18 ก.ย. 2020 เวลา 01:36 • ปรัชญา
คำเตือนของโซลอน
"จงอย่าได้ไว้วางใจโชคชะตา - สิ่งใดได้มาง่ายๆด้วยโชค
สิ่งนั้นย่อมถูกโชคชะตาพรากกลับไป อย่างไรปราณีเช่นกัน"
Solon's Warning
โซลอน (Solon) นักปราชญ์และนักกฏหมายชาวกรีกเอเธน ผู้ได้รับการยกย่องด้านสติปัญญาอันเป็นเลิศ ได้เยือนอาณาจักรลิเดีย (Lydia) ซึ่งปกครองโดยพระเจ้าครีซัส(Croesus) กษัตริย์ผู้ซึ่งร่ำรวยและมีอำนาจมากที่สุดแห่งยุคสมัยนั้น
ชื่อเสียงของโซลอนย่อมเป็นที่สนพระทัยของพระเจ้าครีซัส ถึงขนาดพระองค์ทรงต้อนรับโซลอนด้วยตนเองดังเช่นแขกคนสำคัญ
พระองค์ทรงพาโซลอนเยี่ยมชมความงดงามอลังการของทรัพย์สมบัติต่างๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ไม่มีผู้ใดเทียบเทียมเท่า
แต่ผู้มาเยือนนั้น กลับมิได้รู้สึกอะไรใดๆกับสภาพแวดล้อมอันแสนวิจิตรหรูหราของพระราชวัง รวมถึงทรัพย์สมบัติอันอลังก์ต่างๆ ของพระองค์เลย
King Croesus showed Solon his treasures
ท่าทีที่นิ่งเฉยของโซลอน ทำให้พระองค์ทรงแปลกใจ และขุ่นข้องพระทัยอย่างมาก
จึงตรัสถามโซลอนว่า จากประสบการณ์ชีวิตอันเปี่ยมล้นและจากที่โซลอนได้ไปท่องเที่ยวมาหลากหลายพื้นที่นั้น...
ท่านคิดว่าใครคือผู้ที่มีความสุขมากที่สุด ที่ท่านเคยพบเจอมา?
แน่นอน พระองค์ทรงคิดว่าโซลอนต้องตอบว่าเป็น "พระเจ้าครีซัส" อย่างแน่แท้
เพราะจากหลักฐานความมั่งคั่งและอำนาจที่เขามีนั้น คำตอบย่อมเป็นอื่นไม่ได้
แต่ผิดคาด...
โซลอนคิดอยู่ชั่วขณะ ก็ตอบว่า ชายผู้มีความสุขในโลกที่เขาได้รู้จักนั้น คือ “เทลลัส แห่งเอเธนส์ (Tellus of Athen)”
Tellus เป็นนักการเมืองฐานะปานกลาง แม้ไม่ร่ำรวยมาก แต่ก็ไม่อดอยากอะไร เขามีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีบุตรชายที่สง่าผ่าเผยและเป็นคนดี มีหลานตัวเล็กน่ารัก
ตัวเขาเองมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บใดๆ
Tellus เสียชีวิตในสมรภูมิรบ ขณะกำลังเข้าไปปกป้องเพื่อนทหารอย่างหาญกล้า มันจึงเป็นการเสียชีวิตเยี่ยงวีรบุรุษ ซึ่งชาวเอเธนส์ก็จัดงานศพให้เขาอย่างสมเกียรติสูงสุด เท่าที่คนธรมมดาจะพึงได้
จะมีผู้ใดมีความสุขทัดทัดเทียมคนผู้นี้ได้อีกเล่า ชายผู้มีเพรียบพร้อมทั้งทรัพย์สมบัติ ผู้มีครอบครัวอันอบอุ่น มีสมาชิกในครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีอาชีพที่น่านับถือ มีบุตรอันทรงเกียรติ และเสียชีวิตเยี่ยงวีรบุรษ!
"...แต่ชายผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว!" พระเจ้าครีซัส ตรัสด้วยความประหลาดใจ
จึงทรงถามว่า แล้วใครล่ะ เป็นคนที่มีความสุขอันดับสอง ที่โซลอนเคยพบเจอ
โซลอนคิดอยู่นาน แล้วตอบไปว่า....
“คลีโอบิส และ ไบทอน แห่งเมืองอาร์โกส (Kleobis and Biton of Argos)”
มารดาของชายหนุ่มทั้งสองเป็นนักบวชแห่งวิหารเทพีเฮร่า ซึ่งมีครั้งหนึ่ง เธอต้องมาเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองแด่เทพเจ้า
แต่เคราะห์ร้าย ที่วันนั้นเธอกลับไม่พบวัวลากเลื่อนที่ใช้ในการเดินทางอยู่เป็นประจำ เธอทุกข์ใจอย่างมาก ทำให้บุตรทั้งสองอาสาลากรถเลื่อนอันหนักอึ้งของมารดามาเอง พวกเขาลากมันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เป็นระยะทางยาวไกลถึง 6 ไมล์
เมื่อมาถึงวิหาร มารดาผู้ซึ่งปิติสุขกับความเสียสละของบุตรทั้งสอง จึงได้สวดมนต์ต่อเทพีเฮร่า ให้บันดาลพรที่สูงที่สุดที่คนธรรมดาจะมีได้
ซึ่งหลังจากที่ชายหนุ่มทั้งสองได้ทานอาหารและเฉลิมฉลองในงานพิธีอย่างมีความสุขในชีวิต พวกเขาก็เผลอหลับไปในวิหาร และไม่ตื่นมาอีกเลย ...
ภายหลังผู้คนแห่งอาโกสก็สร้างรูปปั้นของทั้งสองคนนี้ไว้ในวิหาร เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พวกเขา
"นี่จึงเป็นพรอันสูงสูดจากพระเจ้าที่จะประทานให้คนธรรมดามีได้ คือการตายอย่างมีความสุขสงบ และมีเกียรติยศ" โซลอนกล่าวอย่างเรียบง่าย
Biton and Cleobis
The Happiness Man in the World?
แต่ทั้งสามคนนั้นก็ตายไปแล้ว! ...
ด้วยโทสะ เพราะคิดว่าโซลอนกำลังดูแคลนพระองค์อยู่นั้น
พระเจ้าครีซัสจึงตรัสถามตรงไปตรงมาว่า
แล้วความร่ำรวยและอำนาจอันล้นเหลือของพระองค์หละ?
มันไม่ทำให้พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่มีความสุขในโลกหรอกหรือ?
พระเจ้าครีซัส - บุรุษผู้มีอำนาจมากที่สุด และทรัพย์สินมากที่สุดแห่งยุคสมัย ผู้ที่มีชัยชนะเหนือศัตรูนับไม่ถ้วน ผู้ที่ผ่านมา ทรงทำการใด ก็ประสบความสำเร็จ - ไม่ใช่คนที่มีความสุขที่โลกหรอกหรือ?
โซลอนตอบว่า แน่นอน ณ ตอนนี้ พระองค์คือชายผู้มีทุกสิ่งทุกอย่างเพรียบพร้อม และมีความมั่งคั่งที่สุด ที่ตนเคยประสบพบเจอ มันเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่มีคนสติดีผู้ใดกล้ากล่าวเช่นอื่นไม่
แต่ชีวิตคนนั้น มันยาวนานนัก...
โซลอนกล่าวต่อไปอีกว่า อายุขัยมนุษย์นั้น เฉลี่ยแล้วก็ 70 ปี ซึ่งคิดเป็นหลายหมื่นวัน
และแต่ละวัน มันพร้อมจะพลิกผันเสมอ
ฉะนั้นแล้ว เราไม่มีทางจะวางใจกับความสุข ณ ขณะปัจจุบันได้เลย
เพราะ โชคชะตานั้น ไม่ว่าที่ผ่านมาจะอยู่เคียงข้างเรามานานเพียงใด ก็พร้อมจะหันหลังให้ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใคร ไม่สำคัญจะยากดีมีจนเพียงใด
ดังเช่นที่ตัวเขาเอง ก็ประสบพบมากมาย ว่าบุคคลผู้เคยร่ำรวยเพรียบพร้อม หลายครั้งก็ถูกชะตาเล่นตลกในตอนท้าย และตายด้วยจุดจบชีวิตที่ทุเรศทุรัง
มันจึงไม่ง่ายเลย ที่เราจะรู้สึกยินดีกับความสุขในขณะนี้ได้อย่างง่ายๆ หรือกล่าวชื่นชมความสุขของคนผู้ใดผู้หนึ่งได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
เพราะมันพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
อนาคตนั้นมีแต่ความไม่แน่นอน วันนี้เรามีความสุข แต่มันก็พร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์เสมอ เราไม่มีทางรู้เลย ว่าอนาคตที่กำลังมานั้น พระเจ้าจะดลบันดาลอะไรให้บ้าง
จึงจะมีก็แต่บุคคลที่พระเจ้ายินยอมให้มีความสุขจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น
ที่จะเรียกได้ว่าคนผู้นั้นมีความสุขจริงๆ
สัจธรรมนี้เป็นจริงกับมนุษย์ทุกคน ซึ่งหมายรวมถึงพระองค์ - พระเจ้าครีซัส
มันไม่สำคัญว่า ณ ขณะนี้ พระองค์จะร่ำรวยและมีอำนาจล้นเหลือมากขนาดไหน
พระนามของท่านจะถูกจารึกไว้ และกล่าวถึงอย่างเป็นอมตะ ว่าเป็นมนุษย์ผู้มีความสุขที่สุดในโลกได้ ก็ต่อเมื่อพระองค์ได้ดำเนินชีวิตด้วยอำนาจและคงความมั่งคั่งอย่างล้นเหลือเช่นนี้ จนถึงวันสุดท้ายแห่งลมหายใจ
เราจะกล่าวได้ว่าชีวิตของบุคคลนั้นมีความสุขหรือไม่ ก็ต่อเมื่อเราได้สังเกตชะตาชีวิตเขา จวบจนวาระสุดท้ายแล้วเท่านั้น!
แน่นอน คำพูดของโซลอนนั้นไม่ถูกพระทัยองค์กษัตริย์อย่างมาก พระเจ้าครีซัสทรงคิดว่าปราชญ์ผู้นี้เสียสติไปแล้ว และไม่เก็บคำพูดของเขามาคิดอีกเลย
โซลอนจึงจากอาณาจักรลิเดียอันยิ่งใหญ่ ไปอย่างเงียบๆ...
Croesus and Fate
แต่เพียงไม่กี่ปี หลังจากโซลอนจากไป โชคชะตาก็มาถึงดินแดนแห่งพระเจ้าครีซัส
เพราะเมื่อ พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ได้เคลื่อนทัพโจมตีอาณาจักรลิเดียอย่างกล้าหาญชาญชัย
ทัพของอาณาจักรลิเดีย ที่แม้จะรบชนะมามากมาย ก็ถูกเยี่ยมเยือนด้วยกองทัพจากต่างถิ่น และพ่ายแพ้ย่อยยับ
เมื่อมิอาจต้านทานแสนยานุภาพของศัตรูได้ กองทัพของพระเจ้าไซรัสยึดครองเมืองหลวงของลิเดียอย่างรวดเร็ว
เพียงไม่นานหลังโซลอนจากไป ร่างกายของพระเจ้าครีซัสผู้ยิ่งใหญ่ ก็ถูกผูกมัดไว้กับเสา และกองฟืนรอบๆ เพื่อเตรียมเผาทั้งเป็น!
บัดนั้น พระเจ้าครีซัส ผู้เคยมีอำนาจ ผู้เคยมีอำนาจวาสนา ความมั่งคั่งเป็นอันดับหนึ่งในโลกหล้า ผู้เคยเผลอคิดไปว่าตัวเองเป็นชายที่มีความสุขที่สุดในโลกนั้น ก็ไม่เหลืออะไรอีกเลย
ยกเว้นกายหยาบเหนือกองฟืน
เมื่อความตายใกล้เข้ามา ก็มีเพียงแต่คำเตือน และนามของโซลอนเท่านั้น ที่ประจักษ์แจ้งในก้นบึ้งหัวใจ
พระองค์จึงทรงตรัสออกมา ก่อนจะลาโลกนี้ว่า
"โอ โซลอน! เจ้าพูดถูกแล้ว! โอ โซลอน! โซลอน!
(“O, Solon, you true seer! O Solon, Solon!”)
King Croesus of Lydia on the funeral pyre
Moral of the Story - on the Randomness and Life
มองอย่างผิวเผิน ตำนานเรื่องนี้ อาจมีข้อคิดว่า มันสอนให้เราไม่ยึดติด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สิน เงินทอง อำนาจ สอนให้รู้จักการปล่อยวาง ให้ใช้ชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท
ซึ่งข้อคิดเช่นนี้ มันอาจจะไม่ต่างกับนิทานแฝงแง่คิดต่างๆ เรื่องเล่าสุดเกร่อในหนังสือ Self-Help หรือ Quote เท่ๆ บน Background Graphic สุด cool ของ Life Coach ที่พบได้ทั่วไปตาม Social Media
แต่อยากจะชี้ชวนให้มองลึกไปในตำนานเรื่องนี้
เพราะ สิ่งที่โซลอนกล่าวเตือนไว้ แฝงด้วยความเข้าใจในเรื่องความน่าจะเป็นและความไม่แน่นอนอย่างลึกซึ่ง
กล่าวคือ
1. สิ่งที่เกิดจากโชค ก็มักจะถูกพรากไปด้วยโชค (อย่างรวดเร็ว) ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ได้มาจากฝีมือจริงๆ ก็จะอยู่ยงและคงทน มีภูมิต้านทานต่อโชคชะตามากกว่า
หากย้อนไปดูตามประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าพระเจ้าครีซัสนั้น เป็นบุตรของกษัตริย์อัลลีแอทตี้ (Alyattes) ซึ่งในสมัยของกษัตริย์องค์นี้เองที่เรียกว่าเป็น "ยุคทอง" ของอาณาจักร Lydia
จึงอาจมองได้ว่า พระเจ้าครีซัส "รับช่วงต่อ รับของดี" มาอีกที องค์กษัตริย์ครีซัสนั้นยิ่งใหญ่ แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยนี้มันไม่ได้เริ่มมาจากที่พระองค์เริ่มตั้งต้นสามัญชนและไต่เต้าขึ้นมา แต่สว่นใหญ่แล้ว มันมาจากอำนาจและทรัพย์สินที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น
ในลักษณะนี้ "โชค" ซึ่งก็คือพระองค์ประสูติในยุคสมัยยุคทองของอาณาจักรพอดี และได้รับความมั่งคั่งและอำนาจที่พุ่งทะยานขีดสุดมาอีกที นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของความร่ำรวยและอำนาจอันเหลือล้นของพระองค์
และแน่นอน เมื่อได้อะไรมาง่ายๆด้วยโชค โชคก็พร้อมจะพรากมันด้วยความรวดเร็วและไร้ความปราณีเช่นกัน!
2. ปัญหาการคิดแบบอุปนัย (Induction) และการไม่เข้าใจใน "Rare Event"
การให้เหตุผลแบบอุปนัย (induction) คือการเอาข้อเท็จจริง เอาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วมาทำเป็นข้อสรุป - ในเรื่องเล่านี้ก็คือ กษัตริย์คิดว่าตัวเองมีความสุขที่สุด มีความมั่งคั่ง มีอำนาจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมามันก็เป็นเช่นนั้น ตั้งแต่พระองค์ประสูติมา ไม่มีผู้ใดกล้ารุกรานและกล้าต่อกรกับอาณาจักร ส่วนพระองค์เองทำอะไรก็สำเร็จตลอด มีอำนาจและความร่ำรวยเพิ่มพูนมาตลอด
จึงคิดไปเองว่าอนาคต มันก็จะยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่มีผู้ใดกล้ามาหักหาญพระองค์ลงได้ และจะคงเสวยสุขเช่นนี้ ได้ตราบจนอวสาน
ซึ่งมันจะเป็นประโยคเท็จทันที เมื่อเกิด Rare Event (หรืออีกชื่อคือ Black Swan Event) ดังในตำนานนี้ ที่ Rare event ก็คือการกำเนิดมา และการรุกรานของพระเจ้าแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งเป็นอะไรที่อาณาจักรลิเดียไม่เห็นมันอยู่ในสายตามาก่อน
3. ปัญหาความไม่สมมาตร (Skewness) ของผลลัพธ์
ดังเช่นในตำนานนี้ ที่ตำแหน่ง"กษัตริย์"ของพระเจ้าครีซัส อยู่ในสถานะที่ทนความผิดพลาดได้น้อยกว่า และมีความเปราะบาง(Fragility) สูงมากๆ
เช่น ถ้าลองเทียบมันกับตำแหน่ง"นักปราชญ์" ของโซลอน
ถ้าโซลอนเกิดพลาด ไปขัดหูขัดตาใครมากๆ แล้วถูกไล่ออกจาก"ตำแหน่ง"นักกฏหมายหรือนักปราชญ์ ชีวิตเขาก็คงไม่กระทบมากนัก
แต่พระเจ้าครีซัซนั้น หาก "เกิดความผิดพลาด" และถูกไล่ออกจาก"ตำแหน่ง"กษัตริย์แล้ว จะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อ?
ด้วยเหตุนี้
มันจึงไม่สำคัญว่าที่ผ่านมานั้นคุณจะสำเร็จมามากมายแค่ไหน หรือจะยิ่งใหญ่แค่ไหน
หากสถานะ ตำแหน่ง ทรัพย์สิน หรืออะไรใดๆ ที่คุณมีครอบครองไว้อยู่นั้น
ทนต่อความเสี่ยงได้น้อย หรือหากความผิดพลาดนั้นมันมหาศาลพอ
มันก็พร้อมที่จะทำให้คุณสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป!
Ref :
1.Taleb, Nassim N. Fooled by Randomness: The Hidden Role of Chance in Life and in the Markets. New York: Random House and Penguin.
โฆษณา