21 ก.ย. 2020 เวลา 11:00 • การศึกษา
นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปอีกประมาณ 15 ปี นักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆจะเป็นชาว Gen Z บทความนี้อธิบายว่าชาว Gen Z มีอะไรที่แตกต่างไปจากนักศึกษารุ่นก่อนๆบ้าง และมหาวิทยาลัยควรมีการปรับตัวอย่างไร
"GEN Z ชอบอะไร...แล้วมหาวิทยาลัยต้องปรับไหม"
นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปอีกประมาณ 15 ปี นักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆจะเป็นชาว Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1995 ถึงปี 2010 บทความนี้อธิบายว่าชาว Gen Z มีอะไรที่แตกต่างไปจากนักศึกษารุ่นก่อนๆบ้าง และมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวกันอย่างไร
ลักษณะของคน Gen Z
ชาว Gen Z เป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์หรือภาพจำของโลกในวันที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือโลกที่มีการใช้แผ่นซีดีหรือเทปคาสเซต โทรศัพท์ที่มีปุ่ม แต่มีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล คล่องแคล่วในการใช้โซเชียลมีเดีย และชำนาญในการใช้งานอุปกรณ์หลายอย่างพร้อมๆกัน ชอบการสื่อสารด้วยภาพ วิดีโอ มากกว่าตัวหนังสือ เชื่อหรือตัดสินใจจากสิ่งที่ไม่ได้เป็นการนำเสนอของผู้ขาย (หรือมีผู้ขายอยู่เบื่องหลัง) เช่น ลูกค้า หรือ มืออาชีพ หรือ คนนอกที่น่าเชื่อถือ หรือ Vlogger
การใช้โซเชียลมีเดีย
จากผลการสำรวจของ www.adweek.com ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ชาว Gen Z เกือบทั้งหมด (95%) ใช้ YouTube และครึ่งหนึ่งของชาว Gen Z ทั้งหมดตอบว่าไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยปราศจาก YouTube โดยกลุ่มเพศชายมีการใช้มากกว่ากลุ่มเพศหญิง นอกจากนี้ประมาณเกือบ 70 % ของชาว Gen Z ใช้ Instagram, Facebook และ Snapchat ในการติดต่อกับคนอื่น โดยกลุ่มเพศหญิงมีการใช้มากกว่ากลุ่มเพศชาย ทั้งนี้กลุ่มคน Gen Z ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ใช้เพื่อการเรียนรู้ การศึกษา การปลดปล่อยความเครียด และระบุตัวตนของตัวเองกับคนอื่นๆ อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้มีระยะเวลาอดทนดูเนื้อหาก่อนตัดสินใจเปลี่ยนหรือข้ามลดลงจาก 11 วินาที เหลือเพียง 8 วินาที
จากพฤติกรรมดังกล่าว Carmen Neghina จาก Studyportals.com ได้แนะนำว่าการสร้างเนื้อหาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียสำหรับ ชาว Gen Z จึงมีความสำคัญมาก ทั้งการอธิบายให้เห็นภาพถึงการใช้ชีวิตที่มหาวิทยาลัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความประทับใจของนักศึกษา ศิษย์เก่า และอาจารย์ของมหาวิทยาลัย โดยการออกแบบเนื้อหาควรเน้นในสิ่งที่ชาว Gen Z ต้องการค้นหามากกว่าการให้ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดของมหาวิทยาลัยหรือโปรแกรมของหลักสูตร นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างการมีปฏิสัมพันธ์กับชาว Gen Z เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อผู้สนใจเข้าเรียนแต่ยังเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยในการเรียนรู้ความต้องการของคนกลุ่มนี้ มหาวิทยาลัยจึงควรมีกลยุทธ์การสื่อสารออนไลน์ที่มีเป้าหมายที่สามารถวัดได้ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ประเภทเนื้อหาและเวลาที่จะเผยแพร่ และกลวิธีที่จะช่วยเพิ่มความผูกพันเพื่อให้เกิดการบอกต่อผ่านช่องทางออนไลน์
รูปแบบการเรียนรู้
ผลการสำรวจของ Pearson ในสหรัฐอเมริกาพบว่า 32 % ของ Gen Z ชอบคอร์สออนไลน์ที่มีการบรรยายด้วยวิดีโอ น้อยกว่ากลุ่ม Gen Y ซึ่งชอบอยู่ที่ 44% โดยชาว Gen Z ชอบการเรียนรู้ผ่าน YouTube มากที่สุด (59%) ไม่ต่างจาก Gen Y ที่ชอบอยู่ที่ 55% อยากไรก็ตามชาว Gen Z ถึง 47 %ใช้เวลา 3 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันกับ YouTube มากที่สุด ในขณะที่กลุ่ม Gen Y มีสัดส่วน เพียง 22% ทั้งนี้เพราะชาว Gen Z 55 % ระบุว่า YouTube เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาตัวเองในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ผลการสำรวจดังกล่าวยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ชาว Gen Z ไม่ได้ต้องการการเรียนรู้แบบจัดการการเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด โดย 78 % ของ Gen Z คิดว่าอาจารย์มีความสำคัญมากถึงมากที่สุดต่อการเรียนรู้และการพัฒนาของตัวเอง 39 % ของ Gen Z ชอบการเรียนที่มีอาจารย์เป็นผู้นำการเรียนรู้ นอกจากนี้การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนยังเป็นสิ่งที่ชาว Gen Z ต้องการมากกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยลำพังทั้งหมด โดย 57 % ของ Gen Z ชอบให้มีการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนร่วมห้อง มีเพียง 22 % เท่านั้นที่ชอบการเรียนรู้แบบที่ทำการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-directed Learning) ซึ่งต่ำกว่ากลุ่ม Gen Y (47% ชอบในเรื่องดังกล่าว)
สภาพแวดล้อมการเรียนรู้
เนื่องจากชาว Gen Z ต้องการมีทักษะที่ทำให้เขาสามารถเติบโตและรุ่งเรืองได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน มีความเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เว็บไซต์ Space4learning.com จึงแนะนำว่ามหาวิทยาลัยควรตอบสนองความต้องการนี้ด้วยการเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์ การเปิดกว้างทางความคิดด้วยการมีพื้นที่การเรียนรู้แบบเปิดและยืดหยุ่น มีพื้นที่ Lab เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติ (ผสมระหว่าง Classroom และ Lab) การสร้างอาคารและห้องเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยควรเน้นที่การเชื่อมโยงประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านความยืดหยุ่นในการจัดการการเรียนรู้ของนักเรียนและผู้สอน มีการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการเรียนรู้ของกลุ่มใหญ่ ห้องเล็กสำหรับกลุ่มเฉพาะ มีการออกแบบและจัดสรรพื้นที่การพบปะแบบไม่เป็นทางการที่เป็นลักษณะเปิดโล่งหลายชั้น มีโซฟาหรือเก้าอี้นั่งในพื้นที่เปิด (แบบไม่เป็นทางการ) และส่วนรับประทานอาหารที่ช่วยทำหน้าที่เชื่อมต่อกับกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด
นอกจากนี้ในการเลือกมหาวิทยาลัย กลุ่ม Gen Z พิจารณามากกว่าเพียงอันดับของมหาวิทยาลัย แต่พิจารณาถึงชื่อเสียงของสถาบันนั้นต่อสังคม และกิจกรรมนอกหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ และการเปิดรับต่อความหลากหลาย ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ดังกล่าวให้กับชาว Gen Z ย่อมช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดใจของมหาวิทยาลัยในสายตาชาว Gen Z
บทความโดย
รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
Future Intelligence & Strategy Unit (FuturISt)
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Tel: 0803487505
โฆษณา