23 ก.ย. 2020 เวลา 14:48 • ความคิดเห็น
พัฒนาการของ 4 ประเทศในเอเชียกลาง
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ก่อน พ.ศ.2534 คาซัคสถานเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับรัสเซีย อูเครน  คีร์กีซ อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ฯลฯ เมื่อแยกประเทศมาได้ 20 ปี เราก็เห็นความแตกต่างของคนคาซัครุ่นใหม่กับคนรุ่นใหม่ที่มาจากสาธารณรัฐอื่นอย่างเห็นได้เด่นชัด ถ้าตามการกระดิกพลิกตัวของผู้คนจากอดีตสหภาพโซเวียต คนคาซัคเด่นและมีความเป็นสากลมากที่สุด
https://www.iea.org/reports/kazakhstan-energy-profile/sustainable-development
คนที่เคยพบคบค้ากับคนคาซัคมักถามผมถึงสาเหตุที่ทำให้คนคาซัคแตกต่าง ผมตอบว่ามาจากการที่คาซัคสถานมีน้ำมันมาก แต่มีพลเมืองน้อย (17 ล้านคน)  คาซัคสถานมีพื้นที่ 2.7 ล้านตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าไทยเกือบ 5 เท่า) เมื่อได้เงินจากการขายน้ำมัน รัฐบาลคาซัคแต่ละยุคทุกสมัยก็อัดเรื่องการศึกษาของเยาวชนเต็มกำลัง
ตอนที่แยกประเทศออกมาใหม่ๆ นักศึกษาคาซัคได้ทุนจากรัฐบาลมาเรียนในไทยจำนวนไม่น้อย เรายังเจอนักเรียนทุนรัฐบาลคาซัคในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง สหรัฐ และประเทศในยุโรป พวกนี้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนโดยไม่ต้องทำงาน เพราะเงินจากทรัพยากรธรรมชาติน้ำมันมีเหลือเฟือ เรื่องนี้ทำให้องค์ความรู้จากทั่วโลกไหลไปรวมกันอยู่ที่คาซัค
https://astanatimes.com/2016/10/kashagan-ships-first-oil-finally/
บริษัท บาลานซ์ โนว์เล็จ ดีไซน์ จำกัด เคยรับงานเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอของไทย เพื่อนำนักลงทุนไทยไปหาโอกาสด้านการค้าการลงทุนในประเทศตลาดใหม่ หนึ่งในประเทศตลาดใหม่ในสมัยนั้นคือคาซัคสถาน
ตอนนั้น บริษัทฯ เตรียมล่ามภาษารัสเซียและภาษาคาซัคเพื่อใช้ในการเจรจา แต่ปรากฏว่าไม่ได้ใช้สักแห่งเดียว เพราะไม่ว่าจะระดับรัฐมนตรี อธิบดี และหัวหน้าหน่วยงานที่เราเข้าไปเจรจา สนทนาด้วยภาษาอังกฤษดีมาก คนที่รับผิดชอบงานของรัฐบาลและเอกชนส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ
1
ผิดกับสาธารณรัฐคีร์กิซซึ่งมีพรมแดนประชิดติดกับคาซัคสถาน เป็นสาธารณรัฐที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมัน รัฐบาลไม่ค่อยสนใจใยดีเรื่องการศึกษา การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า ผมเคยตระเวนตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุดของคีร์กิซ ทั้งที่ในตอนนั้นแยกจากโซเวียตมานาน 20 ปีแล้ว แต่คีร์กีซยังไม่มีความก้าวหน้าอย่างเห็นเด่นชัด ผู้คนยังทำกสิกรรมแบบดั้งเดิม  โครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ทั้งถนนหนทาง ยังไม่ได้มาตรฐาน
อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเช่นกัน แต่รัฐบาลอุซเบ็กก็พยายามดิ้นรนด้วยการเชื้อเชิญประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศมาก่อนเข้าไปช่วยปรับปรุงระบบการศึกษา อย่างเช่น ตุรกี เกาหลีใต้ หรือแม้แต่สิงคโปร์ ซึ่งไปสร้างมหาวิทยาลัยของตัวเองกลางกรุงทัชเคนต์เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน
คุณภาพชีวิตของชาวอุซเบ็กที่ผมตระเวนมากกว่า 5 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีความก้าวหน้าพอสมควร แม้ว่าจะไม่ได้มีคนจบการศึกษาจากต่างประเทศมากเท่ากับคาซัคสถาน แต่การที่ดึงประเทศต่างๆ เข้ามาสร้างสถานศึกษาและสถาบันฝึกอบรมในประเทศอย่างจริงจังทำให้อุซเบกิสถานเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียกลางที่มีอนาคต
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอุซเบกิสถานครั้งล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลอุซเบกิสถานเชิญผมให้เดินทางไปเป็นผู้สังเกตการณ์นานาชาติซึ่งต้องตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ทั้งประเทศ การไปคราวนี้ มีการพบว่าผู้นำรุ่นใหม่ไม่ว่าในระดับเทศบาล จังหวัด หรือภูมิภาค เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยแทบทั้งสิ้น
พัฒนาการของสาธารณรัฐทาจิกิสถานหลังจากแยกตัวจากสหภาพโซเวียตคล้ายกับสาธารณรัฐคีร์กิซ การที่รัฐบาลไม่ค่อยสนใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทาจิกิสถานจึงยังเป็นประเทศที่ลำบาก ผู้คนมีปัญหาทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศยังล้าหลัง
วันนี้ขออนุญาตอัพเดทความเป็นไปในเอเชียกลางเพียงเท่านี้ครับ
สรุปสั้นๆ ว่าการทุ่มเทกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำคัญกับความเจริญของประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากครับ.
โฆษณา