24 ก.ย. 2020 เวลา 14:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Climate Change ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ยาก ผีเสื้อก็หาที่ลี้ภัยยากด้วย!!!
Original Photo by Karina Vorozheeva on Unsplash
มีงานวิจัยด้านนิเวศวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ เก็บข้อมูลจากผีเสื้อ 29 สายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2009-2018 พบว่าเหตุที่ผีเสื้อในยุคโลกร้อน Climate Change จะมีอัตราการอยู่รอดเพียงใด ขึ้นกับขนาดของปีกและสีของมัน!!!
ก่อนนี้นับสามสิบปี นักวิจัยทั้งฝั่งเอเชียและอังกฤษ (อังกฤษเป็นชาติหนึ่งที่เก็บข้อมูลพบว่าปริมาณผีเสื้อหายไปจำนวนมาก) เก็บข้อมูล รายงานผ่านการวิจัยมาเรื่อย ๆ ว่าภาวะโลกร้อนสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของเหล่าผีเสื้อ โดยคาดว่ามาจากแหล่งอาหารที่สูญเสียความสมดุลจากนิเวศ
งานวิจัยนี้ ได้อธิบายเพิ่มเติมลึกซึ้งขึ้น ให้เราเข้าใจว่าเจ้าผีเสื้อ แม้จะตัวเล็ก แต่ไม่เล็กเรื่องสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด เพราะจากการติดอุปกรณ์ (probe) ที่หลังคอผีเสื้อ เพื่อวัดอุณหภูมิลมที่พัดมากระทบตัวมัน แล้ววิเคราะห์ด้วยสถิติ
พบว่าผีเสื้อซึ่งเป็นสัตว์ ectotherms คือ อุณหภูมิตัวมันแปรผันตามสิ่งแวดล้อม (ข้างนอกร้อน ในตัวมันก็ร้อนตามง่าย ๆ) มันจะพยายามหาตำแหน่ง "ลี้ภัย" คือ บริเวณแม้เพียงเล็กน้อยที่มีร่มเงาใบบังจากธรรมชาติ เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในจุดที่อุณหภูมิในตัวลดลงได้เร็วและเย็นที่สุดเท่าที่มันจะหาได้
ซึ่งตัว "ท็อปฟอร์ม" รับมือได้ดีเลิศต่อความร้อนจี๊ด ๆ เป็นที่สังเกตได้ว่า มันมี...
(1) ปีกที่ใหญ่ สามารถกระพือ ๆ (เหมือนเราพัด เวลาไฟดับ) และป้องไม่ให้ตัวรับแสงเต็ม ๆ
(2) ปีกสีอ่อน สะท้อนแสงและรังสียูวีคืนกลับไปสู่อากาศรอบตัว (แบบเดียวกับที่เสื้อสีขาว ใส่แล้วไม่ค่อยร้อน ถ้าเทียบกับสีดำ เพราะสะท้อนแสงซึ่งจัดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและมีพลังงานความร้อนแฝงอยู่)
เชิญชมพบกับโฉมหน้าผีเสื้อ "ตั ว ท็ อ ป" ของเราในเวทีนี้เลยค่ะ (ปรบมือสิคะ รออะไรจ้ะ ....กราววว)
พี่เปียริส... Large White (Pieris brassicae)
ภาพโดย Henryk Niestrój จาก Pixabay
พี่บริม... Brimstone (Gonepteryx rhamni)
ภาพโดย Akka Olthoff จาก Pixabay
ส่วนผีเสื้อที่แม้จะสีสดสะดุดตาถูกใจเรา (และปีกเล็กกว่า) กลับต้องยอมต่อแชมป์ในเวทีเอาตัวรอดนี้ ได้แก่
พี่นกยูง Peacock (Aglais io)
ภาพโดย SimoneVomFeld จาก Pixabay
พี่วาเนสซ่า Red Admiral (Vanessa atalanta)
ภาพโดย Manfred Antranias Zimmer จาก Pixabay
ส่วนน้องโคโน่ Small Heath (Coenonympha pamphilus) ก็ได้อันดับทางบ๊วย ๆ นั่นหมายถึงน่าหวั่นใจว่าเสี่ยงต่อการหายไปบนโลกก่อนสายพันธุ์ที่กล่าวมา
น้องโคโน่ Small Heath (Coenonympha pamphilus)
ภาพโดย kie-ker จาก Pixabay
เอ...หรือว่า..ในอนาคต (อีกไม่นาน) โลกของเราจะถูกคัดดสรรโดยธรรมชาติ ให้เหลือแต่ผีเสื้อปีกกว้าง ๆ สีขาว ๆ เหลือง ๆ แนวพาสเทลกันเป็นส่วนใหญ่!?!
พื้นผิวของโลกในแต่ละระดับทางภูมิศาสตร์ จะมีช่วงอุณหภูมิที่แตกต่างกัน อย่างที่เราสัมผัสได้เวลาไปเที่ยวเมืองเหนือหรือเมืองหนาว
และแน่นอนว่าสัตว์ ectotherms ที่ไวต่อความร้อนเย็นรอบตัวอย่างผีเสื้อ ย่อม "สั ม ผั ส ไ ด้" ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรา
จะว่าไปมันย่อมรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของอุณหภูมิขั้นยิบย่อยเลยทีเดียว เพราะเป็นคุณสมบัติเพื่อการ "อ ยู่" หรือ "ต า ย" ได้เลย
ในการวิจัย ตัวเลขอุณหภูมิที่บันทึกจากผีเสื้อ
ปี 2009 อยู่ระหว่าง 10 ถึง 32.4 องศาเซลเซียส
เมื่อเทียบกับปี 2018 (ปีสุดท้ายที่เก็บข้อมูล) คือ 11.3 ถึง 34.8 องศาเซลเซียส
นับว่าเป็นอีกชุดตัวเลขที่ยืนยันถึงภาวะโลกร้อนและ Climate Change ที่ทวีขึ้นทุกวันแบบคืบคลาน
แล้ว...แบบนี้จะเกี่ยวไหม.. กับที่รู้สึกว่าช่วงกลางวันที่ยาวและอากาศร้อนขึ้นมาก ๆ เราจึงเห็นผีเสื้อในช่วงเวลาที่แคบลง เช่น เช้ามาก ๆ (สาย ๆ ก็หายไปหมด) และบางที่ก็หาตัวแทบไม่เจอ???
ผีเสื้อพันธุ์ที่ "เ ซ น ซิ ที ฟ" จัดเป็น Thermal specialists มาก ๆ อย่าง พี่อะลิเซีย Brown Argus (Aricia agestis) และพี่ไลคีน่า Small Copper (Lycaena phlaeas) ถึงมีจำนวนลดฮวบ ๆ ตลอดสี่สิบปีมานี้
พี่อะลิเซีย Brown Argus (Aricia agestis)
ภาพโดย Krzysztof Niewolny จาก Pixabay
พี่ไลคีน่า Small Copper (Lycaena phlaeas)
ภาพโดย Erik Karits จาก Pixabay
ณ วันนี้ ที่ Worldmeters นับตัวเลขกันระวิงแบบ 24x7 ..เรามีประชากรแชร์ทรัพยากรโลกมากกว่า 7,814 ล้านคน ทุกปากท้องต้องกินอาหาร แม้จะกินเนื้อสัตว์หรือไม่ ก็ปฏิเสธยากว่าสิ่งที่บริโภคจะไม่มีชิ้นส่วนวัตถุดิบจากเกษตรกรรม และพืชผลเกษตรเหล่านั้นก็คือผลพวงจากการทำงานโดยธรรมชาติของแมลง นกและผีเสื้อนานา
และ ณ เวลาเดียวกัน [เฉพาะปีนี้] พวกเราก็เสียพื้นที่ป่าไม้ไปแล้วทั่วโลกรวมมากกว่า 3.8 ล้านเฮกเตอร์ (หมื่นตารางเมตร) มีคาร์บอนไดออกไซต์ปล่อยออกมาสูงมากกว่า 2 หมื่น 6 พันล้านตัน!!!
จึงไม่ใช่เราที่รู้สึกอึดอัด อยู่ยาก ทั้งความร้อนของภาวะอากาศ ความร้อนแรงในการแข่งขันทุกวงการ
เช่นเดียวกันสัตว์ทุกชนิดบนโลก ที่ต่างมีวงจรชีวิตต้องสู้ผจญเอาตัวรอด
ทั้งนี้ ทีมวิจัยนี้ (เสริมทัพด้วยผลวิจัยของทีมอื่น) สนับสนุนว่าควรให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว ที่ไม่ใช่แค่แนวระนาบ อย่าง สนามหญ้า สนามกอล์ฟ ที่มีการตัดเหี้ยนเสมอกัน
เพราะแมลงและผีเสื้อต้องการร่มเงาและระดับการลดหลั่นความสูงทางภูมิศาสตร์ เพราะนั่นสัมพันธ์กับอุณหภูมิอย่างมาก คาดว่าหลายท่านคงกำลังนึกถึงภาพต้นน้ำ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และบรรยากาศชุ่มฉ่ำ
การสงวนพื้นที่อนุรักษ์และเสริมการปลูกไม้พันธุ์ผสม ให้ใกล้เคียงกับที่ธรรมชาติสรรสร้างมากที่สุด จึงเป็นหัวใจที่ห้ามละทิ้ง
อนึ่ง การวิจัยนี้ ศึกษากับผีเสื้อที่เป็นตัวโตเต็มวัยแล้ว ซึ่งแม้ว่าเป็นระยะเวลา 1 ใน 4 ของช่วงชีวิต แต่เป็นช่วงที่มีนัยสำคัญในการเก็บข้อมูลด้านนี้ เพราะมันสามารถบินไปตามที่ต่าง ๆ หาแหล่งอาหาร สืบพันธุ์ โดยไม่ติดกับสถานที่อย่างช่วงวัยที่เป็นไข่หรือดักแด้ (ก็คงเหมือนคนวัยทำงาน โตแล้ว!!! ต้องสู้ รับมือเผชิญกับชีวิตจริง เพราะอ่อนแอก็แพ้ไป...)
นกไดโนสคูล
รูปภาพ
โฆษณา