15 ต.ค. 2020 เวลา 05:02 • ประวัติศาสตร์
สรุป Podcast ไข้หวัดใหญ่ 1918
ไวรัสที่ฆ่าคนมากกว่าสงครามโลก
โดยหมอเอ้ว นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา
เรียบเรียงโดย แอดมินฮันนี่
1
เรียนรู้ประวัติศาสตร์โรคระบาด
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในยุคนี้ได้ดีขึ้น
ในครั้งก่อน หมอเอ้วได้เล่าถึง The Black Death
หรือในชื่อภาษาไทยว่า “กาฬโรค”
โรคระบาดในช่วง ค.ศ. 1348
ที่คร่าชีวิตคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์
คือมีการประมาณกันว่า
มีผู้เสียชีวิตราว 75-200 ล้านคน
และนี่คือข้อมูลของโรคระบาดปี 1918
ที่แม้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าคือราว 50-100 ล้านคน
แต่สิ่งที่รุนแรงกว่ามากคือ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่
จะเสียชีวิตภายใน 12 ชั่วโมง
และเป็นโรคที่มีชื่อเรียกหลายชื่อมาก
เช่น flu 1918 หรือไข้หวัดใหญ่ 1918,
Spanish flu หรือไข้หวัดใหญ่สเปน
และ The Blue Death หรือความตายสีน้ำเงิน
เนื่องจากใบหน้าและเนื้อตัวของผู้ป่วย
จะเป็นสีน้ำเงินขึ้นเรื่อย ๆ จนเสียชีวิต
การระบาดในปี 1918
เกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ซึ่งสงครามนี้กินระยะเวลายาวนานถึง 4 ปี
แต่ความดุร้ายของไวรัส H1N1
ไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ 1918 ครั้งนี้
แม้ระยะเวลาในการระบาดหนัก
จะกินเวลาราว 18 เดือน
แต่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคระบาดครั้งนี้
กลับมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตเพราะสงครามครั้งนั้นเสียอีก
แม้ 1 ในชื่อเรียกของโรคระบาดนี้ คือ ไข้หวัดใหญ่สเปน แต่การระบาดครั้งแรกของไวรัส H1N1 นี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่นั่น สเปนในเวลานั้นคือประเทศที่ไม่ได้รบกับใครในช่วงสงคราม สื่อของประเทศสเปนสามารถเผยแพร่ข่าวโรคระบาดครั้งนั้นได้เต็มที่
ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ถูกทางการควบคุมการทำงานของสื่อ ถึงขนาดที่ออกกฏหมายสั่งขังนักข่าวที่เขียนข่าวเกี่ยวกับโรคนี้เป็นสิบ ๆ ปีได้เลยทีเดียว
เพราะทางการไม่ต้องการให้ประชาชนเสียกำลังใจ
จนส่งผลต่อการสู้รบในสงครามที่กำลังดำเนินอยู่
โลกก็เลยเรียกว่าไข้หวัดใหญ่สเปนกันซะเลย
ถ้าว่ากันตามจริง
เราไม่รู้ว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 1918
เกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหนกันแน่
แต่ข้อมูลบันทึกแรกเกี่ยวกับรักษา
และการติดต่อของไข้หวัดใหญ่ 1918 นี้
ผู้บันทึกคือหมอ ลอริ่ง ไนเนอร์ (Loring Miner)
ซึ่งอยู่ที่อำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง
ที่ชื่อ แฮสเกิล (Haskell county)
ในรัฐแคนซัส (Kansas) ประเทศสหรัฐอเมริกา
สันนิษฐานกันว่าผู้ป่วยอาจจะติดโรคนี้มาจากสัตว์
เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ของเมืองนั้น ถูกเลี้ยงรวม ๆ กันทั้งหมู วัว ม้า ไก่ โดยไม่มีคอกกั้น ไวรัสอาจจะผสมพันธุ์จากสัตว์ชนิดหนึ่งสู่สัตว์อีกชนิดหนึ่งในคอกเดียวกัน และกลายพันธุ์ก่อนจะแพร่ระบาดสู่มนุษย์ ความน่าจะเป็นในการแพร่ระบาดจากสัตว์อีกอย่างคือ จากนกประมาณ 17 สายพันธุ์ที่บินย้ายถิ่นกันไปเรื่อย
แต่การระบาดในคน แต่ละระรอก ต้องบอกเลยว่า
เหตุการณ์ครั้งใหญ่ของการระบาดหนัก ๆ
ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตวันละหลายร้อย
สู่วันละหลายพันคน
ค่อย ๆ เริ่มจากค่ายทหารฟันสตัน (Funston)
สู่ค่ายทหารอื่น ๆ ไปเรื่อย ค่ายทหารฟันสตันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอเมริกา สามารถรองรับทหารในแต่ละช่วงได้มากกว่า 50,000 นาย ทหารสหรัฐที่ถูกส่งไปรบในยุโรปส่วนใหญ่ถูกฝึกจากค่ายนี้
การที่นายทหารอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง โดยไร้มาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อที่รัดกุม ถือเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดอย่างยิ่ง มีนายทหารจำนวนมากที่เข้ารับการฝึกจากค่ายฟันสตันแห่งนี้ ที่ติดเชื้อและแพร่เชื้อสู้คนใกล้ชิด จนยากจะควบคุม
.
แม้จะมีการตื่นตัวจนทำให้การระบาดของโรคในระรอกแรกลดลงจนเกือบหมดไป แต่เมืองอื่น ๆ ค่ายทหารอื่น ๆ ที่ชะล่าใจกับไวรัส H1N1
ก็ทำให้ระรอกที่ 2 ระบาดหนักกว่าครั้งแรกมากมายหลายเท่า ค่ายทหารให้ความสำคัญกับการชนะสงครามมากกว่าอื่นใด บางเมืองให้ความสำคัญกับการจัดเทศกาลประจำเมืองมากกว่าการป้องกันชุมชนจากโรคระบาด
อีกทั้งประธานาธิบดียังยอมรับความเสี่ยงของการระบาดของโรคเพื่อการชนะสงคราม ในยุคที่ใช้เรือเดินสมุทรในการส่งทหารไปรบในยุโรป แม้จะมีมาตรการการคัดกรองและการควบคุมการระบาดเบื้องต้น ก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบในผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการไข้ใด ๆ ได้ การระบาดจึงเกิดขึ้นบนเรืออย่างรวดเร็ว
ยังไม่ทันจะถึงที่หมาย
ก็มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตมากมายระหว่างทาง
ศพถูกโยนทิ้งทะเลวันแล้ววันเล่า
จนในที่สุดเพราะเรือลำนั้นก็นำการระบาดสู่ทั่วยุโรป
และทั่วโลกอย่างรวดเร็วราวกับไฟป่า
ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 1918
มากที่สุดคือ อินเดีย (15 ล้านคน)
รองลงมาคือ อินโดนิเซีย (4 ล้านคน)
สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตราว 80,000 คน
แต่หากนับรวมผู้ติดเชื้อทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต
ทั้งหมด คาดว่ารวมแล้วมากถึง 500 ล้านคนเลยทีเดียว (ขณะที่จำนวนประชากรโลกในยุคนั้น อยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านคน)
แม้ในปัจจุบันโลกเราจะพัฒนามาไกลแค่ไหน
แต่วิธีที่ดีที่สุดที่เป็นดั้งอาวุธหลักที่เราใช้ต่อสู้กับไวรัสที่เรามีก็ยังใช้วิธีเดียวกับที่มนุษย์เคยใช้สู้กับโรคระบาดในอดีต การล้างมือให้สะอาด การทำ social distancing
ก็ยังเป็นกลยุทธหลักที่ดีที่สุด
และที่สำคัญที่สุดของการเอาชนะของโรคไวรัสได้
หมอเอ้วได้บอกไว้ว่า "ก็คือการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์ทุกคน เพราะการต่อสู้กับไวรัส เราจะชนะคนเดียว ชนะจังหวัดเดียว หรือชนะประเทศเดียวไม่ได้ ถ้ามีคนไหน จังหวัดไหน หรือประเทศไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คือยังมีการระบาดอยู่ โรคก็มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์ หรือกลับมาระบาดเป็นระรอกที่ 2 หรือ 3 ได้อีก
บทเรียนอีกข้อที่เราได้เห็นก็คือว่า
การต่อสู้กับโรคระบาดนั้น
เราจะเผลอหละหลวมไม่ได้เลย
เพราะความล่าช้าเพียงแค่ไม่กี่วัน
หรือการผ่อนปรนกฎข้อห้ามด้านความปลอดภัยลงบ้าง เช่นที่เกิดขึ้นในค่ายทหารฯ และในเรือเดินสมุทรฯ (ดังที่หมอเอ้วเล่าใน Podcast ฉบับเต็ม “ไข้หวัดใหญ่ 1918”
สามารถคลิกฟังทั้งหมดได้ที่ youtube.com/chatchapolbook )
อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันหลายหมื่นหลายแสนหรือว่าหลายล้านชีวิต
เพราะเรารู้ว่าไวรัสพวกนี้ยังคงอยู่
และมันยังคงกลับมาเรื่อย ๆ เช่น
ในปี 1957 มีการระบาดของไวรัส H2N2
ในปี 1968 มีการระบาดของไวรัส H3N2
ในปี 1997 มีการระบาดของไวรัส H5N1
และในปี 2009
มีการระบาดที่สร้างความตื่นตัวในวงการวิทยาศาสตร์
และวงการแพทย์มากที่สุด
เพราะเป็นการกลับมาของโรคระบาด H1N1 หรือไข้หวัดหมู ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ระบาดในปี 1918
.
การควบคุมโรคระบาดที่เกิดขึ้นในอดีตได้ดี
ทำให้เราอาจจะหลงคิดไปว่าไวรัสไม่สามารถจะกลับมาทำร้ายมนุษย์ได้เหมือนที่เคยทำได้ในปี 1918
แต่แล้ว SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ก็เกิดขึ้น
มนุษย์เราจึงค้นพบอีกครั้งว่า เราไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนั้น ในธรรมชาติยังมีไวรัสที่พร้อมจะดุร้าย และพร้อมที่จะกระโดดจากสัตว์มาสู่คนอีกมากมาย
เราแค่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง"
ดังนั้น New Normal ในยุคนี้
ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราควรทำให้ดีที่สุดต่อไป
ทั้งการล้างมือบ่อย ๆ การสวมหน้ากากอนามัย
การเว้นระยะห่าง การกักตัว 14 วันหลังจากเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยจากโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคตนะคะ 🙂
ด้วยความปรารถนาดีจากหมอเอ้วและทีมแอดมิน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว-ชัชพล ค่ะ 😊
ไม่อยากพลาดการแจ้งเตือนเมื่อมีคลิปและบทความใหม่ ๆ
Add Line เพื่อรับการแจ้งเตือนต่าง ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
🔔 Line: @chatchapolbook
🍯บทความโดย แอดมินฮันนี่
🐱ภาพประกอบโดย แอดมินฝ้าย
โฆษณา