พิจารณาดังนี้ครับ
1. เลือกที่ “น้ำตาลน้อย” ก่อน
2. จากนั้นเลือกแบบที่ “แคลอรี่น้อย” ไม่เกินจำนวนแคลอรี่ที่ควรบริโภคต่อวัน
3. สุดท้ายต้อง “ไขมันต่ำ” เพื่อเป็นการลดการสะสมของไขมันในร่างกาย
ต่อไปเรามาดูประโยชน์ที่มากมายของนมกันครับ
1. ในน้ำนมนั้นครบถ้วนด้วยสารอาหารทั้ง 5 หมู่จึงช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายได้เป็นอย่างดี
2. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
3. ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
4. ไขมันจากนมช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
5. มีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการทางร่างกาย และสมองของเด็ก
6. มีวิตามินบี 1 ช่วยในการบำรุงประสาท
7. มีวิตามินบี 1 ช่วยบำรุงหัวใจ
8. มีวิตามินบี 2 ช่วยในการทำงานของระบบเซลล์ผิวหนัง
9. ช่วยให้ฟันแข็งแรง
10. ช่วยให้กระดูกเจริญเติบโต และแข็งแรง ซึ่งจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กในช่วงก่อนเข้าวัยรุ่น และในช่วงวัยรุ่น
11. ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกในวัยเด็ก
12. การดื่มนมในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นจะช่วยทำให้ตัวสูงขึ้น เนื่องจากแคลเซียมจะช่วยทำให้กระดูกยาวขึ้น
13. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะ
14. แคลเซียมในนมมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต
15. แคลเซียมในนมช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
16. แคลเซียมในนมช่วยทำให้ระบบประสาทไวต่อสิ่งเร้ามากขึ้น
17. แคลเซียมในนมช่วยทำหน้าที่ยืด และหดตัวของกล้ามเนื้อ
18. วิตามินดีในนมช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
19. แคลเซียมในนมช่วยทำให้เลือดแข็งตัว
20. วิตามินบี 12 ในนมช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง
21. วิตามินดีในนมช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
22. นมช่วยลดน้ำหนักตัวได้ ซึ่งจากการศึกษาโดยใช้นมพร่องมันเนยในเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักพบว่ากลุ่มที่ดื่มนมพร่องมันเนยสามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม
23. นมเปรี้ยวช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารเป็นปกติ และทำให้ขับถ่ายได้สะดวก ป้องกันอาการท้องผูกได้ดี
วิธีการเก็บรักษานมที่ถูกต้อง
1. นมพาสเจอร์ไรส์ ซื้อมาแล้วควรเก็บแช่ในตู้เย็นทันที เมื่อเอาออกมาดื่มถ้าเหลือให้รีบเก็บทันที โดยจะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 10 วัน ในอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส นับจากวันผลิต
2. นมสเตอริไรส์ (นมกระป๋อง) สามารถเก็บไว้ได้นาน 12 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรจะถูกแสงแดดโดยตรงเช่นกัน
3. นมยูเอชที (UHT) เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่ควรโดนแสงแดด โดยสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน
4. นมเปรี้ยว ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และปิดฝาให้สนิท นมชนิดนี้สามารถเก็บไว้ได้นานกว่านมประเภทอื่น เพราะมีกรดแลคติกที่ช่วยในการถนอมอาหาร
5. นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรซ์ เก็บไว้ในตู้เย็นในอุณหภูมิ 10-12 องศาเซลเซียส โดยจะเก็บได้นานถึง 3 สัปดาห์หรือ 21 วันเลยทีเดียว
1
6. นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 8 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น
และนี่คือการดื่มนมอย่างถูกวิธี และข้อควรระวังนะครับ
1. การเลี้ยงทารกด้วยนมที่ข้นจนเกินไป อาจจะทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องผูก ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่เจริญอาหาร และลำไส้เล็กอาจมีเลือดออกจนอักเสบ
2. ไม่ควรเติมน้ำตาลเกิน 8 กรัมต่อนม 100 มิลลิลิตร ถ้าจะเติมควรใช้น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อย เพราะเป็นน้ำตาลที่ร่างกายดูดซึมได้ง่าย และไม่ควรเติมน้ำตาลในนมที่ร้อนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดสารพิษต่อร่างกายได้ ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 40-50 องศา
3. การเติมช็อกโกแลตลงในนมอาจจะทำให้แคลเซียมในนมกับกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในช็อกโกแลตผสมกัน เกิดเป็นแคลเซียมออกซาลิก ซึ่งจะเป็นตัวทำลายสุขภาพ ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม มีอาการท้องเสีย กระดูกเปราะ หรือเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
4. อย่าทานยาพร้อมกับนม และไม่ควรดื่มนมก่อนหรือหลังรับประทานยา ใน 1-2 ชั่วโมง เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดูดซึมของยา ทำให้ความเข้มข้นของยาในเลือดลดลง
1
5. การต้มนมให้เดือดด้วยอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้น้ำตาลในนมไหม้เกรียมได้ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แคลเซียมเกิดตะกอนทำให้ดูดซึมได้ยากขึ้น ทางที่ดีการต้มเพื่อฆ่าเชื้อในนม ควรใช้อุณหภูมิที่ 60 องศาเซลเซียสประมาณ 6 นาที หรือที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสประมาณ 3 นาทีก็เพียงพอแล้ว
6. ไม่ควรเติมน้ำมะนาวหรือน้ำส้มลงในนม เพราะอาจจะไปทำลายโปรตีนในน้ำนมได้
7. อย่ารับประทานข้าวต้มพร้อมกับการดื่มนม เพราะจะไปทำลายวิตามิเอในนมได้ และส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า
8. การเลี้ยงทารกด้วยนมเปรี้ยวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จริงอยู่ที่นมเปรี้ยวจะช่วยในการย่อยอาหาร และจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวแม้จะฆ่าเชื้อแล้ว แต่ก็จะไปทำลายกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ จนส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารได้
9. นมข้นไม่สามารถใช้แทนนมสดได้ เพราะนมข้นในสูตรต้องเติมน้ำอ้อยสูงถึง 40% และต้องเติมน้ำประมาณ 5-8 เท่าจึงจะดื่มได้ แต่กลับกันความเข้มข้นของโปรตีน และไขมันก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงมากกว่านมสดถึง 50%
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ครบเครื่องเรื่องนมกันไปเลยใช่ไหม หวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้างไม่มากก็น้อย ว่าแต่วันนี้คุณดื่มนมหรือยังครับ?
************************************************
รักเธอแล้วแย่รักแม่ดีกว่า / อาร์ม
ขอบคุณคุณแหล่งอ้างอิง
โครงการปศุสัตว์น้อยเตือนภัย ใส่ใจผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ (พิจารณา สามนจิตติ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา