18 ต.ค. 2020 เวลา 12:52 • การเมือง
คนเลือกปธด.สหรัฐไม่ใช่ประชาชน (1)
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
บ้านเกิดใคร ใครก็รัก บ้านเกิดผมคือบ้านดงกลาง อ.เขาสมิง จ.ตราด วัดมัชฌิมวัน (ดงกลาง) ครบรอบได้รับวิสุงคามสีมา 50 ปีในปีนี้ จะมีงานทอดกฐินเวลา 13.00 น.ของเสาร์ 24 ตุลาคม 2563 เชิญทุกท่านไปร่วมทอด ท่านใดไปไม่ได้ ร่วมทำบุญทอดกฐินได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ เลขที่ 488-0-86800-0 ขออนุโมทนาบุญครับ
15 ตุลาคม 2563 มีการแสดงวิสัยทัศน์ของไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเด็มโมแครตผ่านสถานีโทรทัศน์เอบีซี ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ของทรัมป์ที่แสดงในห้วงเวลาเดียวกัน แสดงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องเอ็นบีซี + เคเบิลเอ็มเอสเอ็นบีซี + ซีเอ็นบีซี
การสำรวจของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช พบว่าไบเดนที่ออกจอสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียวดึงดูดผู้ชมได้มากถึง 14.1 ล้านคน ส่วนทรัมป์ดึงดูดผู้ชมได้ 13.5 ล้านคน
การสำรวจประชากรอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2553 สหรัฐมีประชากรทั้งสิ้น 309 ล้านคน เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการประเมินว่าสหรัฐมีประชากร 328 ล้าน คาดกันว่าในปีนี้จะมีคนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีกันมากถึง 150 ล้าน
ขณะนี้เริ่มมีการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีล่วงหน้า ความกลัวการติดเชื้อโควิด-19 คนอเมริกันจึงนิยมไปเลือกตั้งล่วงหน้ากันมาก
ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องที่ใครได้คะแนนโหวตจากประชาชนมากที่สุด ผู้นั้นคือผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งไม่จริงครับ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ค.ศ.2016 นางฮิลลารี คลินตัน ได้เสียงโหวตจากประชาชน 65,844,954 คะแนน (คิดเป็นร้อยละ 48) ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ได้ 62,979,879 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 46 นางคลินตันได้เสียงโหวตมากกว่าทรัมป์ 2,865,075 คะแนน แต่ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี
https://news.yahoo.com/
การเลือกตั้งเมื่อ  ค.ศ.2000 ระหว่างจอร์จ วอล์กเกอร์ บุช (รีพับลิกัน) กับอัล กอร์ (เด็มโมแครต) บุชได้เสียงโหวตจากประชาชน 50,456,002 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 47.9 ส่วนกอร์ ได้ 50,999,897 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 48.4 แต่คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีกลับเป็นบุช
ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่อยู่ที่เสียงโหวตของประชาชน แต่อยู่ที่การลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง
คนร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ว่าจะได้รับการโหวตโดยตรงจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. (แบบเดียวกับบ้านเรา) หรือจากประชาชนทั้งประเทศ (แบบเดียวกับรัสเซีย) เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญคิดว่าคนอเมริกันยังไม่สามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง
คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐจึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 2 ข้อ 1 ว่าประธานาธิบดีและรองฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งจากแต่ละรัฐ คณะผู้เลือกมีจำนวน = จำนวนผู้แทนราษฎร + วุฒิสมาชิกในรัฐสภาของรัฐนั้นๆ
ส.ว. ส.ส. และเจ้าพนักงานของรัฐไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคณะผู้เลือกตั้งจะได้เป็นประธานาธิบดี กรณีที่มีผู้สมัครประธานาธิบดีได้คะแนนเสียงข้างมากเท่ากัน 2 คน ให้สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนรัฐละ 1 เสียง เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นประธานาธิบดี ถ้ายังไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงข้างมากอีก สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งจากผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 คน เป็นประธานาธิบดี
ตอนที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐนั้น ยังไม่มีระบบพรรคการเมือง ผู้ร่างจึงคาดเดาเอาเองว่าอาจจะมีการเลือกตั้งหลายครั้งที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากจากคณะผู้เลือกตั้ง จนตั้งมีการเลือกประธานาธิบดีในสภาผู้แทนราษฎร
การคาดเดาของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นความจริงครับ การเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ.1800 ทอมัส เจฟเฟอร์สัน และแอรอน เบอร์ ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 73 คะแนนเท่ากัน ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องลงคะแนนเลือกตั้งซ้ำๆ ซากๆ มากถึง 36 ครั้ง กว่าที่เจฟเฟอร์สันจะได้เป็นประธานาธิบดี และคนที่ได้คะแนนรองคือเบอร์ ได้เป็นรองประธานาธิบดี
พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.
โฆษณา