12 ต.ค. 2020 เวลา 08:22 • ท่องเที่ยว
นั่งรถไฟไปนครปฐม (4) .. วัดกลางบางแก้ว
วัดกลางบางแก้วนี้เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่เคยมีใครเขียนประวัติไว้ … ท่านเจ้าคุณพระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน) กล่าวว่า ท่านเคยได้ฟังจากท่านเจ้าคุณพระพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ) ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า
“วัดกลางบางแก้ว” เป็นวัดราษฎร์ แต่เดิมชื่อว่า “วัดคงคาราม” คนทั่วไปแถบบริเวณนครชัยศรีนี้ มักเรียกว่า “วัดกลาง” เพราะ ตั้งอยู่ปากคลองบางแก้ว ตำบลปากน้ำ แขวงเมืองนครชัยศรี และตำบลปากน้ำในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลนครชัยศรี
นครชัยศรี เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ มีเรื่องราวบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี
ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจราชการตามลำน้ำนครชัยศรี (ลำน้ำท่าจีน) ได้เสด็จขึ้นทอดพระเนตรวัดทรงตรัสถามมรรคนายกวัดชื่อนายโป๊ะ ชมภูนิช ทูลว่าชื่อ “วัดคงคาราม”
ทรงเห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรีตรงปากคลองบางแก้ว และในละแวกนั้นมีวัดใกล้เคียงอีกสองวัด ซึ่งมี อาณาเขตวัดติดต่อกัน คือด้านทิศใต้ติดต่อกับ “วัดใหม่สุปดิษฐาราม” ด้านทิศตะวันตกติดต่อกับ “วัดตุ๊กตา” จึงได้ทรงประทานชื่อให้ใหม่ว่า “วัดกลางบางแก้ว” ตรงกับสมัยที่พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น … ตั้งแต่นั้นมาจึงใช้ชื่อ “วัดกลางบางแก้ว” เป็นทางราชการมาจนถึงปัจจุบันนี้
“วัดกลางบางแก้ว” หรือ “วัดคงคาราม” นี้ เข้าใจว่าคงเป็นวัดโบราณเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือตอนปลายของยุคอู่ทอง จากสภาพโบราณวัตถุภายในวัด เป็นต้นว่าอุโบสถ ใบเสมา และวิหาร ตลอดจนพระพุทธรูปหินทรายแดง ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ คือ หลวงพ่อโต
จากรอยจารึกที่ค้นพบ ทำให้ทราบว่า วัดกลางบางแก้ว ได้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.1895 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.1905 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 10 เมตร ยาว 26.50 เมตร ที่ดินวัด มีเนื้อที่ 23 ไร่ 68 ตารางวา
วัด กลางบางแก้วนี้ ได้รับการปฏิสังขรณ์ ซ่อมสร้างสืบต่อกันเรื่อยมา และหากพิจารณาดูสภาพโดยทั่วไปแล้ว ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยอดีต
เพราะมีถาวรวัตถุหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ได้มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สืบเนื่องกันต่อๆมา เช่นภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ และภาพจิตรกรรมฝาไม้สักทองด้านในหอไตร ซึ่งมีความงดงามมาก อันแสดงถึงฝีมือช่างเมื่อครั้งยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
วัดนี้คงมีมาก่อนท่านกวีเอกสุนทรภู่ ท่านและ นายมี ลูกศิษย์เดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังและได้เขียนนิราศพระแท่นดงรังไว้ คือได้ผ่านปากคลองบางแก้ว เข้าคลองบางแก้วไปขึ้นพักผ่อนที่วัดท่าใน เพื่อเดินทางไปพระแท่นดงรังในสมัยก่อน ดังมีข้อความในนิราศกล่าวถึงว่า
ถึง บางแก้วมองเขม้นไม่เห็นแก้ว เห็นแต่แนวคงคาพฤกษาสลอน
มีวัดหนึ่งโตใหญ่ใกล้สาคร สง่างอนช่อฟ้าศาลาตะพาน
ดูเบื้องบนอาวาสก็ลาดเลี่ยน ต้นตะเคียนร่มรกปรกวิหาร
อีกทั้งสระโกสุมปทุมมาล บ้างตูมบานเกสรอ่อนละออ
พี่คิดถึงบัวทองของน้องแก้ว ยังผ่องแผ้วพรรณรายสีดายหนอ
กำลังสดมิได้เศร้าน่าเคล้าคลอ พี่เคยขอชมเล่นไม่เว้นวัน
ตั้งแต่พี่จำพรากมาจากน้อง มิได้ต้องบัวทองประคองขวัญ
ชมแต่บัวริมน้ำยิ่งรำพรรณ แสนกระสันโศกเศร้าจนเข้าคลอง
**นิราศพระแท่นดงรัง โดยสุนทรภู่
นิราศพระแท่นดงรังของสุนทรภู่นี้ แม้จะไม่ได้ กล่าวออกชื่อวัด ก็เป็นวัดอื่นไปไม่ได้ เพราะตอนปากคลองแม่น้ำ มีอยู่วัดเดียว และนิราศนี้เข้าใจว่าแต่งในสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หรือตอนต้นรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และวัดนี้ต้องมีมาก่อนแต่งนิราศแน่ จนเห็นต้นตะเคียนรกปรกวิหาร
จึงสันนิษฐานว่าคงเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง หรือ จะยืนยันว่าสร้างในสมัยใดก็ไม่อาจจะยืนยันได้ ขอท่านผู้รู้ได้พิจารณาสันนิษฐานเอาเอง
ถึงกระนั้นก็ยังมีนิยาย ตำนานเล่ามาเหมือนกัน เข้าใจว่าคงจะมีผู้คิดผูกตำนานให้เข้าเรื่องเข้าราวตามชื่อวัดเท่านั้น เรื่องมีดังนี้
ยังมี เศรษฐีนีสองคนพี่น้อง หญิงผู้พี่ชื่อทัย หญิงผู้น้องชื่อคงทั้งสองมีจิตเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาใคร่จะสร้าง วัดให้เป็นที่พำนักของสงฆ์ (เขาว่าเศรษฐีสมัยก่อนชอบสร้างวัดไว้ให้ลูกวิ่งเล่น) ทั้งสองคนจึงตกลงกันสร้างวัดขึ้นสองวัดอยู่ใกล้เคียงติดกัน คือตอนปากคลองบางแก้วมุมแม่น้ำ หญิงคนน้องสร้าง น้องชื่อคง จึงตั้งวัดนามว่า “วัดคงคาราม” (วัดกลางบางแก้ว) วัดถัดเข้าไปทางทิศตะวันตก หญิงคนพี่สร้าง พี่ชื่อทัยจึงตั้งวัดนามว่า “วัดภิทัยธาราม” (วัดตุ๊กตา) จะเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ เพราะเป็นนิยายตำนาน
ด้วยภูมิประเทศที่อยู่ริมแม่น้ำ ทำให้บริเวณนี้ในอดีต เคยมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เรือนแพมากมาย อันที่ทำการค้าขายกัน ตลาดของที่นี่จึงนับเป็นตลาดน้ำที่ใหญ่มากของชาวบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีถนน ผู้คนก็ใช้การคมนาคมทางน้ำน้อยลงเรื่อยๆ ตลาดถูกยกขึ้นมาไว้บนบกในพื้นที่ของวัด จวบจนถึงปัจจุบัน
ณ ศาลาริมน้ำ … จะมองเห็นวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งคนที่มาทำการประมง คนที่มาทำบุญ
อุโบสถวัดกลางบางแก้ว
จากคำบอกเล่าของ “สุธน ศรีหิรัญ” ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างกล่าวไว้ว่า...โบสถ์หลังเดิมถูกไฟไหม้ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2541 …
พระครูสิริชัยคณารักษ์ มีดำริร่วมแรงร่วมใจชาวบ้าน และผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้นมาใหม่ โดย อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เป็นผู้ออกแบบ ...ท่านผู้นี้เคยออกแบบพระอุโบสถวัดพุทธประทีป ณ มหานครลอนดอน พลับพลาพระราชพิธีบวงสรวง สมเด็จพระบรมมหากษัตริยาธิราช ณ ท้องสนามหลวง พระเมรุมาศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และบูรณะพระธาตุพนม
เริ่มวางศิลาฤกษ์ 23 สิงหาคม 2542 ขั้นตอนการทำลวดลายประดับโบสถ์ “นพวัฒน์ สมพื้น” ผู้เชี่ยวชาญศิลปะ แผนกช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ช่วยดูแลในชั้นต้น
เราจะจะเข้าไปไหว้พระด้านในก่อนนะคะ
หน้าบัน ซุ้มประตู และหน้าต่างโบสถ์ ใช้เหรียญเจ้าสัวไว้ตรงกลางด้านบน เพราะโบสถ์หลังนี้สำเร็จลงได้ด้วยเงิน10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เหลือจากการสร้างเหรียญเจ้าสัว พ.ศ.2535
1
เสมารอบโบสถ์เป็นรูปสี่เหลี่ยม และใส่รูปเหรียญเจ้าสัวไว้ด้วย
สำหรับลูกนิมิตหินเนื้อแข็ง จาก อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 9 ลูกนั้น “สุธน ศรีหิรัญ และภรรยา” เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งลูกนิมิตให้คนปิดทองบูชา ตั้งแต่ปี 2543-2552 รวมเป็นเวลา 9 ปี
รูปปูนปั้น ณ ทางเข้าพระอุโบสถงดงาม อลังการ สวยด้วยฝีมือของช่างชั้นครู สกุลช่างเมืองเพชร
รูปปั้นพระพทธรูป ตรงจุดทางขึ้นไปยังพระอุโบส
.. บันไดทางขึ้น และช้างเอราวัณ เป็นปูนปั้นลวดลายอ่อนช้อย ประดับด้วยชิ้นส่วนของเบญจรงค์
ความพริ้วไหว อ่อนช้อย สวยงามของงานปูนปั้นประดับด้วยชิ้นส่วนของเบญจรงค์ ... ทำให้การเดินชม และถ่ายภาพเต็มไแด้วยความรื่นรมย์
พระประธาน ในพระอุโบสถ
งานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ได้ท่านอาจารย์ “อวบ สาณะเสน” เข้ามาช่วยดูแล .. จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เป็นภาพเขียนแบบไทยประเพณี วาดตามแนวทางของภาพวาดในโบสถ์ครบถ้วน
ช่องหน้าต่าง .. เล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของพุทธชาติชาดก
ผนังเหนือหน้าต่าง .. ภาพเทวดาหันหน้าไปยังพระประธาน เป็นภาพที่แบ่งเป็นขั้นๆ ชั้นล่างสุดเป็นภาพของยักษ์ นาค คนธรรพ์ ซึ่งเป็นชั้นต่ำสุดในหมู่เทวดา .. ชั้นสูงขึ้นไป เป็นภาพของเทพเทวดาต่างๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ
ภาพด้านหลังพระประธาน .. เป็นภาพไตรภูมิพระร่วง และเขาสรรตบรรณทั้ง 7 ส่วนชั้นสูงสุดเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือวิมานของพระอินทร์ เขาพระสุเมรุ และเจดีย์พระสุรางคมณี ด้านซ้าย-ขวา เป็นภาพของหมู่ทวยเทพ
ภาพพระพุทธเจ้าเปิดโลก … ทรงลงมาโปรดพระมารดาในวันออกพรรษา
ภาพพุทธประวัตินั้น วาดได้อ่อนช้อยงดงามและมีการลงรักปิดทองในบางส่วนของภาพ ทำให้ภาพโดยรวมโดดเด่น สวยงามมากๆ
ภาพบนผนังด้านหน้าของพระประธาน …
... ภาพของพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นภาพในช่วงพระพุทธองค์ผจญมาร สวยมากๆค่ะ
มีภาพที่แสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาถึงเมืองนี้แล้ว
.. ใครที่มาเยือน มองเห็นภาพจิตรกรรมแฝงอารมณ์ขันของช่างภาพนี้มั๊ยคะ?
รอบพระอุโบสถด้านนอก
ช่าง “ทองร่วง เอมโอษฐ์” และ ช่าง “สุวรรณา ภัทรพลแสน” … ช่างปูนปั้นฝีมือดีจังหวัดเพชรบุรี ทำงานลวดลายปูนปั้นประดับโบสถ์ทั้งหมด
รูปปั้นประดับ ใช้การผสมผสานกระเบื้องเครื่องลายคราม และถ้วยชามเบญจรงค์ ประดับสลับตกแต่งลวดลายระหว่างปั้นปูนสด ทดแทนการใช้สีและทอง ทำให้มั่นคงถาวรมากขึ้น ซึ่งเครื่องลายครามส่วนหนึ่งเป็นกระเบื้องลายครามแตกหักจากพิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก...
...ช่วงการทำฐานพระประธาน "หลวงพ่อโต" มีการทำเป็นห้องขนาดใหญ่ไว้เก็บ "หม้อดินบรรจุอัฐิ" ที่รื้อมาจากฐานชุกชีเดิม ซึ่งบรรจุใหม่ในโถเบญจรงค์สวยงาม นิมนต์พระทำบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้อัฐิเหล่านั้นด้วย
ภาพปูนปั้นของบุรุษและสตรี (ไม่ทราบว่าเป็นรูปปั้นของเทพ และเทพธิดาหรือเปล่านะคะ) บนผนังด้านนอกพระอุโบสถ ..
รูปปั้นมากมายที่รายรอบนั้น มีท่วงท่าที่สง่างามแต่แฝงไปด้วยความอ่อนช้อย … ชอบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่เต็มไปด้วยรายละเอียดจากช่างชั้นครู สร้างสรรค์ด้วยการนำเครื่องเบญจรงค์สีสดใสชิ้นเล็กๆมาประดับ ใครบางคนบอกว่า เป็นรูปปูนปั้นที่จำลองมาจากวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่
ด้านผนังหลังโบสถ์จำลองลายปูนปั้นชั้นสุดยอดของศิลปะอยุธยาจาก “วัดไลย์” อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ตามคำแนะนำของ อาจารย์ “อวบ สาณะเสน” ที่เข้ามาช่วยดูแลงานจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
“ภาพมหานิบาตชาดก” .. ตรงกลางภาพ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ “วันเทโวโรหนะ” ตอนพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยเพียงพระหัตถ์เดียวในซุ้มปราสาทยอด ประทับยืนบนบัวกลุ่ม มีรูปปั้นบันไดพาดตรงลงมาด้านล่าง
ด้านบนเป็นภาพของราชรถแห่งพระสุริยะและพระจันทรา ที่มีสัญลักษณ์ของนกยูงและกระต่ายประกอบอยู่ที่วงล้อตามคตินิยมในงานศิลปะรามัญ (มอญ - พม่า) มีรูปของเทพยดา (มีประภารัศมี) ล้อมรอบซุ้มเรือนปราสาท ด้านล่างเป็นรูปของเหล่ากษัตริย์บนขบวนช้าง ขบวนม้า และผู้คนรอรับเสด็จที่เมืองสังกัสสะ
ด้านข้างของภาพ เป็นเรื่องเล่าชาดกในมหานิบาตทั้ง 10 เรื่อง หรือ “ทศชาติชาดก” โดยแต่ละเรื่องจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม 10 ช่อง
เตมียชาดก .. สื่อถึง “เนกขัมมบารมี” เป็นตอนที่ นายสุนันท์ สารถี พาพระเจ้ากาสิกราช และพระนางจันทราเทวี พระชนกและพระชนนี มาพบพระเตมีย์ ที่บรรณศาลา อันเกิดจากการเนรมิตของท้าวสักกะเทวราช เมื่อได้ฟังธรรมจากพระเตมีย์แล้ว จึงเกิดความเลื่อมใส ในที่สุดจึงออกบวช
มหาชนกชาดก .. สื่อถึง “วิริยบารมี” เป็นตอนที่พระมกชนกโก่งคันธนูของพระเจ้าโบลชนก ในท่ามกลางหมู่อำมาตย์ และตอนเสด็จออกบวช
สุวรรณสามชาดก .. สื่อถึง “เมตตาบารมี” เป็นตอนที่ พระสุวรรณสาม นำอาหาร ผลไม้และน้ำมาให้แก่บิดามารดาที่บำเพ็ญพรตอยู่ในอาศรม
เนมิราชชาดก … สื่อถึง “อธิษฐานบารมี” เป็นตอนที่ พระเนมิราชแสดงธรรมให้กับเหล่าเทพยดา บนสววรรค์ชั้นด่าวดึงส์ มีภาพช้างเอราวัณสามเศียรประกอบให้เห็น
มโหสถชาดก .. สื่อถึง “ปัญญาบารมี” เป็นตอนที่ พระมโหสถพบกับเกวัฎฎ ปุโรหิตของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตต์ เป็นการชิงไหวชิงพริบในเรื่องการแสดงความเคารพ ที่จะแสดงว่าใครสำคัญกว่า .. พระมโหสถแกล้งทำแก้วมณีหล่นจากมือ เกวัฎฎปุโรหิต รีบก้มลงเอามือรับแก้วมณี พระมโพหสถจึงกดศีรษะเอาไว้ ประหนึ่งว่า เกวัฎฎปุโรหิตกำลังก้มหัวแสดงความเคารพตน
ภูริทัตตชาดก .. สื่อถึง “ศีลบารมี” เป็นตอนที่ เนสารทพราหมณ์ ไม่ฟังคำขอของโสมทัตต์ ผู้เป็นบุตรชาย ที่กล้างถึงบุญคุณของภูริทัตต์ที่มีต่อตน จึงไปจ้างให้ อาลัมพายพราหมณ์ให้ไปจับนาคภูริทัต ที่นอนจำศีลอยู่ที่จอมปลวก
จันทกุมารชาดก .. สื่อถึง “ขันติบารมี” เป็นเหตุการณ์ตอนที่ ท้าวสักกะเทวราช ลงมาทำลายพิธีบูชายัญ เพื่อช่วยเหลือขันทกุมารที่ถูกเล่ห์กลของ กัณฑหาลพราหมณ์ ตามคำวิงวอนของพระนางจันทา
พรหมนารทชาดก .. สื่อถึง “อุเบกขาบารมี” เป็นเหตุการณ์ตอนที่ นางรุจา ผู้เป็นราชกุมารีของพระเจ้าอังคติราชแห่งกรุงวิเทหราช กำลังถวายการสักการะแก่พระพรหมนารถ
วิธูรบัณฑิต .. สื่อถึง “สัจจะบารมี” เป็นเหตุการณ์ตอนที่ เหล่าเทพเจ้า อันประกอบด้วย ท้าวสักกะเทวราช ท้าวสุบรรณาราช พระยานาคราช และ พญาธนัญชัย กำลังฟังการตัดสิน ในการปฏิบัติธรรมของวิธูรบัณฑิต
พระเวสสันดรชาดก .. สื่อถึง “ทานบารมี” เป็นเหตุการณ์ตอนที่ ชูชกเข้าไปขอกัณหา ชาลี สองกุมาร จากพระเวสสันดร ในขณะที่พระนางมัทรีเข้าป่าไปเพื่อหาอาหารตามคำขอ ภาพปูนปั้นนี้ ช่างปั้นพยายามแสดงให้เห็นความอัศจรรย์ในขณะที่พระเวสสันดร กำลังหลั่งน้ำสิโนทกลงบนมือของชูชก ซึ่งได้บังเกิดแผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ภาพของสัตว์น้อยใหญ่กำลังตื่นตกใจเป็นโกลาหล เป็นมหานิบาตแห่ง “การให้ทาน” ที่พระมหาโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีไว้ได้อย่างสมบูรณ์ จนได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าสมณโคดมในพระชาติสุดท้าย
Note: ขอบคุณคำอธิบายจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/boranai/2018/04/20/entry-2
“มหานิบาต” ได้รับความนิยมมากในช่วงอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฏภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมหานิบาตชาดก ในช่วงเวลาร่วมสมัยมาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์
เจดีย์เก่าหลังพระอุโบสถ
บริเวณด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของเจดีย์องค์ใหม่ สร้างครอบเจดีย์องค์เดิม ที่ไม่รู้ประวัติความเป็นมาค่ะ...
องค์เจดีย์ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบลายคราม สลับกับลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เช่นเดียวกับพระอุโบสถ
เมื่อแรกเห็น ทำให้นึกถึงศิลปะของเขมร ไม่มีรายละเอียดของงาน และความหมายค่ะ หากมีผู้รู้และอยากแชร์เรื่องราว ก็จะเป็นประโยชน์มากค่ะ
งานปูนปั้นที่ฐานของพัทธสีมา ด้านหลังพระอุโบสถ … น่าสนใจที่ได้เห็นผลงานที่แฝงอารมณ์ขัน หยอกนิด ประชดหน่อยๆของศิลปินชั้นครูผู้สร้างสรรค์งานที่เป็นซิกเนเจอร์เอาไว้ คือ ครูทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ สกุลช่างเมืองเพชร
ศิลปะปูนปั้นดูดีดี เป็นศิลปะอารมณ์ขัน ของช่างปั้น ที่แฝงการปั้นล้อเลียน บุคคลทางการเมืองสมัยหนึ่งที่ผ่านมาด้วย … เห็นแล้วยิ้มค่ะ ดูเอาเองนะคะว่ามีใครบ้าง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา