21 ก.ย. 2020 เวลา 11:34 • สุขภาพ
ถ้าไม่อคติก็ใช้จีนเป็นต้นแบบได้
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
https://www.cnbc.com/2020/02/12/why-world-economy-will-be-facing-china-coronavirus-for-a-long-time.html
วันนี้ ผมจำเป็นต้องโทรวีแชทหานักธุรกิจจีนของมณฑลเจ้อเจียงอยู่หลายคน ปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ที่เจ้อเจียงเลย ทุกคนลงไปเริ่มงานที่มณฑลไห่หนาน หรือที่เราคนไทยเรียกว่าเกาะไหหลำ
ทราบจากเพื่อนนักธุรกิจว่า ตอนนี้รัฐบาลจีนมุ่งพัฒนาไห่หนานให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อทดแทนฮ่องกงในอนาคต
เรื่องนี้ผมเคยเขียนรับใช้ไปหลายครั้ง แต่เดิมยังไม่ชัดเจน ทว่าตอนนี้ถนนทุกสายมุ่งสู่ไห่หนานอย่างปรากฏเห็นเด่นชัด
นอกจากไห่หนานแล้ว รัฐบาลจีนยังทุ่มไปที่อู่ฮั่นอย่างหนัก เพื่อให้อู่ฮั่นกลับมาปกติหลังโควิด-19 รัฐบาลจีนมียุทธศาสตร์ชัดเจน มีการสนับสนุนพิเศษเพื่อฟื้นชื่อเสียง
ถ้าอู่ฮั่นฟื้นได้ ชื่อเสียงโดยรวมของจีนก็ฟื้น
อู่ฮั่นมีที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่รวมกันเรียกว่า Optics Valley of China ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวมี่ ฟอกซ์คอน เลอโนโว ฯลฯ
http://www.chinaopticsvalley.com/
ตอนเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2563 หลายคนคิดว่า ออพติกส์ วัลเลย์ ออฟ ไชน่า แย่แล้ว
แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 บริษัทในเขตออพติกส์ วัลเลย์ ออฟ ไชน่า กลับมีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 13.5
ความต่างของจีนกับประเทศอื่นอยู่ตรงที่ภาครัฐพูดถึงจุดมุ่งหมายที่จะพากันเดินไปให้ถึงชัดเจน ในหลายประเทศ ภาครัฐมัวแต่พูดอ้อมๆ แอ้มๆ
ผู้นำบางประเทศมีแต่คำขวัญ คำแก้ตัว แต่ผู้นำจีนไม่ใช่ อย่างในเรื่องของอู่ฮั่น ไม่ว่าผู้นำระดับประเทศหรือระดับมณฑลต่างประกาศกับประชาชนว่าจะต้องแก้ไขและพัฒนาให้เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจจีนให้ได้
วิกฤติโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงในอู่ฮั่น ถ้าเกิดในบางประเทศ ทั้งผู้นำและประชาชนอาจจะทิ้งเมืองอย่างที่เราเคยอ่านจากประวัติศาสตร์ ที่พอเกิดโรคระบาดก็ทิ้งเมืองให้ร้างแล้วไปสร้างเมืองใหม่ แต่จีนไม่ใช่
1
ถ้าทำอย่างนั้น ชื่อเสียงของจีนที่สั่งสมมาอย่างยาวนานก็จะกลายเป็นปราสาททรายพังทลายในทันที
จากวิกฤติกลายเป็นโอกาส ภาคอุตสาหกรรมใดกล้าไปลงทุนที่อู่ฮั่น รัฐบาลจีนมีของให้เล่นเยอะแยะ ทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง
เมื่อวันก่อน ผมรับใช้เรื่องที่สนามบินอู่ฮั่นเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบ
19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา รถไฟท่องเที่ยวขบวนแรกของอู่ฮั่นก็กลับมาเปิดให้บริการ เป็นหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในของจีน ทั้งสนามบิน ทั้งรถไฟสายท่องเที่ยว และการเปิดห้างสรรพสินค้าระดับโลกใหม่ในอู่ฮั่น เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้กับจีน
https://news.cgtn.com/news/2020-09-20/First-tourist-train-since-COVID-19-epidemic-departs-Wuhan-TVOvXibFC0/index.html
แม้แต่ปักกิ่ง ตอนนี้ก็กระตุ้นการบริโภคน่าดู เทศบาลนครปักกิ่งแจกบัตรกำนัลมูลค่า 300 ล้านหยวน หรือ 1.3 พันล้านบาท ให้ประชาชนใช้ซื้ออาหารการกินจากแพลตฟอร์มการขายเดลิเวอรีออนไลน์ ตอนนี้มีร้านอาหารมากกว่า 7 หมื่นแห่งกระโจนเข้ามาร่วมกิจกรรมบัตรกำนัลชุดแรก
รัฐบาลท้องถิ่นกระดิกพลิกตัวเพียงแค่นี้ก็ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นหน้าเห็นหลัง
ไม่ใช่เรื่องอาหารการกินอย่างเดียว รัฐบาลท้องถิ่นแจกแม้แต่บัตรเข้าไปชมภาพยนตร์ ใครก็ตามที่มีที่พำนักพักอาศัยในกรุงปักกิ่งก็จะได้รับตั๋วหนัง ซึ่งคนไปดูหนังก็ต้องจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าข้าวค่าอาหาร แม้แต่ขนมขบเคี้ยวที่ทานในโรงหนัง
https://www.caixinglobal.com/
การแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 จีนทำควบคู่กันทั้งการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดไปพร้อมๆ กับการอัดฉีดเม็ดเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร ดังนั้น เมื่อเปิดเมือง รัฐบาลต้องมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการระบาดรอบ 2 รอบ 3 ไม่อย่างนั้น เม็ดเงินที่อัดฉีดไปก็จะสูญเปล่า
ผมพยายามหาตัวอย่างที่ดีของการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 มารับใช้ผู้อ่านท่านผู้เจริญ ทว่ามองไปทางไหน ก็เจอแต่จีนนี่แหละที่ชัดเจนที่สุด
ผู้นำบางประเทศท้อแท้ อย่าท้อแท้เลยครับ ให้นึกถึงจีนเป็นตัวอย่าง ถ้าไม่อคติจนเกินไป ก็สามารถใช้จีนเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาได้.
โฆษณา