20 ต.ค. 2020 เวลา 02:52 • ไลฟ์สไตล์
บันทึกความทรงจำแห่งมิตรภาพ ลาว-ไทย
(The Memory of Lao-Thai's Friendship)
ตอนที่ 1
Mr.Roger Green กับ แขวงจำปาสัก
Mr.Roger Green เป็นนามแฝงของผู้เขียน ที่ปรากฏในสื่อโซเชียล ตามเว็บไซ้ต์การท่องเที่ยวแบบเดินป่าเชิงสำรวจ เพื่อศึกษาธรรมชาติและผจญภัย มาตั้งแต่ปี 2004 (2547)
การเผยแพร่ภาพและข้อมูลที่ผ่านมาได้เล่าเรื่องราว และประสบการณ์ เมื่อครั้งได้รับอนุญาตจากแขวงจำปาสัก ให้ทำการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของแขวงจำปาสัก ให้มีข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู่เดิม หรือยังไม่เคยมี หรือยังรับรุู้ในวงจำกัด เพราะยังไม่เคยมีการสำรวจและจัดทำบันทึกรายละเอียดเนื้อหาและสาระที่สำคัญๆ ของพื้นที่ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาต่อไปได้อย่างเหมาะสมเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในเขตบ้านหนองหลวง เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสื่อโซเชียลในระยะแรกๆ ที่ผ่านมา ที่ปรากฏทางเว็บไซต์ของนักเดินป่าที่รู้จักแพร่หลายและมีสมาชิกนับพัน ก็คือ "คนแบกเป้" www.khonbaakpae.com ของกัณฑ์ พัตรพรหม (เสียชีวิตแล้ว), www. trekkingthai.com และได้ขยายช่องทางการเผยแพร่โดยสมาชิกของเว็บไซต์ข้างต้นไปสู่เว็บอื่นๆ เช่น www.panthip.com, www.multiply.com เป็นต้น
การเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์มีหลายรูปแบบ ทั้งภาพถ่าย วิดิโอ กระทู้ สารคดี รวมทั้งการเขียนบทวิจารณ์ และบทความทางสื่อออนไลน์ของผู้เขียนเอง ใน OKnation.net, Mblog ทาง manageronline.net ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลอย่างแพร่หลาย กว้างขวาง ถูกต้อง ทั้งภายในประเทศ ในภูมิภาคใกล้เคียง และทั่วโลก
นอกจากการเผยแพร่ในช่องทางของผู้เขียนเองแล้ว ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่สื่อต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ นักจัดทำรายการสารคดี เช่น ส่องโลก รวมทั้งจากนักท่องเที่ยวที่เข้าไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวงด้วย ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ อันมีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้การกระจาย การรับรู้ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะได้อย่างเจาะลึก กว้างขวาง หลากหลาย รวดเร็วยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ก็มีบางคน บางสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลอย่างมั่วๆ เพราะได้ข้อมูลผิดๆ จากแหล่งข้อมูลที่ไม่รู้จริง หรือมีเจตนาบิดเบือน แอบแฝงเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ที่มีนักท่องเที่ยวเดินป่าและนักผจญภัยจากทุกสารทิศเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากประเทศไทย
กลุ่มคนแบกเป้ (ภาพบน) นับเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นผู้จุดประกายและนำทางให้กับนักเดินป่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ติดตลาดในแวดวงนักเดินป่าไทยได้อย่างรวดเร็วและแน่นแฟ้น
แต่น่าเสียดายที่ "กัณฑ์ คนแบกเป้" ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อ 26 มค.2017 ทำให้กิจกรรมของกลุ่มกับบ้านหนองหลวงหยุดชะงักหงอยเหงาไปมาก เพราะไม่มีผู้สานต่อ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายกลุ่ม ที่เคยเป็นทีมงานหรือสมาชิกกลุ่มคนแบกเป้นั่นเอง
"กัณฑ์ พักพรหม แห่ง คนแบกเป้" นับเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในการสร้างตำนานการบุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้กับผู้เขียนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงขอสดุดีและรำลึกถึง "กัณฑ์ คนแบกเป้" ณ ที่นี้ ด้วยความอาลัยยิ่ง
ต่อไปนี้เป็นบทกลอนประกอบภาพ ที่ปรากฏในหนังสือ "บันทึกความทรงจำแห่งมิตรภาพ บ้านหนองหลวง " หน้า 28-29 ที่พิมพ์เผยแพร่ในปี 2017 (ภาพล่าง)
ก่อนหน้านั้น ราวปลายปี 1989 (2532) หลังจากผู้เขียนลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารสาขาธนาคารทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง เพราะมีนักธุรกิจผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนรู้จักดีและเคารพนับถือมาตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานธนาคาร (2521) ได้ทราบข่าวว่าผู้เขียนกำลังจะลาออกเพื่อทำธุรกิจส่วนตัว จึงมาชวนให้ไปสานต่องานและเป็นที่ปรึกษาการลงทุนใน สปป.ลาว โครงการของเจ้าสัวโรงงานผลิตเหล้าขาวใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสมัยนั้น (ขณะนั้นยังไม่ใช่อภิมหาเศรษฐีระดับ Top 3 ของประเทศไทยเช่นทุกวันนี้ ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม)
ผู้เขียนเห็นว่ามันท้าทายดี จึงตกลงเข้าไปช่วยสานต่องานจนได้รับอนุญาตตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล สปป.ลาว ในปี 1991ในนาม บริษัท พาณิชย์เจริญ (ลาว-ไทย) จำกัด โดยมีนายปองศักดิิ์ ว่องพาณิชย์เจริญ (เสี่ยป๋อง) เป็นประธานกรรมการ (เสียชีวิตแล้ว) นับเป็นเอกชนจากประเทศไทยบริษัทแรกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากรัฐบาลลาว แขวงจำปาสัก สปป.ลาว (เหมือนได้ BOI บ้านของไทย) แต่ที่ลาวเรียกว่า FIMC _Foreign Invesment Management Committee )
พอจบโครงการแรกสักระยะ ราวปี 1992 ผู้แทนเจ้าสัว(เสี่ยป๋อง) ที่ไปทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแรก ได้รับข้อเสนอจากผู้ใหญ่ระดับรองนายกรัฐมนตรีของลาวสมัยนั้น โดยให้ในนามเสี่ยป๋องเองเป็นการตอบแทนที่พาเจ้าสัวใหญ่ไปตั้งโรงงานเหล้า จึงได้มอบโครงการปรับปรุงพัฒนาอาคารเก่าของรัฐให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว นั่นคือ อาคารที่เจ้าบุญอุ้ม (ภาพบน) อดีตเจ้าครองนครจำปาสักองค์สุดท้ายได้สร้างไว้ นัยว่าจะเป็นบ่อนคาสิโนแต่ยังสร้างไม่เสร็จ
ช่วงนั้นเป็นยุคที่อเมริกาปกครองราชอาณาจักรลาว แต่ถูกรัฐบาลของกองทัพประชาชนปฏิวัติลาวเนรเทศ (บางข้อมูลว่าหลบหนีออกนอกประเทศ) ไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงก่อนสงครามที่พรรคประชาชนปฏิวัติ ปลดปล่อยประเทศชาติสำเร็จ และประกาศอิสรภาพ ในปี 1975
ต่อมาอาคารหลังนี้ ถูกเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า"เฮือนใหญ่ประชาชน" (ເຮືອນໃຫຍ່ປະຊາຊົນ)ชาวบ้านเรียกว่า"ศาลาพันป่อง“ (ສາລາພັນປ່ອງ)“เพราะเป็นอาคารที่มีประตูหน้าต่างรวมกันเกือบ 1 พันบาน ต่อมาเป็นที่รู้จักและเรียกขานกันว่า "วังเจ้าบุญอุ้ม"
อาคารหลังนี้ เป็นอาคารคอนกรีต สูง 7 ชั้นๆบนสุดเป็นอาคารโดมคล้ายศาลาชมวิว ตัวอาคารตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของตัวเมืองปากเซ ติดถนนหมายเลข 13 ใต้ ด้านทิศตะวันออกติดกับวัดพระบาท ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ด้านหลังหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแม่น้ำเซโดน (เซ แปลว่าแม่น้ำขนาดเล็ก)
แม่น้ำเซโดนเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านด้านหลังอาคารไปทางทิศตะวันตกอีกราว 2 กิโลเมตรเศษ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ตรงปากแม่น้ำเซโดนที่ไหลลงแม่น้ำโขงเรียกว่า "ปากเซ" อันเป็นที่มาของชื่อเมืองปากเซ นั่นเอง
ตรงปากแม่น้ำเซโดนจุดที่ไหลลงแม่น้ำโขงในสมัยนั้น ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำเหมือนในปัจจุบัน จะมีทางคอนกรีตแยกจากในตัวเมืองลาดลงชิดแนวขอบตลิ่งของแม่น้ำด้านทิศตะวันออก(ฝั่งซ้าย)ยาวกว่า 20 เมตร ต่ำลงไปเรื่อยๆ เกือบถึงระดับน้ำต่ำสุด เป็นที่ตั้งท่าเรือเฟอรี่ข้ามฟากขนาดใหญ่ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมีกำลังเกือบ 1000 แรงม้า รองรับ รถบรรทุก 10 ล้อ ได้ราว 7-8 คัน หรือรถบรรทุกท่อนซุงยาวสิบกว่าเมตรได้ 4 คัน พร้อมบรรทุกคนโดยสาร รถสามล้อ มอเตอร์ไชด์ จักรยาน สินค้านานาชนิด ได้อีกมาก รวมน้ำหนักบรรทุกน่าจะเฉียดๆ100 ตัน
เรือลำนี้ชื่ิอว่า "นาวาจำปา" ลาวเรียกเรือชนิดนี้ว่าเฮือบัก (ເຮືອບັກ) ที่ขึ้น-ล่องเชื่อมการคมนาคมขนส่งฝั่งเมืองโพนทองหรือเมืองเก่ากับเมืองปากเซ หรืออำเภอเมืองของแขวงหรือจังหวัดจำปาสัก จวบจนกระทั่งสร้างสะพานสำเร็จจึงย้ายเฮือบักไปใช้ที่แขวงอื่น
ส่วนสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ดังที่เห็นในปัจจุบัน(ภาพบน) เป็นความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น ลักษณะกึ่งสะพานแขวน ความยาว 1380 เมตร จุดที่ตั้งฝั่งเมืองโพนทอง อยู่ที่ตีนภูสะเหล้า สำเนียงลาว ออกเสียงว่า พู-สะ-เหล่า (ພູສະເຫຼ່າ)
ส่วนฝั่งเมืองปากเซอยู่หน้าโรงแรมแกรนพาเลซ ใกล้กับตลาดดาวเรืองในปัจจุบัน สะพานแห่งนี้เปิดใช้เมื่อปลายปี 2000 (2553) นับเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สอง แต่เป็นการเชื่อมในแผ่นดินลาวเอง ไม่ใช่เชื่อมระหว่างลาว-ไทย
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกและเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างประเทศลาวกับไทยแห่งแรกด้วย คือสะพานมิตรภาพลาว-ไทย 1 (ภาพล่าง) ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครเวียงจันทน์ พิธีเปิดใช้เมื่อ 8 เมษายน พ.ศ.2537 (1994)
เมื่อพูดถึงภูสะเหล่า อาจมีผู้สงสัยว่าทำไมถึงเรียก (ເອີ້ນ)เช่นนั้น ทั้งนี้เพราะมีตำนานเล่าขานเป็นนิทานก้อม กล่าวถึงภูเขา 5 ลูกที่อยู่ใกล้กัน ภูเขาลูกแรกคือ ภูมะโรง คือภูเขาที่ยอดแหลมสูงๆ (ภาพล่าง)
หากเดินทางเข้ามาจากด่านช่องเม็กไปเมืองปากเซ จะเห็นภูมะโรงสูงเด่นเป็นสง่าขวางหน้าอยู๋ เลยภูมะโรงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ (ทางขวา) ภูเขาที่มียอดสูงที่ปลายยอดมีติ่งคล้ายจุกหัวนมหรือหัวจุกบนเกล้าผม คือภูจำปาสักหรือภูเกล้า (ภาพล่าง) ซึ่ง ณ ตีนภูเขานี้ฝั่งทิศตะวันออกจะเป็นที่ตั้งของปราสาทหินวัดพูที่เป็นมรดกโลก(ภาพล่างถัดไป)
ส่วนภูเขาทางตะวันตกที่ไม่สูงนักมีสามลูกซ้อนทับกัน แนวลาดเอียงเกือบขนานกับแม่น้ำโขงโดยยอดภูลูกแรกจะเป็นส่วนหัว ยอดที่สองจะเป็นส่วนหน้าอก(นม) และยอดที่สามจะเป็นส่วนลำตัวที่ทอดยาวต่ำไปถึงปลายเท้า หากมองจากฝั่งตัวเมืองปากเซก่อนข้ามสะพาน จะดูคล้ายผู้หญิงนอนหงายเหยียดยาว หรือลอยน้ำอยู่ในแม่น้ำโขง จึงเรียกว่าภูนางนอนหรือนางลอย (ภาพถัดไป) ส่วนภูเขาลูกที่ 5 อยู่คนละฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกคือภูบาเจียง ที่เป็นชื่อเดียวกับเมืองบาเจียงเจริญสุข (ภาพล่างถัดจากภูนางนอน)
ตำนานในเรื่องนี้มีหลายเวอร์ชั่น ที่ฟังมาจากหลายคนก็เล่าแตกต่างกัน ไม่มีข้อยืนยันว่าเวอร์ชั่นใดถูกต้อง จึงขอให้ผู้อ่านที่อยากทราบลองสืบค้นและตัดสินกันเอง ส่วนผู้เขียนจะขอไขข้อข้องใจเฉพาะชื่อของนางนอนและภูสะเหล่าเท่านั้น กล่าวคือ ในตำนานบอกคล้ายกันว่า...
"ท้าวบาเจียงยกขันหมากจะไปสู่ขอนางมะโรง แต่นางมะโรงหนีไปโดดแม่น้ำโขงตาย เพราะพ่อจะให้แต่งงานกับชายอื่น ศพนางมะโรงที่ลอยน้ำนั้นกลายเป็นชื่อภูนางนอน หรือนางลอย ส่วนท้าวบาเจียงก็เสียใจมาก จึงเทขันหมากที่มีเหล้ายาปลาปิ้งทิ้ง (คงเป็นเหล้าไห)กลายเป็นภูสะเหล่า นั่นแล
ย้อนกลับมาเรื่องโครงการปรับปรุงพัฒนาอาคารเก่าของรัฐให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่เล่ามาข้างต้น อยู่ในยุคของท่าน พลเอก คำไต สีพันดอน เป็นนายกรัฐมนตรี และท่านอ่อนเนื้อ พมมะจัน เป็นเจ้าแขวงจำปาสัก ขณะนั้น และเป็นเจ้าแขวงคนเดียวกับที่ทำโครงการแรก
โรงแรมแห่งนี้นับว่าเป็นโรงแรมหรูแห่งแรกของเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้ตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า "โรงแรมจำปาสัก พาเลซ" (Champasak Palace Hotel) (ภาพล่าง)
หลังจากเปิดหลายปี ลูกหลานเจ้าของสัมปทานมีความคิดว่าอยากเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็น"ราชวังจำปาสัก" ตามความหมายในภาษาอังกฤษ จึงเปลี่ยนป้ายชื่อโรงแรมโดยพลการ ขณะที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากแขวง ซึ่งแขวงให้เหตุผลที่ไม่อนุญาต 2 ประการ
ประการแรก สปป.ลาว ไม่มีระบอบกษัตริย์แล้ว จึงไม่ต้องการให้ใช้คำว่า "ราชวัง" เพราะขัดกับระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยกึ่งสังคมนิยม (ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) แต่หากจะใช้ชื่อนี้จริงๆ ต้องปรับปรุงโรงแรมให้หรูหราสง่างามสมกับที่จะใช้ชื่อว่า"ราชวัง" ซึ่งหมายถึงวังของพระราชา ในที่สุดจึงต้องกลับมาใช้ชื่อ "จำปาสักพาเลซ" ที่ผู้เขียนตั้งให้ดังเดิม
ภาพโรงแรมภาพล่าง จะเห็นว่ามีการสร้างอ่างบัวใหญ่ทรงกลมไว้ ซึ่งบริเวณนี้เดิมเป็นป้อมปืน ที่สร้างคล่อมหลุมหลบภัยสมัยสงคราม ซึ่งป้อมนี้มีตำนานเล่าว่ามีถ้ำเล็กๆ ที่รูถ้ำอยู่ลึกลงไปเป็นช่องแคบๆ สามารถเดินไปได้ไกลทะลุลงไปเชื่อมต่อกับถ้ำพญานาคใต้แม่น้ำโขง ยาวไปถึงวัดพู เมืองจำปาสัก และต่อไปถึงเมืองโขง (เดิมชื่อนาคะบุรี) ซึ่งเชื่อว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ จะจริงเท็จอย่างไรยังเป็นปริศนาคาใจอยู่
ในยุคแรกๆของผู้ได้สัมปทานคนแรก (เสี่ยป๋อง) ไม่ได้ปรับเปลี่ยนป้อมแต่อย่างใด เพียงปลูกต้นไม้และตั้งกระถางต้นไม้ล้อมบังประดับไว้เท่านั้น
แต่ต่อมามีการเปลี่ยนเจ้าของคนใหม่ จึงได้รื้อป้อมนี้ทิ้งและปิดปากถ้ำหรือช่องทางดังกล่าว แล้วสร้างอ่างบัวขึ้นมาแทน ดังที่เห็นในภาพล่าง
ในตอนที่ปรับปรุงโรงแรมเสร็จใหม่ สปป.ลาวเริ่มเปิดตัวเป็นประเทศประชาธิปไตย หลังจากระบอบสังคมนิยมรัสเซีย ในยุคกอบาชอฟ ล่มสลายในปี 1991 ลาวได้ประกาศเป็นประเทศในระบอบสาธารณรัฐ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว ( The Lao People's Democratic Republic)
แต่ยังยึดแนวทางปกครองแบบสังคมนิยม ภายใต้ Slogan "สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร (Peace Independence Democracy Unity Prosperity)
ในปี 2532 (1989) ช่วงแรกที่ผู้เขียนลาออกจากธนาคารเพื่อเข้าไปทำงานในลาว ผู้เขียนได้ตั้งสำนักงานที่ปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย (Busines and Law Consultant _IBLC) บริการรับศึกษาตลาดก่อนการลงทุน จัดทำแผนธุรกิจ รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เป็นที่ปรึกษาการจัดวางระบบงาน และด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับส่งเสริมการลงทุนของประเทศนั้น (BOI)
ในระหว่างการทำงานใน สปป.ลาว 1 ปีเศษ ผู้เขียนมองเห็นศักยภาพในการทำมาหากินด้านที่ถนัดใน สปป.ลาว จึงเปลี่ยนชื่อจากสำนักงานที่ปรึกษาธุรกิจและกฎหมายเป็นสำนักงานที่ปรึกษาธุรกิจและการลงทุน อินโดจีน ( Indochina Business and Investment Consultancy _IBIC) มีเว็บไซต์ในเฟสบุ๊ค ชื่อ www.facebook.com/ibicthailand เพื่อรับทำงานที่ปรึกษาการลงทุนในประเทศอื่นๆ ในอินโดจีนด้วย (ขณะนั้นยังไม่มี AEC) โดยเน้นรับงานจากประเทศไทย ลาว เวียตนาม เป็นหลักเรื่อยมา
พอในช่วงหลังที่เกิดประชาคมเศรษกิจอาเซี่ยน (Asean Economic Community) หรือ AEC จึงได้เปิดเว็บไซต์ในเฟสบุ้คอีกเว็ปหนึ่งเพื่อแนะนำธุรกิจที่ปรึกษา ใช้ชื่อเว็ปว่า IBIC.AEC Asean (www.facebook.com/ibic.aec)
ในช่วงปี 1997 (2550) ผู้เขียนได้รับจ้อบพิเศษเพิ่มคือเขียนบทความด้านสิ่งแวดล้อมตามโครงการจัดทำบทความ 100 เรื่อง เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ของกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย ที่มีมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม - ประเทศไทย เป็นผู้รับจ้าง
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมงานเขียนบทความด้วย ได้รับโควต้า 10 บทความ จึงไปหาสถานที่สงบๆเพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน โดยขึ้นไปเช่าโรงแรมที่เมืองปากช่อง (โรงแรมป้ายืน-องค์เทือง) เป็นสถานที่เขียนบทความดังกล่าว ใช้เวลาเขียนราว 2 เดือน เขียนได้ 13 เรื่องเพื่อคัดเลือกเอา 10 เรื่อง ผ่านเกณฑ์เพียง 8 เรื่อง แต่ละเรื่องความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 ได้รับค่าตอบแทนมาเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
ในระหว่างที่เขียนบทความ ณ เมืองปากช่องนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนได้พบรักกับสาวลาว จนได้ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ในปี 1998
หลังจากนั้นจึงได้เปิดธุรกิจนำเข้าเครื่อง จักรเครื่องมือทางการเกษตรอยู่ปีเศษ ขณะที่เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทลาว ชื่อ บริษัทมหาชนผู้ผลิตกาแฟด่านสินชัย
แต่ต่อมาเกิดภาวะผันผวนค่าเงินกีบอย่างหนัก เกิดสภาพเงินเฟ้ออย่างรุนแรงและรวดเร็ว อัตราแลกเปลี่ยนปรับตามอัตรเงินเฟ้อจาก 1 บาท/ 250 กีบ เพียง 1 สัปดาห์ ขยับเป็น 1 บาท/480 กีบ มีผลกระทบกับการดำเนินงานของบริษัทมหาชนดังกล่าวอย่างมาก จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงต้องยุบเลิกไป
มีทำให้ธุรกิจของผู้เขียนเองที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของบริษัทมหาชนดังกล่าว จึงติดร่างแหประสบปัญหาไปด้วย เพราะซื้อสินค้านำเข้าด้วยเงินสด (เงินบาท) แต่ขายเป็นเงินผ่อนและชำระเป็นเงินกีบเป็นส่วนใหญ่ ราคาสินค้าจึงปรับสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ สินค้าส่วนใหญ่เป็นรถไถนั่งขับ 4 ล้อมือสองจากญี่ปุ่นค้างสต้อกอยู่ 4-5 คันๆละแสนกว่าถึงสองแสนกว่า และอะหลั่ยที่ยังไม่ได้ขาย
ในที่สุดจำเป็นต้องขายขาดทุนตามอัตราแลกเปลี่ยนเดิม เพราะค่าเงินเฟ้อยิ่งนับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีท่าที่จะแข็งค่าขึ้นเลย ต้องยอมขายเท่าทุนก็เท่ากับขาดทุนส่วนต่างของอัตราเงินเฟ้อรวมเป็นเงินเฉียดล้านบาท จึงต้องเลิกธุรกิจนี้ไปในที่สุด
ในปีต่อมาได้หันไปเปิดร้านถ่ายเอกสาร รับพิมพ์งาน ถ่ายรูป ขายอุปกรณ์เครื่องเขียน แบบพิมพ์ อันเป็นร้านแรกของเมืองปากช่องชื่อ ร้าน PT เซ็นเตอร์
กิจการเจริญก้าวหน้าดีพอควร (ภาพล่าง) เป็นกิจการที่แก้ปัญหาด้านงานเอกสารให้กับเมืองนี้ โดยเฉพาะด้านงานที่ต้องติดต่อกับรัฐการ (ລັດຖະການ) ลาวไม่เรียกราชการเพราะเลิกระบอบกษัตริย์แล้ว
ก่อนหน้านั้น การติดต่องานกับทางการต้องใช้เขียนใส่กระดาษสมุดบ้าง กระดาษฟุสแก้ปบ้าง ส่วนกระดาษพิมพ์งานสีขาวแบบ A4 หรือ Legal (Double A) แบบปัจจุบันก็ยังไม่แพร่หลาย กว่าจะเขียนจบต้องใช้หมึกขาวลบแก้ไขคำผิดจนเลอะเทอะไปหมด หรือไม่ก็ต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ แต่หากต้องการพิมพ์เอกสารด้วยคอมพิวเตอร์ ต้องนั่งรถลงเขาไปเมืองปากเซ-ปากข่อง ไป-กลับราว 100 กม. ที่ตั้งร้านอยู่ กม.49 อยู่ฝั่งตรงข้ามกับปั้มน้ำมัน ปตท.เมืองปากช่องปัจจุบันนี้
ในช่วงเปิดร้านแรกๆ ราว 1998 ผู้เขียนจะอยู่ที่ร้านประจำ เพราะต้องคอยบริการลูกค้าด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็ฝึกสอนภรรยาชาวลาวให้ทำเองได้ทั้งการพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตัล การย่อ-ขยาย ออกแบบ และตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การพิมพ์ภาพถ่ายด้วยกระดาษพิเศษ ไม่ต้องล้างฟีล์มและอัดภาพเหมือนสมัยก่อน งานอัดบัตรพลาสติก และการใช้อุปกรณ์อื่นๆ
ถัดมาอีกราวปี 2004-2007 เป็นช่วงที่ได้รับอนุญาตให้เป็นหัวหน้าทีมสำรวจพื้นที่บ้านหนองหลวงและนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่สำรวจ จึงเปิดร้านอาหารเพื่อเป็นจุดนัดพบ หรือรวมพลก่อนเดินทางเข้าจุดท่องเที่ยว ชื่อร้าน "จุดนัดพบนักเดินทาง"(The Traveler's Point) อยู่ติดกับร้าน PT Center (ภาพบน)
นอกจากนั้น ในปี 2005 ยังได้รับเกียรติ์ให้เป็นที่ปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (ຊຽ່ວຊານ) ด้านประสานงานให้กับโครงการก่อสร้างศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสุขภาพผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ตั้งอยู่เมืองปะทุมพอน แขวงจำปาสัก ซึ่งเป็นทุนช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลไทยแก่ สปป.ลาว จำนวน 500,000$ USD. มีบัตรประจำตัวผู้เชี่ยวชาญ (ຊຽ່ວຊານ) ที่กระทรวงภายใน (มหาดไทย) ออกให้ (ภาพล่าง)
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตค่อนข้างราบรื่นดี มีความสุขกับครอบครัวเพราะกิจการค้าเจริญเติบโตดี โดยไม่มีคู่แข่ง เพราะเป็นกิจการที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองนี้ เนื่องจากต้องใช้ความรุู้ และประสบการณ์พอสมควร เป็นงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
เมืองปากช่องขณะนั้นยังเป็นเมืองชนบท หรือบ้านนอกอยู่ ธุรกิจที่คึกคักมีเพียงธุรกิจค้าไม้ ในขณะที่ทั้งเมืองมีโทรศัทพ์ตั้งโต้ะที่ห้องว่าการปกครองเมือง(ที่ว่าการอำเภอ) เพียงเครื่องเดียว แต่ก็ใช้การไม่ได้ เพราะติดค้างค่าโทรศัพท์จนถูกตัดสาย โทรศัทพ์มือถือก็ยังไม่มีใช้ เนื่องจากยังไม่มีเสาสัญญานเครือข่าย รัฐเองก็ยังไม่สามารถลงทุน เอกชนก็ยังไม่มีใครกล้าลงทุน
ผู้เขียนมองเห็นโอกาสทอง จึงติดต่อขอติดตั้งโทรศัพท์แบบตั้งโต้ะ 1 เลขหมาย มาบริการ สามารถโทรทางไกลต่างประเทศและใช้แฟกซ์ได้ด้วย ซึ่งช่วงนั้นมีพ่อค้าไม้ทั้งไทย เวียดนาม และจีนเข้ามาทำไม้กันอย่างคึกคัก จึงมาใช้บริการทั้งโทรศัพท์และโทรสาร (Fax) ที่ร้าน PT Center กันบ่อยมาก เพราะมีเพียงแห่งเดียว ส่วนใหญ่เป็นการโทรทางไกลกลับประเทศครั้งละหลายนาที ค่าบริการก็ค่อนข้างแพง แต่บรรดาเสี่ยพ่อค่าไม้ไม่เคยเกี่ยง ทำให้ทางร้านมีรายได้จากโทรศัพท์ทางไกลและแฟ็กซ์อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ในปลายปี 2000 ได้กำเหนิดบุตรชาย 1 คน (4 ธันวาคม 2000) เป็นการส่งท้ายปีมังกรทองพอดี ผู้เขียนตั้งชื่อลูกชายแบบชื่อคนไทยว่า ธนบดี (ທ້າວທະນະບໍດີ) แปลว่าผู้มีทรัพย์มาก ชื่อเล่นปีเตอร์ (ທ້າວປີເຕີ)
ต่อมาราว 2007-2008 เกิดอุบัติเหตุทางครอบครัวอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้แยกทางกับภรรยาชาวลาว โดยปีเตอร์อยู่กับแม่ๆเขาได้เปลี่ยนชื่อและใช้นามสกุลของแม่ว่า อภิลักษณ์ สีโคตตะบูน (เขียนเป็นภาษาลาว ທ້າວ ອະພິລັກ ສີໂຄດຕະບູນ) โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกันก่อนเลย ภายหลังได้เจอกับแม่ปีเตอร์ อ้างว่าชื่อเดิมทำให้เจ็บป่วยบ่อย และเพื่อนๆที่โรงเรียนมักจะล้อเลียนว่า "บักฐานะบ่ดี หรือ คนฐานะไม่ดี" (ບັກຖານະບໍ່ດີ) ตามสำเนียงลาว (บัก เป็นสรรพนามใช้นำหน้าเรียกคนผู้ชาย )
ปีเตอร์เป็นเด็กเรียนดี เคยเรียนข้ามชั้นจาก ป.2 ขึ้น ป.4 ไม่ต้องผ่าน ป.3 พอจบ ป.4 จากโรงเรียนประถมที่เมืองปากช่อง ก็ได้รับทุนให้จากรัฐบาลเวียดนามให้เข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนของเวียตนามในตัวเมืองปากเซจนจบชั้น ม.6 แล้วสอบชิงทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปี 2018 หลักสูตรที่เรียน ด้านเทคโนโลยี่สารสนเทศก์ ( Information Technology _IT ) ที่มหาวิทยาลัยกวางนัม (Quang Nam University) สาธารณรัฐเวียดนาม
ปีเตอร์มีเป้าหมายเรียนให้จบระดับปริญญาตรีก่อน แล้วจะกลับมาทำงานหาประสบการณ์สักพัก ถ้าเป็นไปได้ค่อยต่อปริญญาโท เอก ต่อไป แต่อาจเปลี่ยนไปเรียนสายทางการทูต ตามความประสงค์ของแม่ที่อยากให้ลูกชายเป็นนักการทูต
การแยกทางกัน นับเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ต้องกลับไปตั้งหลักที่ไทย ทั้งที่ตั้งใจว่าจะอยู่ สปป.ลาว จนตลอดชีวิต บังเอิญเป็นจังหวะที่ผู้บริหาร มูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย (Environmental Law Foundation of Thailand) ต้องการผู้บริหารโครงการวิจัยด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงได้เข้าไปทำงานนี้ที่กรุงเทพฯ เกือบสามปี (2554-2556) ช่วงนั้นจึงไม่มีโอกาสเข้าไป สปป.ลาวเลย
พอจบงานวิจัยที่ กทม.ก็ยังได้เข้า-ออก สปป. ลาว ทั้งท่องเที่ยวและทำงานเกือบทุกแขวงๆ ที่ยังไม่ได้ไปถึงมี แขวงหลวงน้ำทา บ่อแก้ว พงสาลี อุดมไซ และแขวงหัวพัน ทั้งหมดอยู่ตอนเหนือติดกับ สป.จีน และ เวียดนาม..
ในปลายปี 2011 มีเหตุที่การณ์พลิกผันให้ต้องเข้ามาใช้ชีวิต อยู่ สปป.ลาวอีกครั้ง ...
ปล.ภาพส่วนใหญ่ที่นำมาเผยแพร่ในบทความนี้ เป็นภาพที่ผู้เขียนบันทึกไว้เอง ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ มีหลายภาพที่มีผู้นำไปเผยแพร่ แต่อาจมีบ้างที่นำมาจากอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ทราบเจ้าของภาพแน่ชัด แต่เชื่อว่าเจ้าของภาพจะยินดีให้เผยแพร่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย อีกทั้งมิได้มุ่งหวังประโยชน์ทางการค้าหากำไร จึงขออภัยและขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
Mr.Roger Green
20 ตค.63
โปรดติดตามต่อ #ตอนที่ 2 ตำนานการเกิดแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวง...
โฆษณา